"นายกฯ" เตรียมเป็นประธานเปิด "ท่าเรือมาบตาพุด" เฟส3 พรุ่งนี้

"นายกฯ" เตรียมเป็นประธานเปิด "ท่าเรือมาบตาพุด" เฟส3 พรุ่งนี้

"โฆษกรัฐบาล" เผย "นายกฯ" เตรียม เป็นประธานเปิด โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส3 พรุ่งนี้ ผ่านระบบออนไลน์ รองรับ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในพื้นที่ "อีอีซี" เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งทางน้ำอาเซียน พัฒนาศก.ชุมชน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน โดยในวันพรุ่งนี้ (28 ก.พ.65) นายกรัฐมนตรี กำหนดเป็นประธานเปิดโครงการฯ ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ณ สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ผ่านระบบออนไลน์

นายธนกร กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเตรียม โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งทางน้ำสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)โดยจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว ให้บริการรูปแบบท่าเทียบเรือสาธารณะ 

โครงการดังกล่าว มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่หน้าท่า 550 ไร่ และพื้นที่หลังท่า 450 ไร่ความยาวหน้าท่ารวมกัน 2,229 เมตร เป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่และทันสมัย มีการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร สามารถรองรับเรือบรรทุกขนาด 264,000 DWT เปิดให้บริการ 12 ท่า (ท่าเรือสาธารณะ 2 ท่า และท่าเรือเฉพาะกิจ 10 ท่า) โดยมีเอกชน 19 ราย เช่าดำเนินการเป็นท่าเรือ คลังน้ำมัน คลังสินค้า และโรงไฟฟ้า มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ช่วง 

ช่วงที่ 1 เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มูลค่าลงทุน 47,900 ล้านบาท 

และช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ (Superstructure) ซึ่งจะเปิดทีโออาร์ภายหลัง ใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท 

 

“ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลียมเคมีและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรอุตสาหกรรมพลังงาน (น้ำมันและก๊าซ) ก่อให้ประโยชน์ทั้งในมิติเศรษฐกิจ ได้แก่ การเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำของอาเซียนสู่เศรษฐกิจนานาชาติ และการบินสู่ประตูการค้า และมิติสังคม ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่ท้องถิ่นในด้านการจ้างงาน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและสร้างงานสร้างรายได้ต่อไป” นายธนกร กล่าว