สรุปคำวินิจฉัยคดีบ้านเอื้อฯ คุก “วัฒนา” 99 ปี รู้เห็นข่มขืนใจเรียกเงินเอกชน

สรุปคำวินิจฉัยคดีบ้านเอื้อฯ คุก “วัฒนา” 99 ปี รู้เห็นข่มขืนใจเรียกเงินเอกชน

สรุปคำวินิจฉัย “องค์คณะอุทธรณ์” ยืนตามศาลฎีกา สั่งคุก “วัฒนา เมืองสุข” 99 ปี คงจำคุก 50 ปี เหตุรู้เห็นการกระทำกับ “เสี่ยเปี๋ยง” ข่มขืนใจ เรียกรับเงินจากเอกชน ทำโครงการ “บ้านเอื้ออาทร” แก้ประเด็นริบทรัพย์ สั่งชดใช้คนละ 89 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาขององค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ในศาลฎีกา คดีบ้านเอื้ออาทร ที่มีนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 14 ราย เป็นจำเลย

ล่าสุด องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลฎีกา ว่า นายวัฒนา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 รวมความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี คงจำคุกจริง 50 ปี และให้ร่วมกับจำเลยอื่นๆ ชดใช้เงินจำนวน 89 ล้านบาท

อ่านข่าว: ปิดฉากคดีบ้านเอื้อฯ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ยืนคุก "วัฒนา" 99 ปี ชดใช้ 89 ล้าน

ทั้งนี้เอกสารคำวินิจฉัยของศาลฎีกา สรุปข้อเท็จจริงกรณีนี้ว่า โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 (นายวัฒนา) กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเอง หรือผู้อื่นหรือไม่นั้น

เห็นว่า ขณะที่มีการไต่สวนโครงการบ้านเอื้ออาทร ระยะที่ 4 พ.ร.บ.ป.ป.ช.ยังไม่มีบทบัญญัติการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ (คตส.) ที่จะกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นพยานได้ เมื่อการสอบถ้อยคำพยานเป็นประโยชน์ต่อการไต่สวน เมื่อมิได้มีการจูงใจให้พยานต้องการให้ผิดไปจากมูลความจริง 

และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนได้กำหนดเนื้อหาที่พยานต้องการไว้เป็นการล่วงหน้า หรือมีการชี้นำพยานว่า ต้องให้การยืนยันไปในทางใด พยานมีอิสระที่จะให้การไปตามความรู้เห็นของตน จึงมิได้เป็นพยานชนิดที่เกิดขึ้นจากการจูงใจหรือมีคำมั่นสัญญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 และรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริงได้

ขณะจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีการจัดทำหนังสือนำส่งเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โดยระบุชื่อ จำเลยที่ 4 (นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ "เสี่ยเปี๋ยง" นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่) ในฐานะที่ปรึกษาจำเลยที่ 1 (นายวัฒนา) หลายครั้ง จำเลยที่ 5 (น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทนายอภิชาติ) อ้างว่าจำเลยที่ 4 เป็นทีมงานที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 

จำเลยที่ 3 (นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) แจ้งนางอาภรณ์ พนักงานการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นทีมเลขานุการของผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ ว่า จำเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 อย่างไม่เป็นทางการ

จำเลยที่ 1 เข้าร่วมประชุมมอบนโยบายให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์พิจารณาโครงการบ้านเอื้ออาทรใหม่ และจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้ผู้ประกอบการดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร แม้ผู้ประกอบการบางรายได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างไปแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนหลักเกณฑ์โครงการบ้านเอื้ออาทร โดยผู้ประกอบการต้องวางหลักประกันมูลค่าร้อยละ 5 และได้รับเงินล่วงหน้าจากการเคหะแห่งชาติ ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการเกี่ยวกับการจ่ายเงิน ล่วงหน้าให้กับผู้ประกอบการ

เมื่อจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 4 แสดงออกว่าเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ประกอบกับมีการเรียกเงินจำนวนมากจากผู้ประกอบการหลายรายเกี่ยวพันกับโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของจำเลยที่ 1 แล้ว ลำพังจำเลยที่ 1 รู้เห็น การกระทำของจำเลยที่ 4 ด้วย

ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมข่มขืนใจ หรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นำเงินมอบให้ เพื่อตอบแทนที่การเคหะแห่งชาติ อนุมัติให้เข้าทำสัญญาตามฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

  • สั่งแก้ประเด็น “ริบทรัพย์” ให้ “วัฒนา-พวก” ชดใช้ 89 ล้านบาท

ประเด็นการริบทรัพย์สินนั้น เห็นว่า เมื่อเงินที่จำเลยที่ 1 กับพวก ได้มาเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 42, 43 ยังไม่มีผลบังคับใช้ และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์สิน จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญาใช้บังคับแทน

แม้โจทก์ไม่ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (2) แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบเงินแล้ว ศาลจึงมีอำนาจริบเงินได้ ทั้งต้องปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี อันมีผลถึงจำเลยอื่นที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย สำหรับ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 44 เป็นมาตรการเพื่อการบังคับให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ศาลริบ จึงนำมาใช้บังคับให้จำเลยที่ 1 ส่งเงินที่ริบ โดยชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบพร้อมด้วยดอกเบี้ยได้

ประเด็นการริบเงิน 89 ล้านบาท ตามอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เห็นว่า การจ่ายเงิน 89 ล้านบาท ให้จำเลยที่ 7 (น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด) เป็นการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนข้อตกลงในการผลักดันโครงการบ้านเอื้ออาทรของบริษัท ซ. โครงการอื่นนอกจากโครงการบ้านเอื้ออาทร ส. เงินจำนวน 89 ล้านบาท จึงเป็นเงินที่สัมพันธ์กับเงินสินบนที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกให้กับโครงการบ้านเอื้ออาทรของบริษัท ซ. เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่ศาลมีอำนาจริบได้

พิพากษาแก้ว่า ไม่ปรับบทตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 42, 43 แต่ให้ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (2) ริบเงิน 89 ล้านบาทด้วย โดยให้จำเลยผู้มีหน้าที่ต้องส่งเงิน 89 ล้านบาท ที่ริบชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา หากจำเลยที่ 1, 4-8 และ 10 ไม่ชำระเงินภายในระยะเวลากำหนด ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 24 ก.ย.2564 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 เม.ย. 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ

โดยให้จำเลยที่ 1, 4-8 ร่วมกันชำระเงินแทนตามมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกคนละ 89 ล้านบาท จากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกำหนดไว้

นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สรุปคำวินิจฉัยคดีบ้านเอื้อฯ คุก “วัฒนา” 99 ปี รู้เห็นข่มขืนใจเรียกเงินเอกชน

สรุปคำวินิจฉัยคดีบ้านเอื้อฯ คุก “วัฒนา” 99 ปี รู้เห็นข่มขืนใจเรียกเงินเอกชน

  • เปิดชื่อจำเลย 14 ราย "กี้ร์ อริสมันต์" หนี

คดีนี้มีจำเลยด้วยกัน 14 ราย ได้แก่

1.นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร

2.นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติและอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการระหว่างวันที่ 9 ก.ย. 2548 – 19 ก.ย. 2549

3.นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย

4.นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ "เสี่ยเปี๋ยง" นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่

5.น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร

6.น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด

7.น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด

8.บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน

9.บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน

10.นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย (ปัจจุบันหลบหนีคดี)

11.บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด

12.บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย

13.บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง

14.น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์