จับตาเกมแก้ “กม.ลูก" กลยุทธ์ “3 ป.” ดับฝัน “แลนด์สไลด์"

 จับตาเกมแก้ “กม.ลูก" กลยุทธ์ “3 ป.” ดับฝัน “แลนด์สไลด์"

ก่อนที่ การแก้กฎหมายลูก ที่จะเริ่มลงเนื้อหากฎหมาย สัปดาห์หน้า มีข่าวแพร่สะพัด ถึงความต้องการ ผู้มีอำนาจ ที่อยากสร้างกติกาเพื่อลดความได้เปรียบของ "พรรคเพื่อไทย" ผ่านสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

          แม้ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกอาการแปลกใจที่ ขุนพลข้างกาย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พลาดเก้าอี้ “ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ”

 

          เพราะที่ประชุม ออกเสียงสนับสนุน “สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข ฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้านี้ โดยผลลงคะแนนออกมาแบบเบียดบี้ ชนะแค่ 1 เสียง

 

          กับคนเดินเกมนี้ ไม่บอกก็รู้ว่ามาจากไหน และใครจับมือกับใคร เพราะ คนที่เปิดประเด็นนี้ มาจาก “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ส่วนคนเสนอชื่อ “สาธิต” ในที่ประชุม คือ “เกษมสันต์ มีทิพย์” ส.ส.ก้าวไกล ที่มีสถานะเป็น “งูเห่าถูกดอง” และปัจจุบันทำงานให้กับ “พรรคภูมิใจไทย”

 

          อย่างไรก็ดี ในประเด็นใครเป็น ประธานนั้น ฟากฝั่งของ ฝ่ายค้าน “สมคิด เชื้อคง” ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย มองว่า ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะบทบาทของประธาน กมธ.คือการกำกับ ควบคุมการประชุมเท่านั้น แต่หากถึงจุดชี้ขาดในมาตราใด ที่ใช้เสียงข้างมากสู้กัน คนที่นั่งเป็นกรรมาธิการ คือผู้ตัดสิน

 

          สำหรับประเด็นที่ “สมคิด” คาดว่าจะยกมือสู้กัน อาทิ เบอร์ผู้สมัครในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกกตั้ง ส.ส.ที่ร่างหลัก เขียนให้ใช้คนละเบอร์ แต่ของ “ฝ่ายค้าน” ให้ใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ และจุดนี้เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาล เช่น “ประชาธิปัตย์” จะสนับสนุน

 จับตาเกมแก้ “กม.ลูก\" กลยุทธ์ “3 ป.” ดับฝัน “แลนด์สไลด์\"

          เพราะ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ได้อภิปรายแสดงความเห็นต่อที่ประชุมรัฐสภา ต่อมาคือการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ต้องเป็นธรรมทุกฝ่าย รวมถึงสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 จับตาเกมแก้ “กม.ลูก\" กลยุทธ์ “3 ป.” ดับฝัน “แลนด์สไลด์\"

          ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ตามหลักการที่ผ่านเข้าสู่กรรมาธิการทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ใช้สูตรคำนวณแบบคู่ขนาน หารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แต่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง เพื่อแก้เกมแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย ด้วยการฟื้นสูตร “ปันส่วนผสม”

 

          โดยใช้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่คำนึงถึงทุกเสียงของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และความในมาตรา 93 และ 94 ที่ไม่ถูกแก้ไข 

 

          ขณะที่ความของมาตรา 91 ว่าด้วยการคำนวณสัดส่วนส.ส.บัญญชีรายชื่อที่ถูกปรับแก้ และมีคำสำคัญกำกับว่า “การคำนวณเพื่อแบ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ต้องเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับคะแนนรวม ที่หารเฉลี่ยมาจากคะแนนรวมทั้งประเทศ”

 

          ต่อเรื่องนี้ “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” ส.ว. ให้ทัศนะว่าทำได้ เช่นเดียวกับ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต.ฐานะกรรมาธิการฯ

 

          โดย “สมชัย” บอกว่า สูตรคำนวณแบบคู่ขนาน แบบใช้ 100 หาร ตามร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 4 ฉบับที่รับหลักการ จะทำให้ส.ส.บัญชีรายชื่อเฉลี่ย 1 คน ต้องใช้คะแนน 3.5แสนคะแนน แต่มีกระแสว่าจะให้หวนไปใช้ ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้ 500 หาร เพราะเมื่อคำนวณแล้ว ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จะใช้ 7 หมื่นคะแนน

 จับตาเกมแก้ “กม.ลูก\" กลยุทธ์ “3 ป.” ดับฝัน “แลนด์สไลด์\"

          “แนวทางสวิตช์กลับ ยังไม่เห็นหน้าตา แต่อาจเสนอได้ในชั้นแปรญัตติที่ ส.ส.เสนอได้ หรือกรรมาธิการหยิบยกมาพิจารณาได้เอง และการพิจารณาที่จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าพรรครัฐบาล รวมถึงพลังประชารัฐ และ ส.ว. เห็นอย่างไร หากเห็นด้วย ไม่ใช่เรื่องยาก” อ.สมชัย ให้ความเห็น

 

          ส่วนการพลิกสูตร กลับมาใช้จัดสรรปันส่วนผสมจะทำให้ “พรรค” ที่หนุนขั้วอำนาจปัจจุบัน หรือพรรคพลังประชารัฐ ได้เปรียบ หรือไม่ “สมชัย” บอกว่า ไม่ทราบว่าจะได้เปรียบหรือไม่ แต่วิธีนี้จะแก้เกมเพื่อไทย ไม่ให้เขาได้เปรียบ ดังนั้นหากพรรครัฐบาล พรรคพลังประชารัฐเอาด้วย ส.ว.สนับสนุน จะเท่ากับว่า “เพื่อไทย” ถูกโดดเดี่ยว

 

          อย่างไรก็ดี เกมนี้ หากจะทำกันจริง “สมชัย” บอกให้จับตาการเข้ามาของ “ระวี มาศฉมาดล” หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ที่มาเป็นกรรมาธิการคนสุดท้ายในโควตา ครม.

 จับตาเกมแก้ “กม.ลูก\" กลยุทธ์ “3 ป.” ดับฝัน “แลนด์สไลด์\"

          ส่วนการกำหนดรายละเอียด วิธีการคำนวณ ย่อมไม่เป็นปัญหาว่าจะถูกโต้แย้ง ตีความขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 93 และมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกแก้ไข คำว่า ส.ส.ของพรรคพึงมียังคงอยู่ และยังยึดหัวใจของการเคารพประชาชน-ทุกเสียงไม่ตกน้ำ.