สมบัติ 535 ล.-ธุรกิจอสังหาฯ “เอกราช ช่างเหลา” ซบ ภท.-ล้างหนี้สหกรณ์ครู 431 ล.

สมบัติ 535 ล.-ธุรกิจอสังหาฯ “เอกราช ช่างเหลา” ซบ ภท.-ล้างหนี้สหกรณ์ครู 431 ล.

เส้นทางการเมือง “เอกราช ช่างเหลา” ฉายา “เจ้าพ่ออีสาน” บ้านใหญ่ขอนแก่น จากครูประจำเทศบาล สู่ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ โลดแล่นวงการเมืองอยู่ภูมิใจไทยโยกไป พปชร.ก่อนกลับรัง “ค่ายน้ำเงิน” แจ้งทรัพย์สิน 535 ล้าน ถูกฟ้องยักยอกเงิน 431 ล้าน สะพัดขอชดใช้เงินคืนแลกถอนฟ้อง

ฉายา “เจ้าพ่ออีสาน” ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

สำหรับชื่อของ “เอกราช ช่างเหลา” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) “บ้านใหญ่” จ.ขอนแก่น ที่โยกย้ายกลับถิ่นฐานไปพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พร้อมด้วย “วัฒนา ช่างเหลา” ส.ส.ขอนแก่น บุตรชาย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา หลังโดนมติพรรคพลังประชารัฐ ขับพ้นพรรคไปตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2565

ทั้งที่ตอนแรกมีกระแสข่าวว่าพร้อม “ล่มหัวจมท้าย” ไปกับ “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา อดีตเลขาธิการ พปชร. ที่ถูกขับพ้น พปชร.ไปพร้อมกัน โดยโยกย้ายไปก่อร่างสร้าง “พรรคเศรษฐกิจไทย” อยู่ตอนนี้

“ด้วยเหตุผลที่อาจชี้แจงไม่ได้จึงหารือกับลูกชายว่าจะเอาอย่างไร และได้มีเวลาในการไตร่ตรอง ตรวจสอบข้อมูลหลายด้านอย่างละเอียด จึงนำมาสู่การตัดสินใจกลับบ้านหลังเก่าภูมิใจไทย และได้บอกกับ ร.อ.ธรรมนัส แล้ว เข้าใจดีและบอกว่าอยู่ที่ไหนยังเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม” คือคำยืนยันของ “เอกราช ช่างเหลา” ถึงเหตุผลกลับไปพรรคภูมิใจไทย

อ่านข่าว: "เอกราช"แจงเหตุผลส่วนตัว ย้ายซบ ภท.ยัน ไม่แตกกับ"ธรรมนัส"

สำหรับเส้นทางการเมืองของ “เอกราช ช่างเหลา” ก่อนหน้านี้เคยเป็นครูสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น และเข้าทำงานในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น รวมถึงทำธุรกิจเกี่ยวอสังหาริมทรัพย์ เครือข่ายบริษัท “หนึ่งนคร

เบนเข็มมาลงเล่นการเมืองมาสมัครเป็น ส.ว.ขอนแก่น เมื่อปี 2549 แต่มีการร้องเรียนว่า “ถูกโกง” หลังจากนั้นหลังรัฐประหารโดย คมช. เจ้าตัวมาสมัคร ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน ยุค “สุวิทย์ คุณกิตติ” เป็นหัวหน้าพรรค แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่เจ้าตัวยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้ง “ทางแจ้ง-ทางลับ” มาโดยตลอด

ต่อมาในเหตุการณ์ “แดงทั้งแผ่นดิน” ช่วงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างปี 2552-2553 ถูกกล่าวหาจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่า เป็นหนึ่งใน “ท่อน้ำเลี้ยง” ม็อบเสื้อแดงจากภาคอีสาน เนื่องจากตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีเงินไหลเวียนในบัญชีแค่ 9 เดือน ไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท จึงถูกคำสั่งระงับการทำธุรกรรมทางการเงิน

ในช่วงเวลานั้นเจ้าตัวชี้แจงว่า เงินหมุนเวียนในบัญชี 1,200 ล้านบาท เป็นเงินจากบัญชีหนึ่งเข้าอีกบัญชีหนึ่ง จากการโอนที่ดินและบ้าน เพราะนอกจากเป็นผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ยังทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยทำโครงการบ้านจัดสรรหลายแห่ง

แต่พลันที่วลีในตำนานอย่าง “มันจบแล้วครับนาย” เกิดขึ้น “เอกราช ช่างเหลา” หอบสำมะโนครัวมาอยู่กับกลุ่ม “เพื่อนเนวิน” และเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคภูมิใจไทย พร้อมกับหล่นคำพูดในช่วงเดือน มิ.ย. 2553 ผ่านสื่อว่า “พรรคเพื่อไทยกับตัวเองก็เหมือนขมิ้นกับปูน น้ำกับน้ำมัน คงไปด้วยกันได้ยาก

