"ปชป." เปิดศึก 2 ด้าน รบ "รัฐบาล-ฝ่ายค้าน" ดัน“เบอร์เดียว”

"ปชป." เปิดศึก 2 ด้าน รบ "รัฐบาล-ฝ่ายค้าน" ดัน“เบอร์เดียว”

แม้ กมธ.พิจารณากม.ลูก เสียงข้างมาก จะคว่ำ ไม่ให้ "เบอร์เดียวทั้งประเทศ" เป็นกติกาเบิกทางสู่การเลือกตั้งได้ แต่สิ่งที่น่าจับตา คือ ความต้องการ ของ 2กมธ.ซีก "ปชป." ที่หนุน "ฝ่ายค้าน" ดันเบอร์เดียว นัยที่สื่อ อาจเป็นการเปิดแนวรบ

          มติ 32 : 14 เสียง ของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ยืนยันต่อกติกาเลือกตั้งให้ใช้ “เบอร์” ของผู้สมัคร ส.ส. ที่จะใช้หาเสียงแยกกัน ระหว่างเลือกตั้งแบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

 

          ไม่เอา“เบอร์เดียวกัน”ทั้งประเทศ ตามที่ “พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล” เสนอ

 

          แน่นอนว่า เสียงข้างมากของ กมธ.ที่ร่วมโหวตทั้ง 47 คนนั้น มาจากฝั่งที่สนับสนุนรัฐบาล ขณะที่เสียงข้างน้อยมาจากฝั่งฝ่ายค้าน

 

          แต่ที่น่าสนใจ คือ กมธ.ฝ่ายค้าน มีจำนวน 13 คน ลาประชุม 1 คน คือ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติ แต่ได้เสียงจากซีกรัฐบาลเติม 2 เสียง มาจากขั้วประชาธิปัตย์ คือ “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช และ “เทอดพงษ์ ไชยนันทน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ

\"ปชป.\" เปิดศึก 2 ด้าน รบ \"รัฐบาล-ฝ่ายค้าน\" ดัน“เบอร์เดียว”

          ซึ่งทั้ง 2 คน ถือว่าเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์สูงในสนามเลือกตั้ง

 

          2 เสียงจาก “ประชาธิปัตย์” ที่โหวตชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงนัยทางการเมือง ถึงการต่อสู้ในสมรภูมิการเมืองตั้งแต่ในสนาม "แก้กติกาเลือกตั้ง”

 

          ประเด็น ที่เป็นตัวชูหลักการของการกำหนดเบอร์เดียวทั้ง 2 ระบบ ถูกฉายภาพมาตั้งแต่การประชุมรัฐสภา วาระแรกของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ผู้อาวุโสของประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุน “เบอร์เดียวทั้งประเทศ” เพราะจะทำให้ประชาชนจดจำง่าย ไม่สับสน อีกทั้งพรรคการเมืองไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ หาเสียงได้ง่าย

          และตอกย้ำผ่านแนวคิดของ “สาธิต ปิตุเตชะ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้แสดงทัศนะชัดเจนว่าสนับสนุนเบอร์เดียวเช่นกัน

 

          โดยมีคำอธิบายว่า “เพื่อประชาชนสะดวก และเข้าใจในใช้สิทธิเลือกตั้ง ระหว่างตัวผู้สมัครส.ส. และพรรค รวมถึงสะท้อนเจตจำนงการเลือกผู้สมัครได้ตรงกับความต้องการของประชาชน”

\"ปชป.\" เปิดศึก 2 ด้าน รบ \"รัฐบาล-ฝ่ายค้าน\" ดัน“เบอร์เดียว”

          และเหตุผลสำคัญ ที่รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุไว้คือ เพื่อให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีประสบการณ์ว่าผู้สมัครส.ส.ได้เบอร์ต่างจากพรรค เวลาลงพื้นหาเสียงจะสร้างความสับสนให้ผู้เลือก และผู้รณรงค์หาเสียง และบางกรณีพบว่าผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงให้เฉพาะตัวเอง ไม่หาเสียงให้พรรค ทำให้เกิดปัญหาพรรคการเมืองอ่อนแอ

 

