ยืดเวลายื่น"ญัตติซักฟอก" “เพื่อไทย-ประยุทธ์” วิน-วิน

ยืดเวลายื่น"ญัตติซักฟอก"  “เพื่อไทย-ประยุทธ์” วิน-วิน

“ทีมเพื่อไทย” คิดและชั่งตวงความเสี่ยง จึงอาจมองว่าให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้เวลาหายใจ ไม่ต้องมาปวดหัว กับเสียงปริ่มน้ำในสภาฯ จึงคุ้มค่าที่จะชะลอ ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ

การยื่นญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือทั้งคณะ ตามที่ขุนพลพรรคเพื่อไทยประกาศว่า อาจไม่ยื่นทันทีที่สภาฯ เปิดสมัยประชุม ช่วง 23 พฤษภาคม แต่อาจเลื่อนเวลาจากนั้น ค่อนไปทางเดือนมิถุนายน หรือเดือนกรกฎาคม

เหตุผลหลักที่ถูกอ้างถึง คือต้องการให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ผ่านรัฐสภา เพื่อสร้างความมั่นใจในกติกาที่จะใช้เลือกตั้งนั้น ถูกสร้างเพื่อทุกพรรค ทุกฝ่าย ที่จะลงสนามชิงชัย ไม่ใช่เป็นกติกาเพื่อเอื้อให้บางพรรค บางคนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ในสิ่งที่เพื่อไทยคิด ยังมีพรรคร่วมฝ่ายค้าน​โต้แย้ง เพราะมองว่าการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 กำหนดในวรรคสองว่า หากเสนอญัตติแล้วนายกรัฐมนตรีจะยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่จะถอนญัตติหรือลงมติ แล้วได้เสียงไว้วางใจ น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่มี

ดังนั้น การยื่นญัตติ คือตัวบล็อกไม่ให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจสั่งยุบสภาดำเนินการได้ และมีช่วงเวลาที่รัฐสภา สามารถทำร่างกฎหมายลูกได้ ไปจนกว่าที่สภาฯ จะถึงวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยหลักที่เคยปฏิบัติคือ ช่วงปลายสมัยประชุม ไม่ สิงหาคม ก็กันยายน

แต่ในมุมนี้ อาจไม่แน่นอนเสมอไป เพราะอย่าลืมว่า โอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์ จะยุบสภาก่อนที่ ร่างพ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับจะผ่านรัฐสภา ยังมีสูง 

ทั้งปัจจัยของ “เสียงสนับสนุน” ในสภา ที่ยังวางใจไม่ได้ว่า พรรคร่วมรัฐบาล จะเทเสียงสนับสนุนให้อยู่ต่อหรือไม่ โดยมีตัวแปรสำคัญคือ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย ที่เดินเกมต่อสัมพันธ์กับ “พรรคเล็ก” เพื่อสร้างระยะห่างกับพล.อ.ประยุทธ์ ที่ข่าวระบุว่ามีส.ส.ในก๊วน 25 - 30 คน

ทำให้เสียง ส.ส.รัฐบาล ห่างจากส.ส.ฝ่ายค้านเพียง 25-30 เสียง จากจำนวนส.ส.ที่มีปัจจุบัน 475 คน ถือเป็นจุดเสี่ยงอันตราย ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” อาจถูกคว่ำในสภาฯ ดังนั้นการตัดสินใจตัดไฟแต่ต้นลม จึงอาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนั้นแล้ว หากรอบนี้ การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ “รัฐบาล” เล่นเกมเร็ว ไฟเขียวให้ “ฝ่ายค้าน” อภิปรายซักฟอก ตั้งแต่ช่วงต้นสมัยประชุม ขณะที่ ร่างพ.ร.ป.ทั้ง2 ฉบับยังไม่ถูกส่งเข้ารัฐสภา ให้พิจารณาวาระสอง และวาระสาม 

พร้อมปล่อยให้ซักฟอกรัฐบาล จนถึงวันลงมติ และพบว่าเสียงไว้วางใจ ได้ไม่ถึงกึ่งหนึ่งส.ส.ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ต้องรอให้ตัวเองซึ่งสิ้นสภาพ แต่เดินออกจากห้องประชุมสภาฯ สามารถประกาศยุบสภาได้ทันที ตามที่มาตรา 151 วรรคสอง ให้อำนาจไว้

นั่นจะกลายเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง ที่ “พรรคเพื่อไทย” กลัวว่าการตรากติกาเลือกตั้งจะถูกเปลี่ยนมือจากสมาชิกรัฐสภาไปเป็น 

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ "คนของรัฐบาล” และ เพื่อไทย - ฝ่ายค้าน หมดสิทธิ์ร่วมสร้างกติกาเพื่อใช้เลือกตั้ง

สำหรับความคืบหน้าของการทำร่างพ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ กรรมาธิการชุดที่มี สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธาน ทำไปได้ประมาณ 40% และช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมนี้ จะเร่งการทำงานให้แล้วเสร็จ ด้วยการเพิ่มเวลาประชุมเป็นเต็มวัน

จากนั้นจะส่งกลับไปให้รัฐสภา พิจารณาในวาระสอง และวาระสาม ตามกำหนดเวลาที่ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) วางไว้ ต้องให้แล้วเสร็จช่วงปลายมิถุนายน หรือไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้

ดังนั้นเมื่อ “ทีมเพื่อไทย” คิดและชั่งตวงความเสี่ยง จึงอาจมองว่าให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้เวลาหายใจ ไม่ต้องมาปวดหัว กับเสียงปริ่มน้ำในสภาฯ จึงคุ้มค่าที่จะชะลอ ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ

ระยะห่างจากวันเปิดสมัยประชุม แค่ 15 - 20 วัน ผลที่ได้อาจสมประโยชน์กว่า ส่วนเวลาที่ว่านั้น ยังมีจังหวะสร้างเกมป่วน ตรวจสอบองค์ประชุมฝ่ายรัฐบาลในสภาฯ ได้อีก