คดี“9ส.ส.รัฐ+2”ลาม“ประยุทธ์” ฝ่ายค้านรุกสอบคลิปหวย-จับตาเปลี่ยนพรรคใหม่

คดี“9ส.ส.รัฐ+2”ลาม“ประยุทธ์” ฝ่ายค้านรุกสอบคลิปหวย-จับตาเปลี่ยนพรรคใหม่

ชนัก 9 นักการเมืองขั้วรัฐบาล พันคดีทุจริต ผิดจริยธรรมร้ายแรง ส่งผลกระทบภาพลักษณ์ “พล.อ.ประยุทธ์” “ขั้วฝ่ายค้าน” รุกสอบคลิป “เสกสกล-จุรีพร” โควตาลอตเตอรี่ จับตาพรรครวมไทยสร้างชาติส่อแท้ง

ในช่วงการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ปมรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขให้ประชาชนคนไทยรับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยความหวังว่า กลไกที่วางเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ จะช่วยให้นักการเมือง ข้าราชการ เอกชน เป็นต้น จะหวั่นเกรงไม่กล้าคอร์รัปชัน แต่ผ่านไปเพียง 5 ปี หรือไม่ถึงหนึ่งสมัยรัฐบาล การคอร์รัปชันกลับไม่มีท่าทีจะลดลง แต่กลับพบว่ามีนักการเมือง-ข้าราชการ มีส่วนเข้าไปพัวพันหลายคดี

ล่าสุด ศาลฎีกา มีคำสั่งให้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปัจจุบันหยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในการบุกรุกป่าเพื่อทำฟาร์มเลี้ยงไก่ใน จ.ราชบุรี ตามคำร้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

พร้อมให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี มีผลให้ น.ส.ปารีณา ไม่ทีสิทธิ์รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สว. ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต

โดยก่อนหน้านี้ นายสิระ เจนจาคะ อดีตส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ถูกศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10)

เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน ในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 คดีหมายเลขแดงที่ 2218/2538 กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา

ภท.3-พปชร.1ลุ้นปมเสียบบัตรแทน

นอกจากกรณีของ น.ส.ปารีณา-สิระ แล้ว ยังมีปมทุจริตของนักการเมือง “ขั้วรัฐบาล” จ่อคิวให้ “ศาลฎีกา” พิพากษาอยู่อีกหลายคดี รวมถึงคดีที่เริ่มมีการตั้งต้นสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ไล่ตั้งแต่คดี ส.ส. พรรคภูมิใจไทย 3 ราย ประกอบด้วย นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง และนางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรณีเสียบบัตรแทนกันระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท

โดยเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ที่บัญญัติไว้ว่าเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เช่นเดียวกับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐอีก 1 ราย คือ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. กรณีกรณีฝากบัตรให้ผู้อื่นเสียบแทนระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 แม้ น.ส.ธนิกานต์ จะอ้างว่า เหตุที่ไม่อยู่ในห้องประชุม เพราะไปร่วมงานเสวนารายการหนึ่งที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง แต่เหตุผลไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้

จึงมีมติชี้มูลในความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ที่บัญญัติไว้ว่าเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“3 รัตนเศรษฐ”หลุดเก้าอี้ส.ส.

ส่วนความคืบหน้ากรณีกล่าวหาครอบครัว “รัตนเศรษฐ” ประกอบด้วย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พปชร. และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พปชร. กับพวกรวม 87 คน ทุจริตเงินจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ.2555 จัดสร้างสนามฟุตซอลให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา 18 จังหวัด มูลค่า 4,459 ล้านบาท

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. บรรยายพฤติการณ์ในสำนวนตอนหนึ่งว่า ในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณปีงบประมาณ 2555 วิรัช-ทัศนียา ขณะเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ “ทัศนาพร” ขณะเป็นนายกเทศมนตรีตำบลห้วยแถลง ได้สั่งการให้พวกเข้าไปประสานกับผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 2 เพื่อจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลให้ โดยเข้าไปครอบงำ บงการการใช้จ่ายงบประมาณในวงเงินดังกล่าว โดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย

ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ ส.ส.ทั้ง 3 รายต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้อง

โดยประเด็นดังกล่าว วิรัช-ทัศนียา-ทัศนาพร เคยร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้มีคำสั่งไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. อย่างไรก็ดีศาลฎีกาฯเห็นว่า กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมให้ยกคำร้อง

ต่อมาทั้ง 3 ราย ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ไม่รับคำร้องของ เนื่องจากคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลอื่น ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 (4) ซึ่งตามมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

ทั้งนี้ศาลฎีกาฯ นัดตรวจพยานหลักฐานนายวิรัช กับพวก ในวันที่ 17 พ.ค. 2565 เวลา 09.30 น.

“ขั้วฝ่ายค้าน”รุกปมคลิปเสียงโควตาหวย

ล่าสุด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร รับยื่นเรื่องจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ฐานะที่ปรึกษาประธานกมธ.ปราบโกง

ตรวจสอบคลิปเสียงสนทนาระหว่าง “เสกสกล อัตถาวงศ์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฐานะรองประธานแก้ไขสลากเกินราคา และประธานอนุกรรมการ ในฐานะหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ กับ “จุรีพร สินธุไพร” ข้าราชการการเมืองประจำสำนักนายกฯ ที่มีเนื้อความเกี่ยวกับการรับเงิน 15 ล้านบาท เพื่อไปใช้ในการเลือกตั้ง ซึ่งเข้าข่ายทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และผิดจริยธรรมของข้าราชการการเมือง

อุ้ม“แรมโบ้”กระทบ“ประยุทธ์”

นอกจากนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะส่งสัญญาณถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม อย่างชัดเจนว่าหากอุ้ม “เสกสกล” อาจจะเข้าข่ายผู้สนับสนุนหรือไม่ เป็นผู้กระทำความผิดมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะรู้อยู่เต็มอกว่า การแก้ปัญหาไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์ จำเป็นต้องสั่งปลด “เสกสกล” จากทีมปราบหวยแพง แต่วิธีคิดทางการทหาร หากปลดเท่ากับยอมรับว่าทำผิด อาจส่งผลให้ต้องอุ้มกันต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีต่อภาพลักษณ์ของนายกฯ อย่างแน่นอน 

ยิ่งมีความเคลื่อนไหวของแรมโบ้อีสาน เป็นตัวตั้งตัวตี ในการเตรียม“พรรครวมไทยสร้างชาติ” ไว้เป็นทางเลือกนายกฯ แต่การปกป้องเสกสกลทั้งที่รู้ว่าขั้วฝ่ายค้านเตรียมเดินเกมดิสเครดิต ในช่วงเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.และต่อด้วยศึกซักฟอก จึงน่าจับตาถึงผลกระทบต่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่านายกฯ ประยุทธ์ จะเปลี่ยนหัวพรรคใหม่ รื้อแผนการเมืองของตัวเองหรือไม่

ทั้งหมดคือคดีความของ “ขั้วรัฐบาล” ที่เกี่ยวพันกับการคอร์รัปชัน รวมถึงการประพฤติมิชอบ เป็นบทสะท้อนว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีจุดขายเรื่องปราบทุจริต แต่ไม่สามารถลดปัญหาลงได้ แต่ในด้านตรงกันข้ามการคอร์รัปชันกลับพุ่งสูงขึ้นฉุดเครดิตรัฐบาล

ปรากฎการณ์คดีที่เกี่ยวโยงกับนักการเมืองขั้วรัฐบาลดังกล่าวเหล่านี้ กำลังจะกลับมาเป็นหอกทิ่มแทง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไม่จบไม่สิ้น แม้ตนเองจะมีจุดแข็งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวพันใดๆ แต่แผลของบรรดานักการเมืองพรรครัฐบาลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ย่อมไม่พ้นความรับผิดชอบ

คดี“9ส.ส.รัฐ+2”ลาม“ประยุทธ์” ฝ่ายค้านรุกสอบคลิปหวย-จับตาเปลี่ยนพรรคใหม่