เวที “กฎหมายลูก” ตอกลิ่มขัดแย้ง  เสี่ยงปะทุ “สงครามการเมือง"

เวที “กฎหมายลูก” ตอกลิ่มขัดแย้ง   เสี่ยงปะทุ “สงครามการเมือง"

เมื่อเกมกำหนดกติกา เพื่อหา "ผู้ชนะเเลือกตั้ง" เริ่มขึ้น สิ่งที่ถูกจับจ้อง คือ ภาคต่อของความขัดแย้ง ภายในขั้วรัฐบาล อีกทั้งเกมแก้กฎหมายลูก ได้โหมความขัดแย้ง ระหว่างพรรค ระหว่างขั้ว ให้บังเกิด หากไร้การประนีประนอม ไฟขัดแย้ง อาจกลายเป็นสงครามการเมือง

         รัฐสภาเข้าสู่โหมดการพิจารณากฎหมายสำคัญอีกครั้ง ในวันที่ 24 -25 กุมภาพันธ์ โดยรอบนี้ คือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่จะใช้เป็นกลไกในการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งหน้า

 

         คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ... มีผู้เสนอรวม 6 ฉบับ คือ ครม. พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคพลังประชารัฐ และ ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล

         และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... มีผู้เสนอรวม 4 ฉบับ คือ ครม. พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และฉบับพรรคร่วมรัฐบาล

 

         การพิจารณาวาระนี้ ถูกจับตาว่าจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งการเมืองของ“ฝั่งรัฐบาล”อีกระลอกหรือไม่

 

         ก่อนพิจารณามีข่าวหนาหูว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่รับ “ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ...” ไม่ว่าจะมีต้นทางเสนอมาจากใคร หรือพรรคไหน

เวที “กฎหมายลูก” ตอกลิ่มขัดแย้ง   เสี่ยงปะทุ “สงครามการเมือง\"

         แกะรอยจากประเด็นนี้ ถอดรหัสได้ความคือ พรรคที่เคยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และปรับสูตรคำนวณ ส.ส.ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคพลังธรรมใหม่ รวมถึงบรรดาพรรคเล็ก 1 เสียง และปรากฎเป็นผลการลงมติในวันโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 และ มาตรา 91 เมื่อ 10 กันยายน 2564ว่า “งดออกเสียง” และ “ไม่เห็นด้วย”

         ต่อประเด็นนี้ พรรคพลังธรรมใหม่ โดย “นพ.ระวี มาศฉมาดล"ใช้สิทธิยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย ได้ ส.ส.พึงมีที่ยุติธรรม พรรคเล็กไม่ถูกละเมิดสิทธิ หรือไม่

เวที “กฎหมายลูก” ตอกลิ่มขัดแย้ง   เสี่ยงปะทุ “สงครามการเมือง\"

         ขณะที่ “พรรคเศรษฐกิจใหม่” โดย "มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์” ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณา ”ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ...” ขัดหลักการรัฐธรรมนูญ 2560 และไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์และอารัมบท รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ “คำนึงถึงเสียงทุกเสียงของประชาชนโดยเสมอภาค”

 

         เหตุปัจจัยทั้ง 2 เรื่องนี้ คาดการณ์ว่าจะถูกยกไปเป็นข้อโต้แย้งในที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้ยุติการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้ แต่เอาเข้าจริง คงไม่อาจหยุดยั้งได้ 

 

         เพราะ 1.การใช้สิทธิของ พลังธรรมใหม่ และเศรษฐกิจใหม่ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 ที่ให้สิทธิ ส.ส.โต้แย้ง เมื่อกฎหมายผ่านวาระสามแล้ว และ มาตรา256(9) ที่ให้สิทธิ ส.ส.โต้แย้ง หลังรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขผ่านวาระสามและรอดำเนินกระบวนการทูลเกล้าฯ

 

          2. เมื่อประธานรัฐสภาบรรจุ ร่างพ.ร.ป. ไว้ในระเบียบวาระแล้ว ตามมาตรา 132(1) กำหนดให้รัฐสภาต้องทำให้เสร็จภายใน 180 วัน

  เวที “กฎหมายลูก” ตอกลิ่มขัดแย้ง   เสี่ยงปะทุ “สงครามการเมือง\"

         และ 3. เมื่อการส่งตีความรัฐธรรมนูฉบับแก้ไข ตามมาตรา 256(9) ไม่เกิด และปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้ 

         ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติเตรียมพิจารณาร่างกฎหมายลูกให้สอดคล้องกับกฎหมายแม่ ดังนั้นตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะไม่ก้าวล่วงอำนาจของ “รัฐสภา”

 

