"จุรินทร์" ลั่นพรรคการเมือง กลไกสำคัญขับเคลื่อนวิสัยทัศน์นโยบาย

"จุรินทร์"  ลั่นพรรคการเมือง กลไกสำคัญขับเคลื่อนวิสัยทัศน์นโยบาย

"จุรินทร์" ชู"ก้าวต่อไปประเทศไทย" ลั่นพรรคการเมือง คือกลไกทางการเมืองสำคัญในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ความสำเร็จ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.
พาณิชย์ ในฐานะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงวิสัยทัศน์"ยุทธศาสตร์ การนำเศรษฐกิจไทยผ่านวิกฤติโควิด" ในงาน Go Together ,Go Further ที่ BBC Hall Grand ballroom เซ็นทรัลลาดพร้าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากโควิดยังมีอีกหลายอย่างที่ประดังเข้ามา 2 ปีเศษที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้เจอเฉพาะโควิด แต่เราเจอทั้งปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ล่าสุดที่ซ้ำเติมคือสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กระทบทั้งโลก และกระทบประเทศไทยของเราด้วย 2-3 ปีที่ผ่านมา เราผ่านวิกฤติโควิด เศรษฐกิจ การเมืองมาได้โดยเฉพาะในภารกิจงานที่พรรคประชาธิปัตย์รับผิดชอบในคณะรัฐบาล 1.กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ เกิดจากที่เราตั้งหลักไว้ชัดตั้งแต่ต้น วิสัยทัศน์ "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" ที่ใช้ยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต" คือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นโดยประเทศของเราเป็นฐานเกษตร ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง 
2.นโยบายประกันรายได้เกษตรกร เป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขก่อนตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล เดินหน้าประสบความสำเร็จ เป็นหลักประกันให้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชสำคัญ 5 ชนิด คือข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยามที่พืชผลเกษตรตกต่ำจะมีหลักประกันในเรื่องรายได้ มีรายได้ 2 ทางจากขายในตลาดและส่วนต่างจากรายได้ที่ประกัน สามารถช่วยเกษตรกรให้มีหลักประกันได้ถึง 8 ล้านครอบครัว อย่างน้อย 32 ล้านคนได้รับประโยชน์จากนโยบายประกันรายได้ 3 ปีทุ่มเงินลงไปช่วยเหลือเกษตรกรเฉพาะนโยบายประกันรายได้ 350,000 ล้านบาท ช่วยให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากและมีส่วนกระจายเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจยามที่เราฝ่าวิกฤตโควิดและอื่นๆ สู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากและหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

"ผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การกำกับของพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนสำคัญทำให้ราคาพืชผลการเกษตรหลายตัวกระเตื้องขึ้นและดีขึ้น ราคาพืชผลการเกษตรดีเกือบทุกตัว  เป็นคำตอบสำหรับบางคนที่เคยถามว่าทำไมช่วงหลัง 2-3 ปีมานี้ไม่เห็นม็อบเกษตรกร 

4.นโยบายส่งออกเชิงรุก เกิดขึ้นโดยหลักคิดสำคัญ ก่อนโควิดเราขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวและการส่งออก การลงทุนภาครัฐทุกรัฐบาลลงทุนเป็นปกติ แต่เมื่อเกิดโควิดการท่องเที่ยวเดี้ยงจาก 11% ของจีดีพีเหลือเพียง 1% กว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถขับเคลื่อนการส่งออกให้เดินหน้าไปได้และประสบความสำเร็จ ปีที่แล้วกลางวิกฤติโควิด สามารถทำให้การส่งออกโตได้ถึง 17.1% จากที่ตั้งเป้าไว้ 4% เกินเป้าถึง 4 เท่า นำรายได้เข้าประเทศ 8.5 ล้านล้านบาท และปี 65 ตั้งเป้าเป็น 9 ล้านล้านบาท และ 2 เดือนที่ผ่านมาทำยอดได้แล้วถึง 1.5 ล้านล้านบาท ทเกิดจากปัจจัยหลายประการ 1.รัฐหนุนเอกชนนำ เพราะกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯทำงานร่วมกับเอกชน ให้เอกชนเป็นพระเอกเป็นทัพหน้ารัฐบาลเป็นกองหลังสนับสนุนให้เต็มที่

2.กรอ.พาณิชย์ คือ เวทีทำให้กระทรวงพาณิชย์หน่วยราชการทุกหน่วยกับเอกชนทุกสาขาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และประชุมแบบหวังผลทางปฏิบัติจริง แก้ปัญหาร่วมกับเอกชน ทำต่อเนื่องแก้ปัญหาสัมฤทธิ์ผล

3.การค้าชายแดน ปี 64 การส่งออกบวกแม้รอบบ้านติดโควิด เร่งเปิดด่านรอบประเทศ เปิดได้ 48 ด่านจาก 97 ด่าน ตัวเลขการค้าชายแดนปี 64 +30% ทำเงินเข้าประเทศ 1.7 ล้านล้านบาท

4.วิสัยทัศน์ใหม่ในการทำงาน ที่ FTA ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศหรือกลุ่มประเทศไม่พอ ต้องลงลึกถึงกระทรวงพาณิชย์ประเทศไทยทำสัญญาการค้าข้อตกลงกับรัฐ มณฑลและเมืองสำคัญที่มีศักยภาพในการซื้อสินค้า Mini FTA จึงเกิดขึ้น คืบหน้าไปแล้ว กับไห่หนาน ของจีน 2.กับโคฟุ ญี่ปุ่น และ 11 เมษายน 65 กระทรวงพาณิชย์กับรัฐเตลังกานาของอินเดีย และกำลังจะเซ็นกับมณฑลก่านซู่ของจีนปลายเดือนเมษา และตลาดตะวันออกกลางที่มอบนโยบายกับทูตพาณิชย์คุยกับซาอุฯ ขายของให้ประเทศสามารถขายไก่ได้แล้วหลังนายกรัฐมนตรีเดินทางไปเปิดสัมพันธ์ ซึ่งเราเจรจาล่วงหน้ามา 1 ปี วันจันทร์นี้(28 มี.ค.65)จะเปิดการส่งออกไก่ไทยล็อตแรกไปซาอุดิอาระเบีย 

แม้เราจะฟันฝ่ามาถึงวันนี้แต่วันข้างหน้าตนคิดว่ามีโจทย์ใหม่  2 เรื่อง 1.สงครามรัสเซีย-ยูเครน จากนี้ไปโลกจะต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และวันนี้ปรากฎการณ์ใหม่ที่เราต้องหาคำตอบมาแก้คือ โลกกำลังเอาการเมืองกับเศรษฐกิจมามัดรวมกัน กำลังจะบังคับโลกให้แบ่งค่าย แบ่งขั้วทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ประชาธิปัตย์ต้องคิด รัฐบาลต้องคิด นักธุรกิจต้องคิดโจทย์นี้ใหญ่มาก จะยืนอย่างไรเพื่อให้เรารอดยืนความเป็นประเทศได้มั่นคงทั้งการเมืองเศรษฐกิจทั้งคนตัวใหญ่ คนตัวเล็กของประเทศ ตอนนี้เราเป็นสมาชิก RCEP ซึ่งตนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตอนเป็นเจ้าภาพให้การเจรจาสำเร็จ มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เป็นข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจีดีพีรวมการ 1 ใน 3 ของโลกประชากรรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก โดย RCEP จีนคือพี่เบิ้มที่ประสบความสำเร็จ และข้อตกลงอินโดแปซิฟิกจึงตามมา คือวิสัยทัศน์ของสหรัฐอเมริกา มีเป้าหมาย 1.ความมั่นคง 2.เศรษฐกิจ ซึ่งทั้ง 2 ข้อตกลงมีประเทศไทยเป็นตัวร่วมทั้งคู่ เราจะยืนยังไงจะสร้างสมดุลให้เราอยู่รอดอย่างไรทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายเราอย่างยิ่งถัดจากนี้ไป " นายจุรินทร์ กล่าว 

