ชำแหละ “เกมเปิดสภาฯ"  บีบ “ประยุทธ์” เลือก 2 ทาง

 ชำแหละ “เกมเปิดสภาฯ"   บีบ “ประยุทธ์” เลือก 2 ทาง

ยามนี้ ดูเหมือนอุณหภูมิการเมืองที่ จะสงบ แต่อีกไม่นานเมื่อ "เปิดสภาฯ" เกมการเมืองที่ว่าสงบ อาจกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ ที่โถมซัดรัฐบาล ที่มีเป้าหลักคือ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา"

           อุณหภูมิการเมืองช่วงเมษายน ยังไม่ร้อนแรงเท่าอุณหภูมิอากาศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ผู้เล่น” โฟกัสการเมืองนอกสภาฯ คือ ลงพื้นที่เข้าหาประชาชน และยิ่งช่วงนี้ต้องเร่งทำคะแนน เพราะมีสัญญาณการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

 

           สัญญาณนี้ ส่งผ่านมาจากป้ายสวัสดีปีใหม่ 2565 ของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ติดตามข้างทาง และถนนในมุมเมืองต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา ไม่เคยเห็น "พล.อ.ประวิตร" หรือ "พรรคพลังประชารัฐ” ทำแบบนี้มาก่อน

 ชำแหละ “เกมเปิดสภาฯ\"   บีบ “ประยุทธ์” เลือก 2 ทาง

           แม้ว่า อุณหภูมิการเมืองช่วงนี้จะเบาลง ให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ได้หายใจ หายคอ แต่ขออย่าได้ประมาทในสมรภูมิการเมือง

 

           เนื่องจากทันทีที่สภาผู้แทนราษฎร เปิดสมัยประชุม 22 พฤษภาคม ต่อเนื่องถึงปลายปี มีเรื่องร้อนหลายเรื่องให้ “ผู้นำประเทศ” ต้องตั้งรับ

 

           เริ่มจาก การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 ตามปฏิทิน สภาฯ จะรับพิจารณาวาระแรก ช่วงต้นเดือนมิถุนายน ซึ่ง “พรรคฝ่ายค้าน” เตรียมชำแหละงบประมาณของหน่วยงานรัฐที่ส่อว่าจะใช้ไม่เกิดประโยชน์ และจัดสรรเพื่อผลต่อการเรียกคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง

           ต่อด้วย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้มีญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รวม 4 ญัตติ แบ่งเป็นของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย 3 ญัตติ คือ 

 

           1. ญัตติขอแก้ไข มาตรา 159 เพื่อให้ บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นส.ส. และ พ่วงการแก้ไขมาตรา 170(2) ว่าด้วยการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นการเฉพาะ เพื่อพ้นจากความเป็นส.ส.ด้วย

 

           2.ญัตติแก้ไขกลุ่ม มาตราว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน จำนวน 3 มาตรา เพื่อเพิ่มความคุ้มครองประชาชนเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ที่ต้องเข้าถึง เท่าเทียม เสมอภาค กิจการใดที่มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมต้องรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน รวมถึงการเพิ่มสวัสดิการดูแลประชาชน ตั้งแต่ทารก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

 ชำแหละ “เกมเปิดสภาฯ\"   บีบ “ประยุทธ์” เลือก 2 ทาง

           3.ญัตติแก้ไขกลุ่ม มาตราว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สิทธิการประกันตนตามกฎหมายอาญา ครอบคลุม เข้าถึง นอกจากนั้น ยังขอให้รัฐธรรมนูญเพิ่มเติมการคุ้มครองสิทธิแสดงความเห็น สิทธิการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ

 

           4.ญัตติที่เสนอโดยภาคประชาชน นำโดย “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ขอแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา

 

           โดยทั้ง 4 ญัตตินั้น ยอมรับว่ามีผลต่อ “นายกฯ” ในเชิงการค้ำยันอำนาจการเมือง หากยังหวังจะอยู่ยาว และคาดว่าช่วงกลางเดือนมิถุนายน “รัฐสภา” จะได้พิจารณาในวาระแรก เพราะตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาให้ถือว่าเป็นเรื่องด่วน และต้องรีบพิจารณาไม่ชักช้า

 ชำแหละ “เกมเปิดสภาฯ\"   บีบ “ประยุทธ์” เลือก 2 ทาง

           ต่อจากนั้น คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.​ครั้งต่อไป แม้เนื้อหาไม่เกี่ยวกับ “นายกฯ” แต่กติกาที่จะบังคับกับการเลือกผู้แทนเข้าสภาฯ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ “ขั้วอำนาจปัจจุบัน” คืนสู่บัลลังก์หลังเลือกตั้งหรือไม่ โดยต้องจับตา การคิดสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เป็นจุดชี้วัดสำคัญ

 

           และเรื่องสำคัญที่สุด คือ ญัตติอภิปรายทั่วไป โดยลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ที่เป็นเดิมพันครั้งสุดท้ายของ “เพื่อไทย” และ “พล.อ.ประยุทธ์” ต่อเกมการเมืองในสภาฯ

 ชำแหละ “เกมเปิดสภาฯ\"   บีบ “ประยุทธ์” เลือก 2 ทาง

           แม้ฝั่งสนับสนุน “บิ๊กตู่” จะปรามาสไว้ล่วงหน้าว่า ประเด็นซักฟอกของ “ฝ่ายค้าน” ไม่มีประเด็นใดที่จะล้มเก้าอี้ได้

 

           แต่ “ฝ่ายค้าน” หวังใจว่า มือของส.ส.ที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” แต่เดิม จะเห็นแก่อนาคตทางการเมืองของตัวเอง ไม่ยอมกอดคอ “ผู้นำ” ที่คะแนนนิยมลดต่ำ ให้ ตกตายไปตามกัน

 

           แม้ห้วงเวลาการยื่นญัตติ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน" ยังสรุปได้ไม่แน่ชัด ทว่าคอการเมืองประเมินไว้ว่า ศึกนี้จะเกิดขึ้นช่วงกรกฎาคม - สิงหาคม เพราะเป็นเดือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญศึกหลายด้าน

 

           ทั้ง "เสียงสนับสนุนในขั้วรัฐบาล” อาจตีตัวออกห่าง จากผลที่สืบเนื่องของการจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2566 และการต่อรอง

 ชำแหละ “เกมเปิดสภาฯ\"   บีบ “ประยุทธ์” เลือก 2 ทาง

           รวมถึงใกล้ครบวาระ “นายกฯ” 8 ปี ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นข้อห้ามกระทำ​​

 

           แน่นอนว่า เรื่อง 8 ปีนี้ “เพื่อไทย” เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ปฏิเสธไม่ว่า ประเด็นนี้จะเป็น หัวข้อใหญ่ ที่ใช้ขยี้ความศรัทธาของผู้นำประเทศ และเป็นเหตุผลที่ทำให้ “พรรคร่วม” อาจฉวยจังหวะเล่นบทสุภาพบุรุษทางการเมือง ร่วมมือ “ฝ่ายค้าน” ล้มเก้าอี้นายกฯ กลางสภา

 

           ทั้งหมด ทั้งมวล ถือเป็นจุดวัดใจและจุดเสี่ยงของ “พล.อ.ประยุทธ์” กับอนาคตทางการเมือง ที่ “ฝ่ายค้าน” พยายามบีบให้มีทางเลือก 2 ทาง คือ “ลาออก” หรือ “ยุบสภา” เพื่อหวังเปลี่ยนมืออำนาจทางการเมือง.