“สมศักดิ์”เร่งกมธ.ส.ว.พิจารณากฎหมายJSOC-เชื่อป้องกระทำผิดซ้ำทางเพศ

“สมศักดิ์”เร่งกมธ.ส.ว.พิจารณากฎหมายJSOC-เชื่อป้องกระทำผิดซ้ำทางเพศ

“สมศักดิ์”เร่งกมธ.ส.ว.พิจารณากฎหมาย JSOC ให้ทันเปิดสมัยประชุมสภา เชื่อ ป้องกันการกระทำผิดซ้ำทางเพศได้ โดยเฉพาะคดีข่มขืนอนาจาร ฆ่า ทำร้ายผู้อื่น และค่าไถ่ ย้ำ ต้องควบคุมให้อยู่หมัด

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง หรือร่างกฎหมาย JSOC ว่า ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระทรวงยุติธรรมเร่งรีบในการเสนอกฎหมาย นับจากการเสนอคณะรัฐมนตรีครั้งแรกไปสู่วุฒิสภาใช้เวลาเพียง 9 เดือน จากปกติที่กฎหมายจะใช้เวลา 2 ปี ทั้งนี้ การที่ใช้เวลาเพียง 9 เดือนเนื่องจากมองเห็นปัญหาสังคม 

ดังนั้น ตนจึงขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เห็นความสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ เพราะวันสุดท้ายของสมัยประชุมสภาได้เข้าสู่วาระการประชุมวุฒิสภาเป็นวาระแรก ถือว่า ใช้เวลาค่อนข้างเร็ว ดังนั้น จึงขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …  วุฒิสภา พิจารณาให้เสร็จโดยเร็วก่อนที่สภาจะเปิด 
 

เนื่องจากเมื่อสภาเปิดแล้วจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2-3 ในที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อให้ออกมาเป็นกฎหมาย แต่กว่ากฎหมายจะบังคับใช้ได้ ก็ต้องออกกฎหมายรองหรือประกาศของแต่ละกระทรวงตามมาอีก ซึ่งระยะเวลาของสภาก็เหลือไม่กี่เดือนแล้ว แล้วคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …  วุฒิสภาจะชักช้าไว้ทำไม 

อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า กฎหมาย JSOC จะสามารถป้องกันการกระทำผิดซ้ำได้ เพราะหากเกิดกรณีแรก แล้วยังเกิดกรณีสอง แสดงว่าเราไม่ได้ป้องกัน เพราะไม่มีกฎหมายลักษณะนี้เลย ซึ่งกฎหมายนี้จะป้องกันการกระทำผิดครั้งที่สอง ด้วยการเฝ้าระวังหลังพ้นโทษอีก 10 ปี โดยการเฝ้าระวังตามธรรมดาจะใช้กำไลอีเอ็มติดตาม 10 ปี พร้อมมีอาสาสมัครคุมประพฤติ และอาสาสมัครของแต่ละหน่วยงานของทางราชการช่วยกันติดตาม
 

“แต่หากในขณะที่เฝ้าระวังติดตามกลับมีการแสดงอิทธิฤทธิ์อะไรออกมาที่ผิดปกติ ก็สามารถขอให้คุมขังต่อได้ โดยคุมประพฤติขออำนาจศาลคุมขังได้ 7 วัน จากนั้น คุมประพฤติขอผ่านอัยการไปถึงศาลได้คราวละ 3 ปี ส่วนที่สังคมจะวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นอื่น เช่น ฉีดให้ฝ่อ ก็ยังเป็นประเด็นรองลงมา แต่ประเด็นหลักคือการเฝ้าระวังโดยใช้กำไลอีเอ็มติดตัวผู้พ้นโทษ” 

ทั้งนี้ เป็นการควบคุมบุคคลที่ทำผิดใน 12 มาตราของกฎหมายอาญา ประกอบด้วย ในกลุ่มแรก 6 มาตราเกี่ยวกับเรื่องของการข่มขืนอนาจาร อีก 5 มาตรา เกี่ยวกับเรื่องการฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่น และอีก 1 มาตราเกี่ยวกับการเรียกค่าไถ่ ดังนั้น จึงต้องควบคุมคนเหล่านี้ให้อยู่หมัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย