"สมชัย" เสนอ "ปชช." เดินหน้าล่าชื่อ ให้ "รัฐบาล" ทำประชามติ โละ "รธน.60"

"สมชัย" เสนอ "ปชช." เดินหน้าล่าชื่อ ให้ "รัฐบาล" ทำประชามติ โละ "รธน.60"

"ครป." จัดเวทีประเมิน 5ปี "รธน.60" ชี้เนื้อหามีปัญหา ส่อเกิดความแตกแยกรุนแรง เหตุเขียนเพื่อเอื้อ-สืบทอดอำนาจ หนุนให้ต้องรื้อใหม่ทั้งฉบับ "สมชัย" แนะใช้ช่องปชช. ทำประชามติ วันเดียวกับเลือกตั้งส.ส.ปีหน้า

             คณะกรรมการรณงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) จัดเวทีอภิปราย เรื่องประเมินผลพวง5ปี การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560 กับผลกระทบต่อสังคมไทย โดยมีนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมเข้าร่วม

 

 

             โดย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า เจตนาของรัฐธรรมนูญไม่ใช่ต้องการความประชาธิปไตย แต่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ที่สามารถอยู่ในอำนาจต่อได้ กลไกที่สร้างเพื่อให้มีอำนาจต่อเนื่อง ทั้งระบบเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งสองใบ นับแบบคู่ขนาน จะแพ้พรรคการเมืองที่มีคะแนนนิยมในพื้นที จึงใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว นับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม และเมื่อมีการเลือกตั้ง การเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา เสียงข้างมากอาจไม่เลือก จึงสร้างกลไกส.ว. มีบทบาทร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี หรือสร้างกลไกการได้มาและตัดเเลือกขององค์กรอิสระ ที่คุ้นเคยและทำงานกับเขาได้ 

 

             “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีปัญหาแค่บางมาตรา แต่มีปัญหาทั้งหมด  การแก้ไขรายมาตราทำสำเร็จไม่ได้ง่าย เขาต้องการแก้ไขบัตรใบเดียวเป็นสองใบ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนไป เพราะหากปล่อยไปอาจนำไปสู่ความเสียเปรียบ เพราะคิดว่าพรรคที่สนับสนุนจะเติบใหญ่บัตรใบเดียวจึงเป็นปัญหา ดังนั้นสิ่งที่แก้ไขแล้ว ยังติดกับดัก คือ มาตรา 91 แม้มีบัตรสองใบ แต่หมายเลขผู้สมัครไม่เป็นหมายเลขเดียวกันหรือมาตรา 93 และ มาตรา94  ค้างคำว่าส.ส.พึงมี และส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ จะทำให้ขัดหลักการต่อการยกร่างกฎหมายลูกที่ไม่สอดรับกับรัฐธรรมนูญ” นายสมชัย กล่าว

 

             นายสมชัย กล่าวด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตนสนับสนุนว่าคิดและร่างใหม่ ภายใต้วิธีคิดให้ยึดประโยชน์ประชาชนและให้ประชาชนยกร่าง ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ดียอมรับว่าการยกร่างใหม่ต้องทำประชามติ แม้มีกฎหมายประชามติ แต่ระเบียบ ปฏิบัติล่าช้า กกต. ไม่ดำเนินการ ดังนั้นประชาชนต้องตัดสินใจให้แน่ว่า เดินหน้าเข้าชื่อเพื่อให้ รัฐบาลทำประชามติ ว่าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ โดยทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อประหยัดงบประมาณ 3,000 ล้านบาท  

 

             “ประชาชนสามารถเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ เสนอให้รัฐบาล ออกเสียงทำประชามติ หากรัฐบาลบอกว่าจะอยู่ครบเทอม 24 มีนาคม 2566 ต้องดำเนินการ และวันที่ประชาชนเสนอเรื่องต่อครม. แล้ว เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องตัดสินใจ” นายสมชัย กล่าว

 

 

             ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาให้ประเทศ และในภาวะที่มีวิกฤต ทำให้รัฐบาลล้มเหลว และอ่อนแอ   ไร้ความมั่นคงต่อหลักประกันสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ ทั้งนี้ตนกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรง โดยเฉพาะข้อเรียกต้องของประชาชนให้ปฏิรูปสถาบันแต่รัฐบาลกลับมองว่าเป็นการก้าวล่วงที่ไม่สมควร สิ่งสำคัญตนมองว่าการทำรัฐธรรมนูญต้องแก้ไข โดยใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เป็นหลักแต่ศึกษาจุดอ่อน จุดด้อย เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักของประชาชน สำหรับขั้นตอน คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ตนมองว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ ระเบิดเวลาและชนวนที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง.