"เรือดำน้ำลำแรก" ส่อโมฆะ "ไทย-จีน" เข้าโหมดหยวนๆ

"เรือดำน้ำลำแรก"  ส่อโมฆะ "ไทย-จีน" เข้าโหมดหยวนๆ

"กองทัพเรือ" คาดหวังผลเจรจาระหว่าง "จีน-เยอรมัน" เป็นไปในทิศทางที่ดี มิเช่นนั้น "เรือดำน้ำ" จะกลายเป็นมหากาพย์ถูกหยิบยกมาโจมตี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ กองทัพเรือ ไปอีกนานเท่านาน

"กองทัพเรือ" ระงับการส่งเงินผ่อนค่างวด "เรือดำน้ำ" ลำแรก กว่า 6,000 ล้านบาท หลังจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์
MTU396 ของเยอรมันมาติดตั้งได้ตามสัญญา โดยก่อนหน้านี้ได้ชำระไปแล้วกว่า 7,000 ล้านบาท จากราคา 13,500 ล้านบาท และตามกำหนดเรือดำน้ำลำแรก ต้องเดินทางมาถึงประเทศไทยประมาณกลางปี 2557 

หากย้อนไปในช่วงที่มีการทำสัญญาระหว่างจีน กับไทย เดินหน้าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26Tชั้นหยวน ซึ่งตามข้อตกลงสำคัญคือเครื่องยนต์จากเยอรมัน  เนื่องจากในขณะนั้นมีกลุ่มทุนของเยอรมันผลิตเครื่องยนต์และมีโรงงานผลิตในจีน ซึ่งมีสัญญาและข้อตกลงร่วมกันระหว่างจีนและเยอรมัน ว่า เครื่องยนต์เยอรมันที่ผลิตในจีนจะต้องขายให้กับจีนเท่านั้น

แต่จากสถานการณ์ข้อพิพาททะเลจีนใต้ในห้วงที่ผ่านมา "จีน-สหรัฐฯ" งัดข้อกันแรงสุด จนเกิดแรงสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นพอสมควร ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า เยอรมันไม่ยอมขายเครื่องยนต์ให้จีนติดตั้งเรือดำน้ำของไทย มาจากปัญหาการเมือง เนื่องจากเยอรมันก็เป็นหนึ่งในสมาชิกอียู และมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับสหรัฐ

เมื่อไม่นานมานี้ "เยอรมัน" มีนโยบายระงับการส่งออก(Embargo Policy) ซึ่งกำหนดให้เครื่องยนต์ดีเซลเรือดำน้ำ เป็นสินค้าที่อยู่ในรายการควบคุมการส่งออก ส่งผลให้การจำหน่ายเครื่องยนต์ อะไหล่ หรือเครื่องยนต์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเยอรมัน ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเยอรมัน จึงทำให้ไทยได้รับผลกระทบในการเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำลำแรกไปเต็มๆ  

จีนได้ยื่นข้อเสนอให้กองทัพเรือไทย โดยประสานผ่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้วยการยก เรือดำน้ำชั้นซ่ง (Song) มือสอง 2 ลำ ฟรีๆ ให้ฝึกศึกษา  ในฐานะมิตรประเทศ ซึ่งโครงสร้างภายในเรือใกล้เคียงกับ เรือดำน้ำ S26T ชั้นหยวน แต่ต้องนำไปปรับปรุงยืดอายุใช้งานในระหว่างรอติดตั้งเครื่องยนต์ของเยอรมัน  หรือ อีกแนวทางเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ที่จีนผลิตเอง แต่จะให้บริษัทเยอรมันรับรอง

พล...สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ตั้งทีมงานขึ้นมาพิจารณารายละเอียดในข้อเสนอถึงความคุ้มค่า ก่อนนำไปเจรจากับทางจีนโดยได้ข้อสรุปว่า

1.กองทัพเรือไทย ยืนยันความต้องการตามทีโออาร์ที่ทำเอาไว้ตามสัญญาเดิม และไม่ยอมเปลี่ยนสัญญาด้วยการนำเครื่องยนต์อื่นมาติดตั้งเรือดำน้ำของไทย โดยทุกอย่างจะต้องเดินไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้  พร้อมปฏิเสธข้อเสนอเรือดำน้ำ 2 ลำ ฟรีมาฝึกก่อน  เนื่องจากต้องใช้งบประมาณพอสมควรในการปรับปรุงยืดอายุการใช้งาน อีกทั้งเรือทั้งสองลำมีอายุใช้งานกว่า 10 ปี โดยเฉพาะความปลอดภัยกำลังพล

ในขณะที่จีนรับปากจะดำเนินการให้ตามความต้องการของไทย โดยขอเวลาเจราจากับเยอรมัน แต่ยอมรับว่า เยอรมันมีท่าทีค่อนข้างแข็ง และไม่ยอม โดยอ้างว่านโยบายการระงับการส่งออก(Embargo Policy) ที่กำหนดให้เครื่องยนต์ดีเซลเรือดำน้ำ เป็นสินค้าที่อยู่ในรายการควบคุมการส่งออกปฏิบัติตามกฎของอียู

2. กรณีจีนเจรจากับเยอรมันไม่สำเร็จ ทางออกคือการแก้สัญญา ซึ่งอาจถูกโจมตี จากบริษัทที่เคยร่วมกันประมูลการจัดหาเรือดำน้้ำก่อนหน้านี้ หรือแม้แต่ฝ่ายการเมืองอาจนำไปประเด็นไปโจมตีทางการเมืองเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล และ กองทัพเรือ

หรือ แนวทางที่ 3. จะเป็นไปได้หรือไม่ ว่าเอาเรือดำน้ำชั้นซ่ง 2 ลำมาใช้ แต่จีนต้องปรับปรุงให้เรียบร้อย พร้อมใช้งานได้ทันทีเมื่อเดินทางมาถึงไทย เพราะขณะนี้โครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น ก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ ก็ดำเนินการอยู่ ฉะนั้นหา กองทัพเรือ ไม่ได้เรือดำน้ำลำแรก (S26T ชั้นหยวน) แต่ได้เรือดำน้ำมาฝึก2ลำแทน (ชั้นซ่ง) ถือเป็นผลดีกับกองทัพเรือที่ได้มีการฝึกต่างๆ

สำหรับอนาคตของเรือดำน้ำลำแรก(S26T ชั้นหยวน) เป็นไปได้หลายทาง ขึ้นอยู่กับคณะทำงานจะตกลงใจอย่างไร แต่หากไม่สามารถหาเครื่องยนต์เยอรมันมาติดตั้งให้เรือดำน้ำไทย สัญญาก็เดินต่อไม่ได้ ผิด ทีโออาร์ด้วยกันทั้งคู่ นำไปสู่การยกเลิกสัญญาเรือดำน้ำลำแรก  ส่วน ลำที่ 2 และ 3 อาจทำสัญญากันใหม่ได้

ในขณะเงินที่จ่ายค่างวดเรือดำน้ำลำแรกไปก่อนหน้านี้ จำนวนกว่า 7,000 ล้าน เท่ากับ เป็นค่าใช้จ่ายปรับปรุงและยืดอายุการใช้งาน เรือดำน้ำฝึก 2 ลำ(ชั้นซ่ง)ให้ออกมาดีที่สุด  รวมถึงการติดตั้งระบบอาวุธอื่นๆ

" ผบ.ทร.พยายามให้จบปัญหาเรื่องเรือดำน้ำ ก็เอาที่ 1 ลำ ก่อน หากมีเงินค่อยซื้อลำที่ 2 และ 3 แต่พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา เหมือนต้องมานั่งนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด ใจจริงแล้ว กองทัพเรือ อยากให้เป็นไปตามทีโออาร์เดิม ก็จะแฮปปี้ ไม่ต้องไปทะเลาะกับใคร  เพราะเรายกเลิกเรือดำน้ำลำที่ 2และ 3 ไปแล้ว ไม่อยากให้มีประเด็นอื่นตามมาอีก แต่ดูแล้วไม่จบ" แหล่งข่าวกองทัพเรือ ระบุ

แม้ "กองทัพเรือ" พยายามหาจุดกึ่งกลางเพื่อรักษาผลประโยชน์ไว้ให้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะต้องไม่ลืมว่า โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26Tชั้นหยวน เป็นการซื้อแบบจีทูจี หรือ รัฐต่อรัฐ 

โดยเฉพาะที่ผ่านมาจีนก็อะลุ่มอะหล่วยให้ไทยพอสมควร หลังผิดสัญญาซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 หลายครั้ง หากคิดค่าปรับก็เป็นเงินจำนวนไม่น้อย ในขณะเดียวกันเมื่อจีนประสบปัญหาก็ต้องหาทางพูดคุยเจรจาเพื่อหาจุดที่ลงตัวที่สุด แต่ต้องไม่ให้กองทัพเรือเสียผลประโยชน์

ทั้งนี้ "กองทัพเรือ" คาดหวังผลการเจรจาระหว่างจีนกับเยอรมันเป็นไปในทิศทางที่ดี มิเช่นนั้น "เรือดำน้ำ" จะกลายเป็นมหากาพย์ถูกหยิบยกมาโจมตี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ กองทัพเรือ ได้อีกนานเท่านาน