"สกลธี" หาเสียง 3ตลาด เขตสาทร แม่ค้า เผย อยากได้ คนรุ่นใหม่เป็น "ผู้ว่าฯ กทม."

"สกลธี" หาเสียง 3ตลาด เขตสาทร แม่ค้า เผย อยากได้ คนรุ่นใหม่เป็น "ผู้ว่าฯ กทม."

"สกลธี" ลงพื้นที่หาเสียง 3ตลาด เขตสาทร เผย พ่อค้าแม่ค้า ลำบาก จากวิกฤติโควิด เจอปัญหาพื้นที่ -น้ำท่วม-แหล่งเงินทุน ระบุ พร้อมประสาน "ออมสิน" ช่วยผู้มีรายได้น้อย ทลายข้อจำกัด ใช้ งบฯ พัฒนา-แก้ปัญหา ทุกจุดใน กทม. ชาวบ้าน สะท้อน อยากได้ ผู้ว่าฯ เป็นคนรุ่นใหม่

นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 3 ในนามอิสระ ลงพื้นที่หาเสียงกับชาวกรุงเทพฯ ที่ตลาดกิตติ, ตลาดสะพาน 2 และตลาดแสงจันทร์ เขตสาทรท่ามกลางประชาชนที่เดินทางมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเช้า 

นายสกลธี กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ว่าในช่วงนี้ที่ตนเลือกลงพื้นที่ตลาดในเกือบทุกเช้าในแต่ละเขต เพราะจะได้พบกับคนในพื้นที่ที่สามารถสะท้อนปัญหาหลายๆ อย่าง รวมทั้งข้อแนะนำที่เฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำมาหากินโดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ซึ่งตนอยากจะได้ข้อมูลเหล่านี้มากๆเพื่อจะไปดูว่าจะช่วยอะไรได้มากขึ้นบ้าง โดยจากที่พูดคุยกับหลายตลาด 

1.คือปัญหาเรื่องพื้นที่ที่จะใช้ในการค้าขาย ความสะดวกเรื่องพื้นที่ทางเท้า และปัญหาน้ำท่วมต่างๆ 

2.สอง เป็นเรื่องแหล่งเงินทุน ซึ่งเรื่องทุนนี้ตอนที่ตนเป็นรองผู้ว่าฯ อยู่ก็ได้ประสานกับหลายหน่วยงาน เช่น ธนาคารออมสิน ที่มีโครงการสร้างงานสร้างอาชีพ โดยได้ร่วมมือกันที่จะหาแหล่งเงินทุนให้กับผู้มีรายได้น้อยได้ประกอบอาชีพ เพราะหลังโควิดบางคนเงินทุนหายไปหมดเรื่องเงินทุนเริ่มต้นใหม่ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่

“จากที่ลงพื้นที่ตลาดต่างๆ ทั้งตลาดในรอบกรุงเทพฯ หรือตลาดกลางเมืองอย่างในพื้นที่สาทร ก็พบว่าปัญหาจะไม่แตกต่างกัน คือเรื่องกำลังซื้อที่หายไป ซึ่งตนคิดว่าหลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว มาตรการของรัฐก็จะผ่อนคลายลงด้วย ในส่วนของกรุงเทพมหานครก็จะเข้าไปช่วย อย่างที่ผมคิด ก็คือเรื่องเงินช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ สำหรับผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ และการหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ ที่ดอกเบี้ยไม่สูง โดยประสานพันธมิตรกับหน่วยงานต่างๆที่เรามีข้อมูลอยู่แล้ว เพื่อมาทำเป็นโครงการร่วมกัน” นายสกลธี กล่าว

นายสกลธี กล่าวว่า ตนคิดว่า ด้วยงานของ กทม.มีหลายด้านและเป็นงานจุกจิกต้องเป็นคนที่มีพลังเข้าไปแก้ปัญหา ไม่ใช่ว่าจะนั่งประชุมฟังข้อมูลในห้องประชุมอย่างเดียว แต่ต้องพบปะ เจอปัญหากับประชาชนอย่างเดียว อย่างเช่น ที่ตลาดกิตติ สาทร ตรงนี้ปัญหาที่เจอเยอะๆ ก็คือเป็นซอยย่อยของเอกชน งบฯ ของ กทม.ไม่สามารถลงไปบริหารจัดการ อันนี้ต้องไปทลายข้อจำกัดที่ไม่เป็นธรรมนั้น เพราะคนกรุงเทพฯ ทุกคน มีส่วนที่เสียภาษีไม่มากก็น้อย ดังนั้น งบฯ ของกทม.ที่จะลงไปพัฒนาทุกจุดไม่เฉพาะแค่ที่สาธารณะเท่านั้น ซึ่งถ้าตนมีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯ จะเข้าไปทลายข้อจำกัดนี้

ด้านนางนิตยา เจ้าของร้านพริกแกงป้านิตยา กล่าวหลังได้พูดคุยกับนายสกลธี ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้รู้สึกว่าผู้คนตื่นตัวมาก โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า ที่พูดคุยเรื่องนี้กันทุกวันเพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจของ กทม. แย่มาก ขายของไม่ค่อยได้ และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ สร้างความตื่นตัวให้กับคนกรุงเทพฯ พอสมควรเนื่องจากห่างหายจากการเลือกตั้งต่างๆ มาหลายปี และเห็นว่าที่ผู้สมัครที่มีจำนวนมากเริ่มลงพื้นที่หาเสียงทำให้กรุงเทพฯ ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น

“สิ่งที่ป้าคิดจริงๆ นะก็คืออยากได้คนรุ่นใหม่ไฟแรง อยากได้คนหนุ่มมาบริหาร มีวิสัยทัศน์ใหม่ๆ สมัยใหม่ ผู้ว่าฯ ที่ผ่านมาหลายคนก็มีชอบบ้างแต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยโอเค อย่างผู้ว่าฯ อายุน้อยเราก็อยากลองให้มาบริหาร เพราะถือว่าเป็นวัยกำลังทำงานอยากได้อะไรใหม่ โดยสำคัญก็คือเรื่องการค้าขายนี่แหละ แล้วก็เรื่องทางเท้า เรื่องการบริหารจัดการที่จำเป็นกับคนกรุงเทพฯแต่อย่างเราก็คนค้าขายก็อยากได้สิ่งค้าขาย แต่วันนี้เห็นเบอร์ 3 มาลงได้เจอตัวจริง ก็คิดว่ามีความตั้งใจดี” นางนิตยา กล่าว