จากนั้น กล่าวต่อว่า ให้ทุกท่านสบายใจ ตนคนหนึ่งที่ตระหนักในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่างน้อยคำตอบที่ง่ายที่สุดคือประเทศไทยต้องยืนหยัดเผชิญวิกฤต ผนึกกำลังกันให้เหนียวแน่นกับอาเซียน เพราะคือเพื่อนที่ใกล้เราที่สุด อาจจะสามารถฝ่าพายุวิกฤตไปได้ เพราะลำพังเราคนเดียวอาจจะตัวเล็กเกินไปหรือกำลังไม่ถึง

ประเด็นที่สอง ประเทศไทยต้องมีคำตอบว่าทิศทางและวิสัยทัศน์ที่จะพาเศรษฐกิจไทยในภาพรวมเดินไปข้างหน้าต้องไปทางไหน ตนคิดว่าถัดจากนี้ไปเราต้องเป็น Diversified Economy ใช้เศรษฐกิจผสมผสาน ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง จนมีรายได้ทางเดียวตัวอย่างชัดเจนตอนเกิดวิกฤติโควิด บางจังหวัดเหลือแต่การท่องเที่ยว เมื่อเจอโควิดเดี้ยง แต่จังหวัดข้างเคียงยังมีรายได้จากการเกษตร หลายประเทศเมื่อเจอสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมเริ่มมีคำถามใหญ่จะเอาข้าวที่ไหนกิน เราจำเป็นอย่างยิ่งต้องเดินหน้าด้วยเศรษฐกิจผสมผสาน คู่ไปกับปรับรูปแบบโครงสร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่นำนวัตกรรมใหม่เข้ามา
ประชาธิปัตย์จึงมีทีมเศรษฐกิจทันสมัย เพราะรู้ว่าอนาคตนวัตกรรมใหม่ทางเศรษฐกิจต้องเกิดขึ้น ต่อไปการค้าออนไลน์ทั้งหมดต้องมาในรูป Metaverse ในการซื้อขายทั่วโลก  เทคโนโลยี Blockchain ซื้อขายด้วย cryptocurrency ซึ่งเราหนีไม่พ้นประชาธิปัตย์มีนโยบายและทีมงานทั้งหมดของทีมเศรษฐกิจทันสมัย ประชาธิปัตย์จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนและมีคำตอบ และประเทศไทยต้องไม่ทิ้งเศรษฐกิจฐานเกษตร Bioeconomy (เศรษฐกิจชีวภาพ) คือเป้าหมายที่จะให้ยืนอยู่ได้ต่อไปในอนาคต และประเทศไทยจากนี้ต้องเติม ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) แทรกไปในสินค้าและบริการทั้งหมด จะทำเงินให้กับประเทศไทยของเราในอนาคต 

สุดท้าย อาจมีคำถามว่าแล้วใครทำ ในระบอบประชาธิปไตย คนที่มีหน้าที่ต้องทำสิ่งเหล่านี้คือ พรรคการเมือง คือกลไกทางการเมืองสำคัญในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ความสำเร็จให้กับประเทศและประชาชน ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองหนึ่งในจำนวนนั้นแต่ประชาธิปัตย์อาจจะต่างกับหลายพรรคการเมือง โดยก่อตั้งปี 2489 อยู่จนถึงวันนี้ 76 ปี จากนั้นจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 77 เเป็นพรรคการเมืองที่มีอดีต ปัจจุบันและจะมีอนาคตต่อไป เพราะเป็นพรรคการเมืองของคนทุกรุ่น รวมทั้งเลือดใหม่ที่เดินมาร่วมอุดมการณ์กับพรรค ที่มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ และประชาธิปัตย์จะมีอนาคตต่อไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย และเราพิสูจน์ชัดเจนมาแล้ว วิสัยทัศน์ความคิดความอ่านในการพาประเทศไปข้างหน้า เราคิดทุกวัน ทำทุกวันเมื่อมีโอกาส เพราะการบ้านประเทศคือ การบ้านประชาธิปัตย์ ขอขอบคุณทุกท่านที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยความซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง และท่านมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่ยั่งยืนที่สุดและดีที่สุดพรรคหนึ่งของประเทศ 

....