ป้อมค่าย “อัศวิน”  รวมดาวเจ้ายุทธจักร

ป้อมค่าย “อัศวิน”  รวมดาวเจ้ายุทธจักร

แพ้หรือชนะของ "พล.ต.อ.อัศวิน" จะบ่งชี้อนาคตการเมืองของขั้วอำนาจปัจจุบัน และศึกเมืองหลวงปีนี้ ยังจะพิสูจน์ว่า การเมืองเก่าไปต่อได้หรือไม่?

สงครามชิงทำเนียบเสาชิงช้า พ.ศ.2565 คือการต่อสู้ระหว่างการเมืองเก่ากับการเมืองใหม่อะนาล็อกกับดิจิทัล โดยมีตัวแทนของแต่ละขั้วความคิดการเมืองลงสนาม

 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. จัดอยู่ในขั้วการเมืองเก่า ที่ต้องเผชิญหน้ากับขั้วการเมืองใหม่อย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมช.คมนาคม และวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล

 ดังนั้น กลยุทธ์การหาเสียงของ พล.ต.อ.อัศวิน จึงเน้นไปที่การจัดตั้งเครือข่ายมวลชน และติดแผ่นป้ายโฆษณาทั่วกรุงเทพฯ ขณะที่ชัชชาติ และวิโรจน์ ใช้สื่อออนไลน์ เครือข่ายโซเชียลมีเดียเป็นหลัก

อาคารรักษ์กรุงเทพ ที่ใหญ่โต ตั้งตระหง่านอยู่ ถ.บรมราชชนนี ซอย 4 เป็นกองบัญชาการของทัพอัศวิน ที่รวมจอมยุทธ์การเมืองทั่วฟ้าเมืองไทยมาไว้ในตึกหลังนี้

 “รักษ์กรุงเทพ” คือชื่อกลุ่มการเมืองท้องถิ่น ที่เริ่มทำงานแบบจิตอาสา โดยการสนับสนุนของ พล.ต.อ.อัศวิน และมี “เฮียต่าย” สุชัย พงษ์เพียรชอบ อดีตที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เป็นแม่ทัพใหญ่

 ชาวยุทธ์รู้จัก เฮียต่าย คลองเตย คนสนิทของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทยมานานแล้ว สองปีมานี้ เฮียต่ายได้รวบรวม อดีต ส.ก. และกลุ่มจิตอาสาในพื้นที่ มาฟอร์มทีมผู้สมัคร ส.ก.ทั้ง 50 เขต

นอกจากเฮียต่าย ยังมี “บังมาด” สามารถ มะลูลีม นายกสมาคมกีฬามวยไทยนานาชาติ และ สมหมาย สกุลเมตตา โปรโมเตอร์มวยไทยชื่อดัง และประธานกลุ่มพลังใหม่ เป็นแขนขาของ พล.ต.อ.อัศวิน

 หลัง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ไม่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ทีม ส.ก.กลุ่มจักรทิพย์คนทำงานส่วนหนึ่งก็ย้ายมาสังกัดกลุ่มรักษ์กรุงเทพ

 พลันที่ พล.ต.อ.อัศวิน ตัดสินใจลงสนามผู้ว่าฯ กทม. “บิ๊กหยม” พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก็เคลื่อนทัพเข้าสู่ตึกรักษ์กรุงเทพ ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้ง

 พล.ต.ท.ชาญเทพ จบนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 (นรต.36) เป็นเพื่อนร่วมรุ่น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. และได้รับการแต่งตั้งจากถาวร เสนเนียม สมัยเป็น รมช.คมนาคม ให้เป็นประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การทุจริตในบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินแห่งชาติ

 ตอนที่ บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยังลงพื้นที่พบชาวบ้านปูทางสู่สมรภูมิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็จะเห็นบิ๊กหยมเดินเคียงข้างอยู่เรื่อยๆ กระทั่งบิ๊กแป๊ะถอนตัวจากสนามผู้ว่าฯ กทม. บิ๊กหยมก็ตัดสินใจรับตำแหน่งเลขาธิการพรรคไทยภักดี

พล.ต.ท.ชาญเทพ ไม่ได้เข้ามาตึกรักษ์กรุงเทพเพียงคนเดียว หากแต่ยังพ่วง ถาวร เสนเนียม อดีต รมช.คมนาคม เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้วย ซึ่งความสัมพันธ์ของ พล.ต.อ.อัศวิน กับถาวรนั้น ไม่ใช่ความลับอะไร เพราะบิ๊กวินได้เป็นรองผู้ว่าฯ กทม.สมัยคุณชายหมู ตามโควตาของสุเทพ เทือกสุบรรณ

 ด้วยคอนเนกชั่นเดิมๆ พล.ต.อ.อัศวิน จึงตั้งทินกร ปลอดภัย คนสนิทถาวรเป็นผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม.เมื่อต้นปี 2565 และทินกรก็เป็นคนดูแลพื้นที่เขตมีนบุรี ให้กลุ่มรักษ์กรุงเทพ

 ชั่วโมงนี้ ถาวร เสนเนียม ได้ระดมเพื่อนพ้องน้องพี่ กปปส.เข้ามาช่วยงานหาเสียงให้ พล.ต.อ.อัศวิน บวกกับเครือข่ายพลังชุมชุม กทม. 50 เขต ก็มั่นใจจะสานฝันบิ๊กวินได้ไปต่อที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯอีกสมัย

 ทีมอัศวินจึงประกอบด้วยกลุ่มรักษ์กรุงเทพ เครือข่ายเพื่อนจักรทิพย์ และเพื่อนพ้องน้องพี่ กปปส. เมื่อจัดทัพไว้พร้อมสรรพ พล.ต.อ.อัศวิน จึงพร้อมสู้อาวุธขั้นเทพแอร์วอร์ของชัชชาติ ด้วยสงครามกราวนด์วอร์

 ชัชชาติ-วิโรจน์ เชื่อว่าภูมิทัศน์การเมืองไทยเปลี่ยน ยุทธศาสตร์การหาเสียงสมัยใหม่ แนวรบแอร์วอร์ มีความสำคัญและชี้ขาดชัยชนะ ตรงกันข้ามกับ พล.ต.อ.อัศวัน ที่ยังเชื่อในแนวรบกราวนด์วอร์ เหมือนที่เฮียชูวิทย์ยกให้บิ๊กวินเป็นม้ามืด

ลึกๆ แล้ว พล.ต.อ.อัศวินก็ได้จอมยุทธ์สายสื่อคนหนึ่งมาช่วยงานสงครามแอร์วอร์ หากเปิดเผยชื่อทีมงานออกไป รับประกันทีมชัชชาติต้องมีหนาว

แพ้หรือชนะของ พล.ต.อ.อัศวิน จะบ่งชี้อนาคตการเมืองของขั้วอำนาจปัจจุบัน และศึกเมืองหลวงปีนี้ ยังจะพิสูจน์ว่า การเมืองเก่าไปต่อได้หรือไม่?