“ชินวรณ์”รับเสียงหนุน-ค้านบัตรเบอร์เดียวสูสี-เล็งถกกมธ.30มี.ค.ก่อนโหวต

“ชินวรณ์”รับเสียงหนุน-ค้านบัตรเบอร์เดียวสูสี-เล็งถกกมธ.30มี.ค.ก่อนโหวต

“ชินวรณ์”รับเสียงหนุน-ค้านบัตรเบอร์เดียวสูสี-เล็งถกกมธ.30มี.ค.ก่อนโหวต ย้ำบัตรสองใบคำนวณ ส.ส.พึงมี ไม่ได้ รอถกในกมธ.อีกรอบ

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. ให้สัมภาษณ์ว่า เสียงโหวตสนับสนุนบัตรเบอร์เดียวกับบัตรคนละเบอร์ ในร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้น ความคิดเห็นทั่วไปยังสูสีกันอยู่ ต้องไปดูรายละเอียด 

โดยในชั้นกมธ.ต้องมีการซักถามเจตนารมณ์ของผู้ร่างคือทางฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เสนอแนะผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาตลอดถึงแนวปฏิบัติในการเลือกตั้ง รวมถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 90 ในขั้นตอนนี้คงเป็นเรื่องของกรรมาธิการที่จะต้องพิจารณา
 

เมื่อถามว่ากรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะกมธ.ฯ อ้างว่า บัตรเบอร์เดียวนั้นอาจจะขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญรวมทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 นั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า เป็นข้ออ้างของแต่ละฝ่าย ก็มีเหตุผลของตนเอง เพราะฉะนั้นต้องมาดูว่าอะไรที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดและจะไม่นำไปสู่การมีปัญหาในเรื่องของการตีความต่อไป โดยก่อนลงมติวันที่ 30 มีนาคมนี้จะมีการคุยกันก่อน เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้มีการประชุม
 

เมื่อถามว่าเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กมธ.ส่วนใหญ่สนับสนุนสูตรหาร 100 ใช่หรือไม่นั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า ข้อนี้ก็มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกันกับบัตรเบอร์เดียว คือฝ่ายหนึ่งก็ยังยืนตามร่างเดิมที่รับหลักการไปก็คือเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 คือต้องคำนวณบัญชีรายชื่อจากฐาน 100 คน เพื่อที่จะมาคิดสัดส่วนคะแนน ส่วนอีกความคิดเห็นหนึ่งว่าควรจะไปคำนวณสัดส่วนส.ส.ที่พึงมีก่อนแล้วจึงมาดำเนินการในการคิดส.ส.บัญชีรายชื่อ 

ซึ่งในส่วนนี้ก็มีประเด็นอยู่เหมือนกันว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 เดิมก็ไม่ได้มีการแก้ไขในเรื่องของสัดส่วนที่พึงมี ต้องมาตีความกันว่ามันจะขัดหรือแย้งหรือไม่ในการกำหนดสัดส่วนพึงมี เป็นไปตามระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม แต่ตอนนี้เมื่อเราใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบแล้ว ไม่สามารถที่จะไปคำนวณโดยเอาเสียง 500 มาเป็นสัดส่วนที่พึงมีได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่จะต้องถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการ