สัญญาณ “บิ๊กตู่” อยู่ยาว ? บนเส้นทาง“สุดวิบาก”

สัญญาณ “บิ๊กตู่” อยู่ยาว ?   บนเส้นทาง“สุดวิบาก”

สัญญาณ "ยุบสภา" หลังเสร็จสิ้นประชุมเอปค ท่ามกลางปมร้อนที่รออยู่ข้างหน้าอาจทำให้ "รัฐบาลประยุทธ์" ต้องลากยาวบนเส้นทางที่สุดวิบาก

สิ้นเสียง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ประกาศกลางวงดินเนอร์พรรคเล็กเมื่อวันที่14มี.ค.ที่ผ่านมา “จะยุบสภาฯ หลังจบการประชุมเอเปค”  

บรรดาคอการเมืองต่างวิเคราะห์ไปถึงสัญญาณเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

อันที่จริงไทม์ไลน์ดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเหนือความคาดหมาย เพราะหากนับตั้งแต่ที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารผ่านประเทศ เฉพาะในส่วนที่มาตามกระบวนการเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.2562 อายุรัฐบาลจะครบ 4 ปี ในวันที่ 24 มี.ค.2566 

ฉะนั้น หากจะนับไทม์ไลน์ ตามที่ “บิ๊กป้อม” ระบุว่าจะยุบสภาหลังจบเอเปค คือเดือน ธ.ค.2565 บวกลบคูณหารคร่าวๆ ตามกฎหมายที่ระบุให้ กกต.ต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ภายใน 45-60 วัน นับแต่วัันประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ก็อาจจะเกิดขึ้นช่วงเดือน ก.พ.2566 

นับรวมกับที่ กกต.จะรับรองผลการเลือกตั้ง ก็อาจจะเข้าสู่เดือน มี.ค.2566 ซึ่งก็จะไล่เลี่ยกับระยะเวลาครบอายุของรัฐบาลพอดี

เว้นเสียแต่ว่า จะมี “อุบัติเหตุการเมือง” หรือ “ปัจจัยแวดล้อม” บางประการที่อาจเหนือความคาดหมาย เมื่อนั้นก็อาจทำให้ไทม์ไลน์ดังกล่าวต้องขยับช้า หรือเร็ว ตามไปด้วย 

แม้แต่ “ผู้มีอำนาจ”เบ็ดเสร็จในการประกาศยุบสภา คือตัว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ล่าสุด ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า “นายกฯจะเป็นผู้ตัดสินในสถานการณ์ที่เหมาะสม”

ยังไม่นับรวมศึกใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า ทั้งการ“อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงสมัยประชุมในเดือน พ.ค.นี้

รอบนี้ฝ่ายค้านจั่วหัวเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังสิ้นศึก โดยขยี้ไปที่ "แผลใหญ่" ทั้งเรื่องคะแนนความนิยมในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ท่ามกลางสถานการณ์โควิด

รวมถึงประเด็นเสถียรภาพรัฐบาล ซึ่งศึกซักฟอกรอบที่แล้วสื่อนัยทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด 

ยังไม่นับรวม ในส่วนของ “แผนล้มกระดาน” ที่แม้พรรคร่วมรัฐบาลทั้งภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ หรือชาติไทยพัฒนาจะให้สัญญาใจ ประคองเรือเหล็กประยุทธ์ไปถึงฝั่ง

หรือ“บิ๊กป้อม” ที่ยืนยันเสียงแข็งหลังเสร็จสิ้นดินเนอร์พรรคเล็กว่า ได้เคลียร์จบทุกกระบวนความ 

ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีเสี้ยนหนามสำคัญนั่นคือ “ก๊วนสหายผู้กอง” ภายใต้การนำของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย ที่เวลานี้ ไม่ได้ว่านอนสอนง่ายอย่างที่คิด

แม้ “บิ๊กป้อม” จะออกมายืนยัน ไม่ได้อยู่เบื้องหลังเกมล้มรัฐบาล และพรรคเศรษฐกิจไทยสนับสนุนรัฐบาล แต่ที่คุมไม่ได้มีเพียง “ธรรมนัส”เสียงเดียวเท่านั้น

ทว่าคำพูดของ “บิ๊กป้อม” ที่บอกว่า เป็นผู้ดูแลพรรคเล็กแต่เพียงผู้เดียว ไม่เกี่ยวกับผู้กองธรรมนัส ดูเหมือนจะสวนทางกับท่าทีพรรคเล็ก เมื่อ “คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย เปิดเกมยื่นหมูยื่นแมว ด้วย 30 เสียงที่มีในมือ และสามารถโหวตในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ ซึ่งจำนวนนี้รวมไปถึงพรรคเศรษฐกิจไทยของ “ผู้กองธรรมนัส” ด้วย

อีกหนึ่งเส้นทางวิบากที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะต้องเผชิญหลังจากนี้คือ “เส้นตาย 8 ปี” ที่มีความพยายามหยิบยกประเด็นนี้ ในการดึง พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากเก้าอี้ สร.1 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

โดยเฉพาะขั้วฝ่ายค้านที่ตั้งป้อมเตรียมยื่นตีความสถานภาพความนายกฯ ในเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้

โดยมองว่า บทบัญญัติมาตรา 158 วรรคสี่ แห่งรัฐธรรมนูญ ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

ฉะนั้นหากจะนับอายุวาระนายกฯ นับตั้งแต่รัฐบาล คสช.เมื่อปี 2557 เท่ากับว่าสถานภาพของพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องสิ้นสุดลงในเดือน ส.ค.2565 

แม้ฝั่งที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามหยิบชุดความคิด ที่อิงตามรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว)2557 ซึ่งเท่ากับว่า สถานะภาพ พล.อ.ประยุทธ์จะสิ้นสุดในปี 2570

แต่ถึงเวลาจริง เชื่อว่าประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะกลายเป็นข้อถกเถียงเรื่องบรรทัดฐานการเมืองไทยแบบไม่หยุดหย่อน

ทำไปทำมา การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะ “อยู่ยาว” เอาเข้าจริง อาจต้องดำเนินต่อไปบนเส้นทางที่ “สุดวิบาก” !!