ตร. ยัน ปปง. ขอ 10 ผู้ประกอบการ ประเมินความเสี่ยง "ฟอกเงิน-ก่อการร้าย" ของจริง

ตร. ยัน ปปง. ขอ 10 ผู้ประกอบการ ประเมินความเสี่ยง "ฟอกเงิน-ก่อการร้าย" ของจริง

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ยัน ปปง. ส่งเอกสาร ขอความร่วมมือ ประชาชนประเมินความเสี่ยง คดีฟอกเงิน คือข่าวจริง ชี้ เป็นการขอความร่วมมือ 10 ผู้ประกอบการ ช่วยส่งข้อมูลที่สามารถใช้กำกับ ป้องกันการฟอกเงิน ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล

 21 ก.พ. 2565  พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบประเด็นการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์  กรณี การแชร์ คำเตือนหนังสือ จากสำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน หรือ  ปปง. ส่งเป็นจดหมายถึงประชาชน ในการทำแบบประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับนการฟอกเงินหรือสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 

โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันจาก สำนักงาน ปปง.แล้วว่า ประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

 ตามเนื้อหาของเอกสาร จาก สำนักงาน ปปง. ที่เผยแพร่นั้น ได้แจ้งให้ 10 ผู้ประกอบการ ผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้แก่

1.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินการ การให้คำแนะนำ หรือการเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุนหรือ การเคลื่อนย้ายทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินตามมาตรา 13

2.ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ หรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณี เพชรพลอย หรือทองคำ

3.ผู้ประกอบอาชีพค้าหรือให้เช่าซื้อรถยนต์

4.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

5.ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า

6.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

7.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

8.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

9.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

10.ผู้ประกอบอาชีพที่ดำเนินธุรกิจทางการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน ที่มิใช่เป็นสถาบันการเงิน

ซึ่งปรากฏผลจากการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายว่ามีความเสี่ยงที่อาจถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแจ้งให้นำส่งข้อมูลประกอบการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟอกเงินหรือสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงผ่านระบบสารสนเทศ ซึ่งการนำส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการขอความร่วมมือผู้ประกอบอาชีพฯ ในการทำแบบประเมินฯ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ด้านการกำกับดูแล 

 ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้เป็นการขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ประกอบการแต่อย่างใด โดยได้แนบลิงก์และข้อแนะนำในการใช้งานระบบฯ เพื่อให้ผู้มีหน้าที่รายงานฯ ใช้ประกอบการนำส่งข้อมูลด้วยตนเองผ่านระบบดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นการดำเนินการตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.amlo.go.th/index.php/th/ หรือโทร. 02-219-3600

รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวในตอนท้ายว่า  การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์  https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”