"อานันท์" แนะวิธีแก้ปัญหาการเมือง เขียน "รธน." ยึดการปกครองระบอบ "รธน."

"อานันท์" แนะวิธีแก้ปัญหาการเมือง เขียน "รธน." ยึดการปกครองระบอบ "รธน."

"อานันท์" ห่วงเกิดวิกฤตการเมือง ชี้สถานกาณ์ส่อเลวร้ายกว่าเดิม เหตุคนจนลง-รู้ข้อมูลมากขึ้น แนะวิธีแก้ปัญหา เขียนรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ชี้ ทหาร ปฏิวัติมีแต่ผลลบ

              นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึงบทเรียน  30 ปี เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สังคมไทยได้อะไรในการพัฒนาประชาธิปไตย ว่า ตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบบการปกครองพระเจ้าแผ่นดินใต้รัฐธรรมนูญ ในปี 2475 จนถึงปัจจุบัน โดย รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินไม่ไปตามความต้องการของประชาชน มีการโกง คอรัปชั่น จากนั้นทหารเข้ามาปฏิวัติ   ทั้งนี้การบ่มนิยมของการเป็นประชาธิปไตย ใน 79 ปีที่ผ่านมาพบว่าเมืองไทยไม่ดีขึ้น พบการฉ้อโกงของเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร พลเรือน พ่อค้า นักธุรกิจ ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่สนใจประวัติศาสตร์ จึงทำให้ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

               นายอานันท์ ยังกล่าวด้วยว่าเมื่อทุกครั้งรัฐมีปัญหา และแก้ด้วยการยึดอำนาจ ให้ทหารปกครอง หรือร่วมงานปกครอง พบว่าดีขึ้นชั่วคราว แต่สุดท้ายจะกลับไปแบบเดิม คือ ไม่สำเร็จ ทั้งนี้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์พูดชัดว่าถ้าทุกครั้ง เราใช้วิธีการทดลองแบบเก่า แล้วคาดหวังว่าผลลัพธ์ดีขึ้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมองให้ลึกซึ้งแล้ว  พบว่าการแแก้ปัญหาโดยใช้อำนาจ ยากให้เป็นผลลัพธ์ แม้การบริหารประเทศชาติ รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ แต่​รัฐต้องใช้อำนาจที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ สร้างความเข้าใจ ไม่ใช่ใช้อำนาจเพื่อสร้างความเกลียดชัง

              "หน้าที่ของรัฐบาล คือการสร้างความสามัคคีปรองดอง แต่ความสามัคคีกับความปรองดอง  เกิดจากสูญญากาศไม่ได้ โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร รัฐบาลที่เข้ามาใช้วิธีการซ้ำซาก จับคนทำโทษคน ใช้กฎหมายเล่นงานคน ต่างฝ่ายต่างมองเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน ไม่มีการยอมถอยกันแม้แต่นิดเดียว เมื่อประชาชนส่งเสียงมากขึ้น รัฐบาลต้องฟังและสร้างความเข้าใจ สร้างความเห็นอกเห็นใจ หากฝ่ายหนึ่งบอกว่าฉันมีอำนาจคุณต้องฟัง แบบนี้ปรองดองกันไม่ได้”นายอานันท์ กล่าว

 

              เมื่อถามถึงมุมมองว่า หากสังคมไทยไม่ปรองดอง จนเกิดความขัดแย้ง เผชิญหน้า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรง  นายอานันท์ กล่าวโดยเชื่อว่าจะเกิดวิกฤตในเมืองไทย และจะเป็นวิกฤตหนักกว่าเดิม เพราะ จากการที่ล้มรัฐบาล ยึดอำนาจ  เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ฝ่ายตนเองบริหารราชการแผ่นดิน โดยทำซ้ำซากมาเป็น 18 -19 ครั้ง ในระยะเวลา 78-79 ปี ผลลัพธ์ที่ได้เห็นทันตา คือ ความจนของราษฎร มีแต่เลวลงๆ ขณะที่โลกพัฒนา การสื่อสารรวดเร็ว สื่อโซเชียลมีเดียมีข้อมูลมากขึ้น การรับข้อมูลมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับความจริง ทำให้เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น

 

              " ไม่ต้องพูดถึงระบบการบริหารเลยเพราะเลวลง เรื่องธรรมาภิบาลไม่มีใครสนใจแล้ว  มีแต่ว่าใครจะเอาอะไรได้มากแค่ไหน แต่แล้วในสังคมที่ทรัพยากรส่วนใหญ่ ไปที่ชั้นบนหมด ไปอยู่กับคนไม่กี่ 10 หรือไม่กี่ 100 คน แต่คนข้างล่างอีก 95% หรือ 60 ล้าน 70 ล้านแทบจะไม่มีใครเห็นหัว ดังนั้นจึงเกิดความน้อยใจเกิดความอึดอัดใจ เกิดความเดือดดาลขึ้นมา ก็ทำให้บรรยากาศที่จะปรองดองกันก็ยากขึ้น” นายอานันท์ กล่าว

              อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยตนไม่แน่ใจว่าหากขอร้องให้ทหารอย่ารัฐประหาร จะสำเร็จหรือไม่ แต่การเข้ามาสู่อำนาจของทหาร แม้จะบริหารเป็นหรือไม่ จะเกิดผลลบทั้งนั้น เพาะไม่สอนให้สังคมรู้จักประชาธิปไตย  

 

              นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาการเมืองสิ่งที่ต้องทำคือ เขียนรัฐธรรมนูญที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของสังคม ที่ผ่านมา แม้จะพูดถึงรัฐบาลที่มาจากประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.​มีอิสรภาพในการพูดแสดงความเห็น เสรีภาพในการชุมนุม กฎหมายต้องมีความยุติธรรม โปร่งใสเสมอภาค แต่สิ่งที่ไม่ค่อยพูดถึงคือ การปกครองโดยระบอบรัฐธรรมนูญ ที่เสียงข้างมากเคารพเสียงข้างน้อย โดยช่วงที่ตนมีบทบาทร่วมเขียนรัฐรรมนูญ พ.ศ.2540 มองว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญให้คนกินได้ไม่พอ ต้องมีโครงสร้างของประเทศ มีเรื่องการศึกษา โครงสร้างการเมือง ที่อิงกับหลักการประชาธิปไตย สร้างกลไกใหม่ๆ ให้คานอำนาจกัน แต่เวลาผ่านไป 20 ปีบางมาตราหรือบางบทใช้ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลง  แต่ต้องคงหลักการใหญ่ไว้

 

              "สิ่งที่ทำนั้นไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือนโยบายรัฐบาล ต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม  ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อบังคับใช้เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ 100 -200 ปี นอกจาก เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ใส่รายละเอียดจนเกินไป  มีหลักการใหญ่ๆ ไว้ เช่น ของสหรัฐอเมริกา  สำหรับเรื่องประชาธิปไตย ผมมองว่าหากให้ประชาธิปไตยอยู่ได้ต้องเห็นอกเห็นใจ เห็นผลประโยชน์ของเสียงข้างน้อยด้วย ต้องประนีประนอม ต้องทำงานร่วมกันพูดคุยกัน ความเห็นที่แตกต่างกันเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ในกรอบของการเมืองไทยเวลาเป็นศัตรูกันก็เป็นศัตรูที่ถาวรเลย” นายอานันท์ กล่าว.