เกมสภา"ซีกรัฐแตก-ฝ่ายค้านร้าว" นับถอยหลัง"ระเบิดเวลา?"

เกมสภา"ซีกรัฐแตก-ฝ่ายค้านร้าว"    นับถอยหลัง"ระเบิดเวลา?"

ศึกที่กำลังปะทุ บวกกลเกมการเมืองที่เกิดขึ้นทั้ง2ขั้วเวลานี้ ไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาที่กำลังส่งสัญญาณรีเซ็ตหลังจากนี้

ในห้วงที่การเมืองมีการจับสัญญาณไปที่การยุบสภา เพื่อเปิดทางสู่การ“คืนอำนาจ”ให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “กลเกมสภา”  โดยเฉพาะเหตุองค์ประชุมล่มรายวันในยามนี้ไม่ต่างอะไรกับการเป็น“ระเบิดเวลา” ที่กำลังส่งสัญญาณนับถอยหลัง

เหตุการณ์ “สภาล่ม” ที่เกิดขึ้นในห้วงที่ผ่านมา แง่หนึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นชัดถึง“เสถียรภาพ” รัฐบาลที่ยามนี้อยู่ใน“ขั้นโคม่า” จากปัญหาความไม่ลงรอยรอยภายในขั้วเดียวกัน

ไล่เรียงมาตั้งแต่ ปรากฏการณ์“21กบฏพปชร.” ภายใต้การนำของ “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่เวลานี้กลายเป็นคีย์แมนคนพรรคเศรษฐกิจใหม่

ปมแตกหักที่เกิดขึ้น แม้ “พี่ใหญ่” อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะบอกว่า เคลียร์จบครบกระบวน “ผู้กองธรรมนัส” จะสนับสนุนรัฐบาลและจากนี้เชื่อกว่าจะไม่มีปัญหาสภาล่มอย่างแน่นอน 

แต่ทว่าท่ามกลางกระแสข่าว“บีบปรับครม.” เปิดดีลทวงเก้าอี้มท.1 จาก “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพื่อประเคนให้กับ“บิ๊กป้อม”  แลกกับการสนับสนุนรัฐบาล บวกเกมสภาล่มเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีเพียง “1ส.ส.ก๊วนผู้กอง” แสดงตนเป็นองค์ประชุม ขณะที่อีก17คนล่องหน 

นั่น!เป็นการตอกย้ำถึง “เกมการเมือง” ที่ส่งสัญญาณไปยัง “บิ๊กรัฐบาล” ที่อาจร้องเร่งทำอะไรสักอย่างมิเช่นนั้นก็จะเกิดเกมเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

 

แม้ในการประชุมร่วมรัฐสภา นัดล่าสุดเมื่อวันที่8ก.พ. จะปรากฎภาพ"ก๊วนผู้กอง" ร่วมประชุมประเดิมงานในฐานะส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่และในฐานะพรรครัฐบาลเป็นครั้งแรก

แต่ใครๆก็รู้กันอยู่แล้วว่าการประชุมร่วมรัฐสภาเป็นการประชุมร่วมระหว่างส.ส.และส.ว.ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์มีเสียงส.ว.ช่วยหนุนแบบเหลือล้น โอกาสที่จะเดินเกมสภาล่มจึงไม่มีทางเป็นไปได้ 

แต่หากเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่แน่ เพราะด้วยรอยแผลที่อุกฉกรรจ์ ที่เป็นที่ต่างฝ่ายต่างใส่กันแบบไม่ยั้ง ศึกที่ดูเหมือนว่าจะสงบยามนี้จึงไม่ต่างอะไรกับรอยยิ้มที่ซ่อนด้วยอาวุธที่พร้อมกลับมาทิ่มแทงได้ทุกเมื่อ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลยามนี้ก็ไม่ได้หวานชื่นเหมือนดังเก่าก่อน ล่าสุดเป็นกรณี “7รัฐมนตรี” แห่งค่ายภูมิใจไทยบอยคอตไม่เข้าร่วมประชุมครม.จากปัญหาความไม่ลงรอยกรณีการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวพร้อมยื่นคำขาด4ประเด็นปัญหาที่ต้องทบทวน

ไม่ต่างจากรัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาลบางคนออกมาเหน็บแนมว่า เป็นการประชุมครม.ที่รัฐมนตรีลามากที่สุดตั้งแต่ตั้งรัฐบาลมา 