หลังจากนั้น “เอกราช ช่างเหลา” หลบมาทำงานหลังฉาก ปั้นเครือญาติ-คนใกล้ชิดลงเล่นการเมืองท้องถิ่นใน จ.ขอนแก่น กระทั่งปี 2561 โยกย้ายมาร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ โดยเป็นแกนนำภาคอีสาน และเจ้าตัว พร้อมกับลูกชาย “วัฒนา ช่างเหลา” ได้รับการเลือกตั้ง หลังจากนั้นส่ง “พิทักษ์ชน-ปิยพงษ์ ช่างเหลา” ลูก-หลานชาย เข้าวินนั่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขอนแก่น เมื่อปี 2563 กระทั่งปี 2565 เจ้าตัวหอบผ้าผ่อนกลับรังเก่า “ค่ายสีน้ำเงิน” อีกครั้ง ไม่ตาม “ผู้กองมนัส” ไปสร้างพรรคใหม่

ทว่าในช่วงบารมีทางการเมืองกำลังเบ่งบาน “เอกราช ช่างเหลา” กลับปรากฏชื่อเป็น “จำเลย” ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ในคดีหมายเลขดำที่ 258/2564 ที่พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น เป็นโจทก์ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น เป็นโจทก์ร่วม กรณีกล่าวหานายเอกราช กับพวกว่า ยักยอกเงิน ปลอมแปลงเอกสาร เงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นกว่า 431 ล้านบาท

โดยนายเอกราช ให้การ “รับสารภาพ” ในข้อหายักยอกทุกข้อกล่าวหา และลงนามในสัญญา “รับสภาพหนี้” เพื่อชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว โดยคดีนี้ในทางอาญาอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาล ส่วนคดีทางแพ่งศาลรอคำพิพากษาในคดีอาญาก่อน

ความคืบหน้าขณะนี้ มีกระแสข่าวสะพัดว่า มีความพยายามเจรจากับคณะกรรมการสหกรณ์ครูออมทรัพย์ขอนแก่นชุดปัจจุบัน เพื่อขอ “ล้างหนี้” ทั้งหมด เนื่องจากมีช่องโหว่ว่ากฎหมายคดียักยอกทรัพย์ เป็นคดีที่สามารถยอมความกันได้ และสหกรณ์ฯอยากได้เงิน 431 ล้านบาทดังกล่าวมาจ่ายปันผลให้กับสมาชิกสหกรณ์ฯ

ในมุมทรัพย์สิน “เอกราช ช่างเหลา” แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อปี 2562 กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. แจ้งมีทรัพย์สินทั้งสิ้น 535,003,482 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 50,309,762 บาท

ในมุมธุรกิจพบว่า “เครือหนึ่งนคร” ที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดูแลโครงการบ้านจัดสรรในขอนแก่น ของตระกูล “ช่างเหลา” พบว่า ยังเหลือดำเนินกิจการอยู่อย่างน้อย 2 แห่ง โดยมีชื่อของ “สุวิภา ช่างเหลา” ภริยา เป็นกรรมการ 2 แห่ง ได้แก่

1.บริษัท เมืองเอก ขอนแก่น จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท หนึ่งนคร จำกัด) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2548 ทุนปัจจุบัน 75 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 999/1 หมู่ที่ 2 ต.ศิลา อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด การซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองเพื่อการพักอาศัย

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีรายได้รวม 326,709,882 บาท รายจ่ายรวม 315,290,440 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 155,976 บาท เสียภาษีเงินได้ 4,240,927 บาท กำไรสุทธิ 7,022,537 บาท

2.บริษัท เมืองเอก คอนกรีต จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2555 ทุนปัจจุบัน 15 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 424 หมู่ที่ 1 ต.ศิลา อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด การผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีรายได้รวม 54,337,374 บาท รายจ่ายรวม 52,409,605 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 1,443,031 บาท เสียภาษีเงินได้ 128,383 บาท กำไรสุทธิ 356,354 บาท

ส่วนอีก 4 แห่งมีคนสกุล “ช่างเหลา” เป็นกรรมการ-หุ้นส่วน แจ้ง “เสร็จชำระบัญชี” ไปหมดแล้ว ได้แก่ หจก.หนึ่งนคร บิวดิ้ง หจก.หนึ่งนคร ลิสซิ่ง บริษัท หนึ่งนคร ลอตโต้ จำกัด ทั้ง 3 แห่งทำธุรกิจ “ขายสลากกินแบ่ง” ส่วนอีก 1 แห่งคือบริษัท หนึ่งนคร ลิสซิ่ง 2011 จำกัด ทำธุรกิจการขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรถกระบะรถตู้และรถขนาดเล็กที่คล้ายกัน

ส่วนที่มีชื่อของ “เอกราช ช่างเหลา” เป็นหุ้นส่วน-กรรมการมีอย่างน้อย 2 แห่ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ได้แก่ หจก.รวมทองภิวัตร ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ถูกนายทะเบียนขีดชื่อว่า “ร้าง” เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2558 และบริษัท ไทยทรานส์เทค เอ็กเซสซอรี่ จำกัด ทำธุรกิจขายสลากกินแบ่ง แจ้งเลิกกิจการเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2562 เสร็จชำระบัญชีเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2562

ทั้งหมดคือโพรไฟล์ทางการเมือง-สมบัติส่วนตัว-ขุมข่ายธุรกิจ “อสังหาริมทรัพย์” ของ “เอกราช” และตระกูล “ช่างเหลา” เรียกได้ว่าไม่ธรรมดา สมฉายา “บ้านใหญ่ขอนแก่น” ก่อนย้ายกลับบ้านเดิม “ภูมิใจไทย” จนเป็นประเด็นทางการเมืองอยู่ในตอนนี้