"โฆษกกลาโหม" ยัน รัฐบาลจริงใจแก้ปัญหา "ค้ามนุษย์-โรฮิงญา"

"โฆษกกลาโหม"  ยัน รัฐบาลจริงใจแก้ปัญหา "ค้ามนุษย์-โรฮิงญา"

"โฆษกกลาโหม" เผยรัฐบาลจริงใจแก้ปัญหา "ค้ามนุษย์-โรฮิงญา" ยันดำเนินคดีถึงผู้อยู่เบื้องหลัง ตามข้อเท็จจริง ไม่มีละเว้น ส่วนฝ่ายความมั่นคงพร้อมเปิดด่านชายแดนใต้ รอหารือมาเลเซีย

 21 ก.พ.2565 พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม  กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด โดยฝ่ายความมั่นคงเป็นฝ่ายสนับสนุนการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ

ทั้งนี้รัฐบาลได้ทำตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และช่วยเหลือโดยไม่เลือกปฎิบัติทุกชาติ ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ประสานการทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศด้วย รวมทั้งภาคีเครือข่ายประเทศเพื่อนบ้านออสเตรเลีย แต่พบว่ามีปัญหาในแรงงานภาคประมง ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญตามคำแนะนำของสหรัฐฯ รวมถึงมองปัญหาการค้าประเวณีในพื้นที่และในออนไลน์ด้วย

เพราะการบังคับข่มขู่ทรมาน จิตใจ ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ รัฐบาลก็พร้อมแก้ไขเต็มที่ หากประชาชนมีข้อมูลขอพบเห็นปัญหาดังกล่าวขอให้ส่งข้อมูลมายังภาครัฐได้ 

พล.อ.คงชีพ กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาชาวโรฮิงญานั้น เป็นคดีความตั้งแต่ปี 2558 รัฐบาลก็จับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิดจำนวนมาก พร้อมสืบสวนคนที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งทำทุกอย่างตามความเป็นจริง ปัจจุบันเชื่อว่าหากพบข้อมูลเพิ่มเติม รัฐบาลก็ไม่เอาไว้ โดยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ไม่มีละเว้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สำหรับพื้นที่ตามแนวชายแดนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กำชับให้กองกำลังตามแนวชายแดน 7 กองกำลัง ทั้งทางบก ทางน้ำ ดำเนินการสะกัดกั้น จับกุมผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยมีการเพิ่มเติมกำลังป้องกันชายแดนอีก 4 กองร้อย ในพื้นที่ชายแดนที่มีการลักลอบของแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะชายแดนไทย-เมียนมา โดยทำงานร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดน ฝ่ายปกครอง จับกุมตามช่องทางธรรมชาติ พร้อมเพิ่มความถี่ในการตรวจตรามากขึ้น

ซึ่งพบว่าสถิติการจับกุมล่าสุด เฉลี่ยวันละกว่า 200 คน และจับได้เกือบทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อ 20 ก.พ. 65 สามารถจับกุมชาวเมียนมาที่ลักลอบเข้าเมืองถึง 248 รายที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และที่ จ.จันทบุรี 

พล.อ.คงชีพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังจับกุมผู้ที่ลักลอบเข้าเมือง จาก ลาว กัมพูชา ได้อีกด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาจับกุม โดยสาเหตุมาจาก การที่ไทยต้องการแรงงาน และสภาวะเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านชะลอตัว รวมถึงสถานการณ์การสู้รบตามแนวชายแดน ทำให้แรงงานหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายความมั่นคงมีความพร้อมในการรองรับเปิดด่านชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงเดือนมี.ค.พร้อมเตรียมมาตรการต่างๆ รองรับมาโดยตลอด แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศมาเลเซียด้วยว่ามีความพร้อมแค่ไหน ดังนั้นขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าพูดคุยตกลงหารือกันแล้ว ไทยก็มีความพร้อม แต่ขอให้ตกลงกันก่อน.