"ศึกพังงา"สะเทือน"ค่ายปชป." "ราเมศ"ดับเครื่องชน"จุรินทร์"
การเลือกตั้งภายใต้กติกา "บัตร2ใบ" บวกจำนวนเขตเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้น ทำให้บรรดาพรรคการเมืองต่างเปิด "ศึกชิงพื้นที่" ไม่เว้นแม้แต่ค่ายปชป ที่ยังคงเกิด"แรงกระเพื่อม" ระลอกแล้วระลอกเล่า
“ระหว่างลงพื้นที่มีการปล่อยข่าวต่างๆ ว่ามีการกำหนดตัวผู้สมัครในเขตเลือกตั้งที่ 2 จ.พังงาแล้ว ซ้ำยังมีการยกเรื่องฐานะความเป็นอยู่เรื่องส่วนตัวของผมว่าไม่มีฐานะร่ำรวย ไม่มีเงินมาสู้ เป็นแค่ลูกชาวบ้าน เรื่องฐานะและลูกชาวบ้านเป็นเรื่องจริง
ผมจะไม่พูดว่าใครเป็นคนปล่อยข่าวนี้ แต่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าลูกชาวบ้านก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานให้พี่น้องประชาชน และถ้าเกิดเป็นลูกชาวบ้านแล้วสิ้นหวัง แล้วจะให้ชาวบ้านหวังอะไรได้ต่อจากนี้”
ส่วนหนึ่งในคำแถลงของ “ราเมศ รัตนเชวง” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 26ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อประกาศตัว สู้ศึกเลือกตั้ง ส.ส.เขต 2 พังงา ที่จะมีขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นานหลังจากนี้
ซ้ำยังเป็นการส่งสัญญาณถึง“แรงกระเพื่อม” ระลอกใหม่ภายใน “ค่ายสีฟ้า” ประชาธิปัตย์ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า
ต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้ หนีไม่พ้น “ศึกชิงพื้นที่” เลือกตั้งเขต 2 พังงา ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณ “ท้าชน” มาตั้งแต่ช่วงปลายปี2564 หลังมีความชัดเจนเกี่ยวกับกติกาและการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะใช้ “บัตร 2 ใบ” ซึ่งจะทำให้ จ.พังงา มีเขตเลือกตั้งเพิ่มอีก 1 เขต คือ เขต 2
ทำให้ “ราเมศ” ประกาศเสนอตัวลงชิงในเขตบ้านเกิด และขึ้นป้ายพร้อมลงพื้นที่แนะนำตัวกับชาวบ้านในช่วงที่ผ่านมา
ทว่า ต่อมา “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลับมีท่าทีสนับสนุนให้ “โกหลี่” บำรุง ปิยนามวาณิช อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) พังงา ที่มีความสนิทสนมกันมานาน ให้ลงสมัคร ส.ส.เขตดังกล่าวเพื่อเป็นรางวัลปลอบใจ หลังพ่ายศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
พร้อมเสนอให้“ราเมศ” ไปลงสมัคร ส.ส.เขต พื้นที่กรุงเทพฯ แทน
แต่ด้วยผลเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งคะแนนนิยมค่ายสีฟ้า ดิ่งลงอย่างน่าใจหาย ชนิดสูญพันธุ์ในพื้นที่ กทม.จุดนี้เองที่ทำให้ราเมศ รู้สภาพแล้วว่า สู้ยาก ต่างจากเขต 2 พังงา ที่เจ้าตัวลงพื้นที่หาเสียงล่วงหน้าไปแล้ว
สำหรับเขต 2 พังงา ซึ่งประกอบด้วย อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอคุระบุรี และอำเภอกะปง
หากย้อนกลับไปในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ยามนั้น “จุรินทร์”ขยับขึ้นบัญชีรายชื่อ ได้ส่งน้องชาย“จุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์” ลงชิงในเขตดังกล่าว และได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมัยแรก
ก่อนที่ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2548 “จุฤทธิ์” จะลงสมัครในเขตเดิม แต่พ่ายให้กับ “กฤษ ศรีฟ้า” จากพรรคไทยรักไทย
กระทั่งการเลือกตั้งปี 2550 พังงามีการแบ่งเขตเหลือ 1 เขต แต่มี ส.ส.2 คน ซึ่งนอกเหนือจาก กันตวรรณ ตันเถียร ที่นำชัยมาให้ค่ายสีฟ้าแล้ว ยังมีจุฤทธิ์ ที่ได้หวนคืนเก้าอี้ ส.ส.เมืองพังงาอีกครั้ง
ก่อนที่ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 และ 2562 สนามพังงาจะกลับไปเหลือ 1 เขต มีส.ส.ได้คนเดียวคือ กันตวรรณ
ฉะนั้น เมื่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มีการแบ่งเขตมากลับมาเป็น 2 เขต จึงไม่แปลกที่ “จุรินทร์” ซึ่งยามนี้ขยับขึ้นบัญชีรายชื่อ ยังแอบหวังลึกๆ ที่จะยึดพื้นที่ตัวเอง และน้องชายกลับคืนมา
ศึกที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นแรงกระเพื่อมระลอกใหม่ที่สั่นสะเทือน “ค่ายสีฟ้า” ถึงขั้นที่ “ราเมศ” ประกาศกร้าวในวันแถลงข่าว หลังขอลดบทบาทในฐานะทีมกฎหมาย เพื่อลุยสนามเลือกตั้ง ด้วยวลีที่ว่า “พร้อมรับคำสั่งจากเฉลิมชัย (ศรีอ่อน) เลขาธิการพรรค เท่านั้น”
ซ้ำเป็นการตอกย้ำพาวเวอร์ภายในค่าย ปชป.ว่า ยามนี้ใครคือ“ผู้มากบารมี”ตัวจริง!