         เชื่อว่า แม้ในวาระแรก รับหรือไม่รับหลักการ จะมี “สมาชิกรัฐสภา” ลงมติไม่รับหลักการ หรืองดออกเสียง แต่หาก “เสียงข้างมาก” ลงมติ​ให้ “รับหลักการ” แม้จะได้เสียงชนะ เพียง 1 เสียง ถือว่าผ่าน เพราะในวาระนี้ ใช้เพียงเสียงข้างมากของผู้มาลงคะแนน ชี้ขาด

 

         ดังนั้น“ร่างกฎหมายลูก”ชั้นรับหลักการอาจไม่ถูกคว่ำ แต่ความคุกรุ่นของ“เชื้อขัดแย้ง”ไม่หมดไป เมื่อเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการที่มีตัวแทนของทุกพรรคการเมืองใหญ่ การต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิบัญญัติเนื้อหาเพื่อ“พรรคการเมือง”ทุกพรรคเท่าเทียม ไม่เสียประโยชน์

 

         หาก“พรรคใหญ่”ที่อุ้มผู้มีอำนาจไม่ยอมลดความเอาเปรียบ “ฟืนขัดแย้ง”จะโหมไฟแตกหักให้รุนแรงเป็นแน่

 

         ขณะที่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่ “ส.ว.” กลุ่ม 40 ส.ว.เดิม และผสมกับฝั่งคู่แค้นกับ “พรรคฝ่ายค้าน” ประกาศว่าไม่รับฉบับที่เสนอมาจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านทั้ง 3 ฉบับ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ร่างของพรรคเพื่อไทย แก้ไขมาตรา 28- 29 เพื่อเปิดช่องให้ “คนนอก”ครอบงำพรรค 

เวที “กฎหมายลูก” ตอกลิ่มขัดแย้ง   เสี่ยงปะทุ “สงครามการเมือง\"

         ร่างของพรรคก้าวไกล ทำลายกลไก-ตัดอำนาจ “ศาลรัฐธรรมนูญ” กรณีพิจารณายุบพรรคการเมือง และร่างของพรรคประชาชาติ ที่ตัดข้อห้ามพรรคการเมือง ยอม คนนอกครอบงำ ชี้นำ รวมถึงตัดการเข้าครอบงำจากคนนอกพรรคออก

 

         พร้อมมองว่า นี่คือการตัดเนื้อหาที่เป็นหัวใจของการสร้างให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน และ ปราศจากการครอบงำของ “นายทุน” และแก้ปม “ธุรกิจการเมือง” ซึ่งเป็นชนวนที่ทำให้ “การเมืองไทย” ล้มเหลว - เกิดรัฐประหาร ปี 2549

 

         แม้มีคำอธิบายมาจากฝั่งผู้ยื่นแก้ไขว่า ต้องการคลี่คลายปัญหาการเมืองที่ “ขั้วการเมืองตรงข้าม” นำประเด็นไปกลั่นแกล้ง ฟ้องยุบพรรค ทำให้พรรคการเมืองที่เป็นสถาบันของประชาชนไม่โต และการตีความแบบคับแคบว่า ทุกความเห็น - ข้อเสนอ คือการครอบงำทั้งหมด ทั้งที่บางประเด็นเป็นข้อเสนอที่ดีต่อการพัฒนา แก้ไขปัญหาประเทศ ทำให้เป็นกฎหมายที่ขัดขวางการพัฒนาพรรคการเมือง เช่นกัน

เวที “กฎหมายลูก” ตอกลิ่มขัดแย้ง   เสี่ยงปะทุ “สงครามการเมือง\"

         แต่ดูเหมือนว่า ความกลัวอดีต โดยเฉพาะ อดีตที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร หรือ โทนี่ วู้ดซัม จนวิ่งขึ้นสมอง ไม่อาจเปิดใจฟังเหตุฟังผล จึงเป็นประเด็นที่อาจทำให้ “ความขัดแย้ง” ทางการเมือง ถูกปลุกขึ้นมาในสังคมวงกว้างอีกครั้ง

         ต้องจับตาว่า “รัฐสภา” จะเป็นเวทีคลี่คลายปัญหาการเมืองว่าด้วยกฎหมายลูกที่ใช้เป็นกติกาเพื่อกำหนดอนาคต “ผู้ชนะเลือกตั้ง”อย่างไร กับข่าวที่แพร่สะพัด ไม่ว่าจะรับหรือไม่รับร่างพ.ร.ป.ฉบับใด หรือของใคร 

         ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สงครามการเมือง-ต่อสู้เพื่อตัวแทน” เสี่ยงปะทุขึ้นอีกครั้งอย่างเป็นทางการ.