เปิดสถิติ "ยุบสภา" มาแล้วกี่ครั้ง ก่อน "ประวิตร" ส่งสัญญาณเลือกตั้งต้นปี 65

เปิดสถิติ "ยุบสภา" มาแล้วกี่ครั้ง ก่อน "ประวิตร" ส่งสัญญาณเลือกตั้งต้นปี 65

เปิดสถิติ "ยุบสภา" มาแล้วกี่ครั้ง ก่อน "ประวิตร" ส่งสัญญาณเลือกตั้งใหญ่ต้นปี 65 หลายฝ่ายกำลังจับตาว่าจะนำไปสู่สถิติการยุบสภาครั้งที่ 15 หรือไม่

จากกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ส่งสัญญาณ "ยุบสภา" ภายหลังรัฐบาลเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 และจะมีการเลือกตั้งเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยในต้นปี 2565 ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข่าวการยุบสภาเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้

กระแสข่าวการยุบสภาในทางการเมืองแทบทุกครั้งจะเกิดในช่วงรัฐบาลขาลง จากสาเหตุการบริหารจัดการภายในของพรรคร่วมรัฐบาล หรือมาจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลแต่ละยุค 

โดยเฉพาะการยุบสภา 3 ครั้งหลังสุดในสมัยรัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" ในปี 2543 รัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ในปี 2554 และรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในปี 2556 

แน่นอนว่าการยุบสภาแต่ละครั้ง นำไปสู่การรีเซตทางการเมือง คืนอำนาจให้ประชาชนผ่านระบบการเลือกตั้ง ซึ่งการยุบสภาในฐานะ "อำนาจสุดท้าย" ของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ล้วนแล้วเป็นหนึ่งในหมุดประวัติศาสตร์ที่เป็นพลวัตรมาถึงทางการเมืองทุกวันนี้

เปิดสถิติ \"ยุบสภา\" มาแล้วกี่ครั้ง ก่อน \"ประวิตร\" ส่งสัญญาณเลือกตั้งต้นปี 65 น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงการณ์ประกาศยุบสภา ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ย้อนรอยสถิติ "ยุบสภา" ของไทย 75 ปี ตั้งแต่ปี 2481-2556 ไล่เรียง ประกอบด้วย 

ครั้งที่ 1 

วันที่ 11 ก.ย.2481 ในรัฐบาล พันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลจขัดแย้งกับสภาเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ

ครั้งที่ 2

วันที่ 14 ต.ค.2488 ในรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสภายืดอายุมานานในช่วงสงคราม หลังจากได้มีพระรชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ครั้ง เนื่องจากไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งในระหว่างสงครามขณะนั้นได้ ทำให้ ส.ส.ชุดดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งนานเกินควร

ครั้งที่ 3

วันที่ 16 ธ.ค.2516 ในรัฐบาล นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสมาชิกสภานิติบัญญัติลาออกเหลือ 11 คน จนไม่สามารถทำหน้าที่ของสภาได้ 

ครั้งที่ 4 

วันที่ 12 ม.ค.2519 ในรัฐบาล ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมในขณะนั้นอย่างรุนแรง อันเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน

ครั้งที่ 5 

วันที่ 19 มี.ค.2526 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

ครั้งที่ 6 

วันที่ 1 พ.ค.2529 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี  เนื่องจากรัฐบาลขัดแย้งกับสภากรณีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 

เปิดสถิติ \"ยุบสภา\" มาแล้วกี่ครั้ง ก่อน \"ประวิตร\" ส่งสัญญาณเลือกตั้งต้นปี 65

ครั้งที่ 7 

วันที่ 29 เม.ย.2531 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาล ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาล และส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน 

ครั้งที่ 8 

วันที่ 30 มิ.ย.2535 ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อยุบสภาภายหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเดือน พ.ค.2535

ครั้งที่ 9 

วันที่ 19 พ.ค.2538 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล ในหลายพรรคการเมืองและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจนไม่สามารถจะดำเนินการในทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ ประกอบกับมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) 

ครั้งที่ 10

วันที่ 29 ก.ย.2539 ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล ภายหลังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย.2539 โดยฝ่ายค้านเน้นอภิปรายที่ตัวนายบรรหาร เรื่องประเด็นสัญชาติ เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลมีมติร่วมกันว่าจะขอให้นายบรรหาร ศิลปอาซา ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายบรรหารประกาศจะลาออกภายใน 7 วัน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นนายกฯ ก่อนจะเปลี่ยนใจประกาศยุบสภาในท้ายที่สุด

ครั้งที่ 11

วันที่ 9 พ.ย.2543 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปฏิบัติภารกิจสำคัญแล้วเสร็จหรือลุล่วงลง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 

ครั้งที่ 12 

วันที่ 24 ก.พ.2549 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการขับไล่นายกรัฐมนตรี จากข้อเรียกร้องในทางการเมือง และได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ถึงแม้รัฐบาลขณะนั้นได้เปิดให้มีการอภิปรายโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภา ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล

ครั้งที่ 13

วันที่ 10 พ.ค.2554 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการขับไล่นายกรัฐมนตรี ประกอบกับรัฐสภาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550 ไปเรียบร้อยแล้ว 

ครั้งที่ 14 

วันที่ 9 ธ.ค.2556 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการคัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในปี 2556 

สำหรับการ "ยุบสภา" ทุกครั้งจะมีคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เพื่อให้ประเทศไม่เป็นสุญญากาศในการบริหาร แต่รัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้

1.ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก่อน

2.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

3.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป

4.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต.กำหนด

ส่วนการ "ยุบสภา" มีผลความได้เปรียบของรัฐบาลชุดก่อน ที่คุมเกมกำหนดระยะเวลาเตรียมพร้อมก่อนการเลือกตั้ง โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 103 วรรคสอง บัญญัตแนวการปฏิบัติไว้ว่า 

"การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกาจะใช้บังคับเมื่อใดแล้วแต่กำหนดไว้ในนั้นเองแต่ต้องหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ"

ขณะที่กรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 102 กำหนดว่า "เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตรา พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกต้ังทั่วไปภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ"

การส่งสัญญาณจาก พล.อ.ประวิตรในครั้งนี้ หลายฝ่ายกำลังจับตาว่าจะนำไปสู่สถิติการยุบสภาครั้งที่ 15 หรือไม่ ?!

เปิดสถิติ \"ยุบสภา\" มาแล้วกี่ครั้ง ก่อน \"ประวิตร\" ส่งสัญญาณเลือกตั้งต้นปี 65