          ทว่า “สาธิต” แสดงความชัดเจนเรื่องนี้ ได้เพียงการงดออกเสียง เพราะทำหน้าที่ในบทบาทของประธานที่ประชุม 

 

          กับประเด็นการสร้างใบเบิกทางที่เอื้อต่อการแข่งขันเลือกตั้ง ที่ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” และ “ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์” พ่ายในชั้นกรรมาธิการฯ ยังมียกที่สอง ไว้สู้กันใน “รัฐสภา”

 

 

          เรื่องนี้ “สมคิด เชื้อคง” ยืนยันว่า 8 กมธ.ซีกเพื่อไทยจะสงวนความเห็นไปอภิปรายในสภาฯ

 

          ทว่า การต่อสู้ยกสอง ที่ “พรรคเพื่อไทย” ตั้งเป้า “สมคิด” ประเมินว่าชัยชนะเลือนลาง เพราะ "เขาไม่อยากได้”

          แม้ในชั้น กมธ. ได้เสียงของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ สนับสนุน แต่ไม่มีนัยอะไร เพราะในรัฐสภาเสียงส.ส.ข้างรัฐบาล รวมกับเสียง ส.ว.นั้นมีมากกว่า

\"ปชป.\" เปิดศึก 2 ด้าน รบ \"รัฐบาล-ฝ่ายค้าน\" ดัน“เบอร์เดียว”

          “ผมและพรรคเพื่อไทยยังมองว่า ในทางการเมือง เราเห็นร่วมกันว่า ควรกำหนดเรื่องที่ทำให้ประชาชนเข้าใจง่ายไม่สับสน แต่หากเขาต้องการสร้างความสับสน เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ก็สุดแล้วแต่ ทั้งนี้อดคิดไม่ได้ว่า เขาพยายามกีดกันเรา แต่พรรคเพื่อไทยไม่เคยกลัว” สมคิด ระบุ

 

          อย่างไรก็ดี ในคำอธิบายของฝั่งเสียงข้างมาก ที่ยืนยันให้ “เบอร์ต่างกัน” จาก “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้า และมือกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า พิจารณาจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​มาตรา 48 ไม่สามารถเขียนวิธีเป็นอื่น เพื่อให้ใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศได้ และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับปมการเมือง หรือ พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ เพราะในทัศนะส่วนตัวเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีทาง ชนะแบบแลนด์สไลด์ อย่างดีที่สุด คือ ได้ส.ส.เพิ่มจากปัจจุบันเล็กน้อยเท่านั้น

 

          ขณะที่ 2 เสียงจาก “ประชาธิปัตย์” ที่สนับสนุนเบอร์เดียว “ไพบูลย์” เชื่อว่าทำได้ เนื่องจากเป็นเอกสิทธิ์ของผู้แทน และจะไม่ส่งผลต่องานการเมือง

 

          มุมมองจาก ฝั่ง “เพื่อไทย” และ “พลังประชารัฐ” แม้มองข้ามความต้องการของ “ประชาธิปัตย์” ที่อยากให้เป็นเบอร์เดียวทั้งประเทศ แต่ 2 เสียงนั้น ควรอย่างยิ่งที่ “ผู้นำรัฐบาล” ต้องฟัง เพราะหากเมิน หรือ ทำเฉย อาจกลายเป็นการสร้าง ความหมางใจ และก่อให้เกิดสนิมจากเนื้อในรัฐนาวาได้

\"ปชป.\" เปิดศึก 2 ด้าน รบ \"รัฐบาล-ฝ่ายค้าน\" ดัน“เบอร์เดียว”

          แม้อำนาจต่อรองของ “ประชาธิปัตย์” ฐานะพรรคร่วมรัฐบาล อันดับสอง จะอยู่ในระดับที่เจรจา ยอมๆ กันได้ แต่หากถึงบางเรื่องที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ - ประเด็นกำหนดชะตาทางการเมือง เชื่อแน่ว่า ดีกรีนักการเมืองเขี้ยวลากดิน และถนัดงานกฎหมาย งานสภาฯ ไม่มีทางยอมให้ “ผู้มีอำนาจ” ชักจูง

 

          เพราะในสมรภูมิเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปครั้งหน้า“ขุนพลประชาธิปัตย์” ล้วนเดิมพันตัวเอง ไว้กับอนาคตทางการเมือง.