กระทรวงพาณิชย์ จับมือ จุฬาฯ เดินหน้าหนุนสตาร์ทอัพไทย

กระทรวงพาณิชย์ จับมือ จุฬาฯ เดินหน้าหนุนสตาร์ทอัพไทย

กระทรวงพาณิชย์ จับมือ จุฬาฯ เดินหน้าหนุนสตาร์ทอัพไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการด้วยทรัพย์สินทางปัญญา

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญากับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างงานวิจัยขายได้ หนุนสตาร์ทอัพไทย สร้างธุรกิจด้วยทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์

นายสินิตย์ เปิดเผยว่า การนำทรัพย์สินทางปัญญามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทยเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืน โดยการลงนาม MOU ในวันนี้เป็นการจับมือร่วมกันระหว่าง กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อแสดงความมุ่งหมายเดียวกันในการขับเคลื่อนประเทศด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการและนักวิจัย นักประดิษฐ์ไทย

ความสำเร็จภายใต้ MOU ฉบับนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและการสนับสนุนนักวิจัย นักประดิษฐ์ นิสิต และผู้ประกอบการไทยในเครือข่ายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยมีผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่โดดเด่น อาทิ นวัตกรรมเคลือบพื้นผิวทุกชนิดที่มีความต้านทานการกัดกร่อน การพัฒนาคุณภาพน้ำบาดาลให้ดื่มได้ เท้าเทียมช่วยเหลือคนพิการในการเคลื่อนไหว และนาโนแคลเซียมคาร์บอเนตในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางช่วยปกป้องผิว เป็นต้น รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลก ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรู้แนวโน้มเทคโนโลยีโลก  

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา มีความพร้อมในการเชื่อมโยงภาคธุรกิจกับสถาบันการศึกษาของไทย โดยเฉพาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งด้านทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศ และผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด อีกทั้งมีเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้มแข็งกว่า 300 บริษัท ด้วยความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สามารถทำให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยได้อย่างเต็มที่ ผ่านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นระบบ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท และสามารถนำผลงานวิจัยที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยมาสร้างโอกาสในการเข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีขนาดตลาดมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างยั่งยืน