"พิเชษฐ" ปัดพรรคเล็กต่อรองประโยชน์ ย้ำ "นายกฯ" รับปากดันกฎหมายบำนาญปชช.

"พิเชษฐ" ปัดพรรคเล็กต่อรองประโยชน์ ย้ำ "นายกฯ" รับปากดันกฎหมายบำนาญปชช.

"หัวหน้ากลุ่ม16" ระบุเปิดสภาฯ จะดันญัตติศึกษาบำนาญเพื่อประชาชน วัยเกษียณ หลังมื้อดินเนอร์ "นายกฯ" รับปากดูแล ย้ำเป้าหมาย "กลุ่ม16" ไม่ใช่ล้มรัฐบาล แต่จะช่วยเหลือกันเพื่อกลับมาเป็นส.ส.สมัยหน้า

          นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะแกนนำกลุ่ม16  ใหัสัมภาษณ์ยืนยันว่าการร่วมรับประทานอาหาร ระหว่างส.ส.พรรคเล็กร่วมรัฐบาล กับ แกนนำรัฐบาล อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไม่ใช่การต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง ทั้งนี้หลังการพูดคุยโดยตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ พรรคเล็กได้เสนอความต้องการให้รัฐบาลผลักดันการออกกฎหมายเพื่อประชาชน โดยเฉพาะ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวกับการให้บำนาญประชาชน ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณที่ไม่มีรายได้ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน และนายกรัฐมนตรี ไม่ลงนามรับรอง ทั้งนี้ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว เมื่อสมัยประชุมสภาฯ เปิด ในวันที่ 22 พฤษภาคม กลุ่มพรรคเล็กจะเสนอญัตติให้สภาฯ พิจารณาศึกษาเพื่อทำข้อเสนอแนะและความเห็นไปยังรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลรับไปดำเนินการ เช่น การตรากฎหมาย  เป็นต้น

 

 

             นายพิเชษฐ กล่าวยืนยันด้วยว่า สำหรับ ส.ส.ในกลุ่ม 16 ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 18 คนมาจากพรรคการเมืองขนาดเล็ก ไม่ใช่กลุ่มที่รวมตัวเพื่อล้มรัฐบาล เพราะไม่เกินเดือนมีนาคม 2566 จะมีการเลือกตั้งตามวาระของรัฐบาลแล้ว ดังนั้นการรวมตัวของส.ส.กลุ่ม16 เพื่อหาทางช่วยและร่วมมือช่วยเหลือเพื่อให้ ส.ส.พรรคเล็กสามารถกลับมาเป็น ส.ส. ได้ในสมัยเลือกตั้งครั้งหน้า

             “กลุ่มพวกเราจะนัดหารือกัน 1-2 ครั้งต่อเดือนเพื่อหาความร่วมมือ และช่วยเหลือกัน หลังจากที่กติกาการเลือกตั้งถูกแก้ไข ใช้บัตรเลือกตั้ง2 ใบและขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  มีตัวแทนกลุ่มจะเสนอสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อให้ใช้ตัวหารเป็นจำนวน ส.ส. 500 คนไม่ใช่ 100 คน แม้มีข้อท้วงติงว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข มาตรา 91 แต่พรรคเล็กพร้อมสู้และจะนำไปอภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภาถึงเหตุผล” นายพิเชษฐ กล่าว

 

 

             นายพิเชษฐ กล่าวด้วยว่าสำหรับทางหนีทีไล่ของ ส.ส.กลุ่มพรรคเล็ก ที่หารือเบื้องต้น มี 2 แนวทาง คือ การควบรวมพรรค และ ย้ายไปสังกัดพรรคใหญ่ ทั้งนี้ในแนวทางการควบรวมพรรค หารือว่า กรณีของ ส.ส.ที่เป็นหัวหน้าพรรค เลือกตั้งครั้งหน้าต้องลงเลือกตั้งแบบเขต เพราะมีโอกาสได้กลับเข้าสภาฯ เพราะหัวหน้าพรรคนั้นมีฐานคะแนนนิยม หากได้คะแนน 4.5 หมื่นคะแนนสามารถชนะเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ได้ แต่หากลงเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องใช้คะแนน 3.5 แสนคะแนน- 4 แสนคะแนน ถึงมีโอกาส

 

             นายพิเชษฐ กล่าวด้วยว่าส่วนส.ส.ที่ไม่ใช่หัวหน้าพรรคขณะนี้ยังไม่มีแนวทาง เพราะต้องรอความชัดเจนของกติกาเลือกตั้งก่อน เบื้องต้นคาดว่าจะชัดเจนในเดือนเมษายนนี้ ขณะที่แนวทางการย้ายสังกัดพรรคใหญ่ จะช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย โดยหากหัวหน้าพรรคย้ายไป เชื่อว่าพรรคใหญ่ยินดีต้อนรับ โดยพรรคพลังประชารัฐพร้อมต้อนรับ.