กกต.เชิญสื่อฟังแนวทางเสนอข่าวเลือกตั้ง กทม. ห้ามนักการเมือง-ขรก.หาเสียง

กกต.เชิญสื่อฟังแนวทางเสนอข่าวเลือกตั้ง กทม. ห้ามนักการเมือง-ขรก.หาเสียง

โหมโรงเลือกตั้ง! 30 มี.ค. กกต.เชิญสื่อฟังแนวทางการเสนอข่าวเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.-นายกเมืองพัทยา” ด้าน ผอ.กกต.กทม.เตือน “นักการเมือง-ขรก.” ห้ามช่วยหาเสียง 24 ชม. นัด 5 เม.ย. เชิญผู้สมัครฟังแนวทางเชิงสมานฉันท์

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2565 นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (รองเลขาธิการ กกต.) รักษาการแทนเลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 มีนาคม 2565 สำนักงาน กกต. จะเชิญสื่อมวลชนรับทราบ ข้อควรรู้เพื่อนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนในการเลือกตั้งท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ เมืองพัทยา ภายใต้คำขวัญ “รวมพลังสุจริต ใช้สิทธิอย่างโปร่งใส พร้อมใจไปเลือกตั้ง” ที่สำนักงาน กกต. เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และวิธีปฎิบัติที่ถูกต้อง

นายแสวง กล่าวอีกว่า ส่วนการรับสมัครที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 4 เมษายนนี้ เชื่อว่าทุกคนคงเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงต้องเข้มงวดมาตรการสาธารณสุข และ แจกเอกสารคู่มือทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมายให้กับผู้สมัครทุกคน ก่อนที่ กกต. จะนัดหมายผู้สมัครทั้งหมดอีกครั้ง เชิญประชุมเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ เพื่อแนะนำข้อกฎหมาย กำชับให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ ไม่ใช่จับผิดไปทุกเรื่อง และ จะเปิดให้สอบถามข้อสงสัย และ ข้อกังวลต่างๆ เช่น เรื่องป้ายหาเสียง ผู้ช่วยหาเสียง รถแห่ และ แนวปฎิบัติสำหรับพรรคการเมืองที่เข้ามาช่วยผู้สมัครได้แค่ไหน เพื่อให้ผู้สมัครเกิดความมั่นใจ

สำหรับพรรคการเมืองที่ไม่ได้ส่งผู้สมัคร สามารถประกาศสนับสนุนได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ต้องดูว่ามีค่าใช้จ่ายหรือไม่ เชื่อทุกอย่างไม่มีของฟรี หากไม่นำมารวมเป็นค่าใช้จ่าย จะกลายเป็นการแจ้งค่าใช้จ่ายเท็จ เมื่อชนะการเลือกตั้ง ก็อาจถูกเผิกถอนสิทธิ์ในท้ายที่สุด

  • ผอ.กกต.กทม.เตือน “นักการเมือง-ขรก.” ช่วยหาเสียง “ผู้ว่าฯ กทม.” ไม่ได้

วันเดียวกัน นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำกรุงเทพมหานคร หรือ ผอ.กกต.กทม. กล่าวว่า ฝากเตือนถึงบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่า ไม่สามารถเข้าไปช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ สก. หาเสียงได้ แม้จะเป็นช่วงนอกเวลาราชการ ย้ำไม่สามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกช่องทาง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นการทำผิดกฎหมาย และ นำไปสู่การร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งได้ สำหรับผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง สามารถใช้ โลโก้ นโยบาย และ ผลงานของพรรคเพื่อหาเสียงได้ แต่ไม่สามารถอ้างถึงตัวบุคคลของพรรคที่มีสถานะดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

นายสำราญ กล่าวอีกว่า ส่วนการหาเสียงและกิจกรรม 4 อย่าง ที่ผู้สมัครต้องแจ้งให้ กกต.กทม.รับทราบก่อนทุกครั้ง คือ วิธีการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ การจัดรถแก่ง การจัดเวที/สถานที่ และ การแต่งตั้งผู้ช่วยหาเสียง ในกรณีจัดกิจกรรมรวมตัวของคนจำนวนมาก ต้องแจ้งขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด และ ปฎิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดด้วย

สำหรับวันเปิดรับสมัครนั้น ผอ.กกต.กทม. กล่าวว่า ฝากถึงผู้สมัคร 2 เรื่อง คือ ต้องระมัดระวังการจัดเลี้ยงให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนที่มาให้กำลังใจ แม้เป็นเพียงการจัดหาน้ำดื่มอาหารก็อาจผิดกฎหมายได้ อีกเรื่องคือ กองยาว มหรสพ หลังได้หมายเลขต้องไม่มีกิจกรรมรื่นเริงดังกล่าว หลังจากนั้นในวันที่ 5 เมษายน กกต.กทม. จะเชิญผู้สมัครทุกคน เข้ารับฟังแนวทางการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เพื่อแจ้งแนวปฎิบัติ แนะนำข้อกฎหมาย ตอบข้อสักถาม เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมาย และ ทำให้การเลือกเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม