กทม.เตือนใช้ป้ายหาเสียงห้ามติดรั้ว-แผงเหล็กริมถนน ฝ่าฝืนเจอเก็บทันที

กทม.เตือนใช้ป้ายหาเสียงห้ามติดรั้ว-แผงเหล็กริมถนน ฝ่าฝืนเจอเก็บทันที

กทม.เปิดยอดผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 22 พ.ค. 4.3 ล้านคน นิวโหวตเตอร์ 7 แสนคน เตือนผู้สมัครใช้ป้ายหาเสียง ห้ามติดรั้ว-แผงเหล็กริมถนน ฝ่าฝืนเก็บทันที แจกอาหารกองเชียร์เสี่ยงโดนตัดสิทธิ์ด้วย

วันที่ 30 มี.ค. ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการเลือกตั้ง กทม. แถลงถึงความพร้อมในการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภา กมม.ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-4 เม.ย. เวลา 08.30 น.-16.30 น. ว่า การรับสมัครเลือกตั้งจะไม่เว้นวันหยุดราชการ ขณะนี้มีความพร้อม 100 % ส่วนการติดแผ่นป้ายได้กำหนดหลักเกณฑ์ อาทิ สถานที่ปิดประกาศ ได้แก่ บริเวณป้ายปิดประกาศของสำนักงานเขต โรงเรียนสังกัด กทม. และหน่วยงานในสังกัด กทม. โดยขอให้ผู้สมัครปิดประกาศได้สถานที่ละ 1 แผ่นเท่านั้น และต้องแจ้งขอปิดประกาศต่อหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายของสถานที่นั้นๆ

นายเฉลิมพล กล่าวต่อว่า ส่วนสถานที่ห้ามปิดประกาศ ได้แก่ ผิวการจราจร เกาะกลางถนน สะพานลอยเดินข้ามและสะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้วหรือกำแพงหรือผนังอาคารของทางราชการ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน และอย่าให้ติดหัวมุมซอยให้ห่างจากปากซอย 10 เมตร โดยขอให้ผู้สมัครศึกษารายละเอียด และปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศอย่างเคร่งครัด ส่วนผู้อำนวยการเขตสามารถแจ้งเตือนหากไม่ปฏิบัติตามสามารถเก็บป้ายดังกล่าวได้ทันที

กทม.เตือนใช้ป้ายหาเสียงห้ามติดรั้ว-แผงเหล็กริมถนน ฝ่าฝืนเจอเก็บทันที

นายเฉลิมพล กล่าวต่อว่า ขณะที่จำนวนประชากรผู้อาศัยในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 5,523,676 คน มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง4,374,131 คน จากข้อมูลคำนวณถึงวันที่ 22 พ.ค.65) แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 1,996,104 คน เพศหญิง จำนวน 2,378,027 คนส่วนจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกอายุ 18 ปี หรือ นิวโหวตเตอร์อยู่ที่ประมาณ  6-7 แสนคน ส่วนจำนวนหน่วยเลือกตั้ง 6,862 หน่วย นอกจากนี้เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข และสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบัน กทม.ได้กำหนดให้มีการจำกัดจำนวนผู้ที่จะเข้าในพื้นที่รับสมัคร โดยเข้าได้เฉพาะผู้สมัคร และผู้ติดตาม 1 คน เท่านั้น 

"สำหรับกองเชียร์สามารถให้กำลังผู้สมัครได้ภายนอกอาคารไอราวัตพัฒนา บริเวณลานพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ โดยขอให้ผู้ที่เดินทางมาในอาคารทุกคน ผ่านระบบคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สแกน QR Code ไทยชนะ ก่อนเข้างาน และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่ โดยมีสายด่วน 1444 เพื่อเปิดรับข้อส่งสัยเหตุต่างๆ แจ้งมาทางนี้ได้"นายเฉลิมพลกล่าว

กทม.เตือนใช้ป้ายหาเสียงห้ามติดรั้ว-แผงเหล็กริมถนน ฝ่าฝืนเจอเก็บทันที

ด้านนายสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักปลัด กทม. ในฐานะเลขานุการศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.และผู้ติดตามต้องตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้ามาในพื้นที่อาคาร หากอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาฯ ต้องแยกไปพักคอย เมื่ออุณหภูมิลดจะให้ตรวจวัดอุณหภูมิอีกครั้ง ส่วนพื้นที่ด้านในแต่ละโต๊ะจะมีเจลแอลกอฮอล์ ส่วนผู้สมัครและผู้ติดตามไม่ได้กำหนดว่าต้องตรวจ ATK แต่ต้องคัดกรองและสวมหน้ากากอนามัย 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีป้ายร้องเรียนป้ายหาเสียงผู้สมัครนั้น นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.กทม.) กล่าวว่า ผู้สมัครสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่มีประกาศเลือกตั้ง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการร้องคัดค้านเข้ามา แต่ขอให้ผู้สมัครระมัดระวังทำผิดกฎหมายรวมถึงให้ผู้สมัครระมัดระวังในเรื่องการจัดซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มแก่กองเชียร์หรือผู้สนับสนุนที่มาให้กำลังใจ ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจเข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่รัฐต้องวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด กกต.จะแจ้งเตือนให้แก้ไข หรือแจ้งต้นสังกัดให้ดำเนินการทางวินัยต่อไปได้ 

"ส่วนการจัดเวทีปราศรัยนั้น ผู้สมัครต้องไปต่อต่อสถานที่นั้นก่อนตามแนวทางกำหนดป้องกันโควิด แล้วมาแจ้งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร เพื่อจะไปควบคุมกำกับดูแลว่าฝ่ายฝืนทางกฎหมายหรือไม่"นายสำราญ กล่าว

กทม.เตือนใช้ป้ายหาเสียงห้ามติดรั้ว-แผงเหล็กริมถนน ฝ่าฝืนเจอเก็บทันที