เช่นนี้จึงต้องจับตาต่อไปที่กลเกมในสภา เพราะต้องไม่ลืมว่าเวลานี้เสียงรัฐบาลอยู่ในระดับที่ “ปริ่มน้ำ” ยิ่งยามนี้ฝ่ายค้านล่อเป้าไปที่เกมนับองค์ประชุมเป็นรายสัปดาห์ด้วยแล้ว โอกาสที่จะเกิดสภาล่มซ้ำก็ย่อมเกิดได้เสมอ

ยังไม่นับรวม “ศึกซักฟอก” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ค.ซึ่งรัฐบาล โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีบทเรียนจากการอภิปรายรอบที่ผ่านมา ที่พบผลคะแนนของรัฐมนตรีแต่ละคนมีแต้มที่ต่างกันแบบมีนัยสำคัญ

มิหนำซ้ำยังเกิดก่อตัวของ “กบฎล้มนายกฯ”  เช่นนี้จึงต้องจับตาเพราะศึกรอบนี้หากเคลียร์ไม่ลงตัวอาจเกิด “กบฎรีเทิร์น” หวังผลไปถึงการล้มกระดานเพื่อเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญหลังจากนี้

 

 

ทว่า“กลเกมสภา” โดยเฉพาะปัญหา “สภาล่ม” ที่เกิดขึ้นรายวันไม่เพียงแต่เป็นการสะท้อนเสถียรภาพของรัฐบาลที่ยามนี้กำลังง่อนแง่นแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังนำมาซึ่งรอยร้าวภายใน“ขั้วฝ่ายค้าน” ด้วยกัน

ล่าสุดคือ “เหตุสภาล่ม” เมื่อวันที่4ก.พ.ที่ผ่านมา 

ซึ่งในมุมของ“พรรคเพื่อไทย” ที่เสนอนับองค์ประชุม พยายามสะท้อนให้เห็นถึง “ความไร้เสถียรภาพ” ขั้นสุดของรัฐบาลที่ไม่สามารถควบคุมเสียง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล  เช่นนี้พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่สามารถเป็นตัวแทนของ “ฝ่ายเสียงข้างมาก” ตามระบอบประชาธิปไตย

ทว่าท่าทีดังกล่าวของพรรคเพื่อไทยรวมถึงพรรคร่วมฝ่ายค้าน กลับสวนทางและนำมาซึ่งรอยร้าวระหว่าง“พรรคก้าวไกล” ที่ไม่พอใจอย่างรุนแรงเพราะมองว่าไม่ต่างอะไรกับ “เกมการเมือง” ลามเป็นศึกระหว่าง "ส.ส.2ค่าย" ไม่เว้นแม้แต่บรรดา“ติ่งส้ม-ติ่งแดง” ที่เปิดศึกสาดวาทะกันไปมาสนั่นโลกโซเชียล

เหนือไปกว่านั้นพรรคเพื่อไทยพยายามหยิบยกเหตุผลการไม่แสดงตนร่วมเป็นองค์ประชุมว่าเป็น “มติพรรคร่วมฝ่ายค้าน” ต่างจาก “ก้าวไกล” ที่มองว่าเป็นเรื่อง “เอกสิทธิ์ส.ส.” 

อันที่จริงปมสภาล่ม ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เป็นรอยร้าวที่เกิดขึ้น“ในขั้วฝ่ายค้าน”  

เพราะก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะศึกเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ เมื่อช่วงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง2พรรคกลายเป็น “คู่แข่ง” จากการส่งผู้สมัครหว่าง “สุรชาติ เทียนทอง” จากเพื่อไทย และ “กรุณพล เทียนสุวรรณ” จากก้าวไกล

เวลานั้นเพื่อไทย พยายามชูแคมเปญแลนด์สไลด์ “เลือกเพื่อไทยให้ชนะขาด” ซึ่งเป็นเสมือนการส่งสัญญาณเลือกเพื่อไทยพรรคเดียว ห้ามเหลียวไปพรรคอื่น  

โดยเฉพาะคีย์แมน คนสำคัญอย่าง “สุทิน คลังแสง” ที่ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหา  "สู้ไปกราบไป" ว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ “สู้เป็น” เพราะถ้าสู้ไม่เป็นคือวิ่งไปให้เขาฆ่าตาย...

เนื้อหาในคำปราศัยโดยละเอียดหากใครได้ฟังก็จะรู้ทันทีว่าหมายถึงการยุบพรรคบางพรรคก่อนหน้านี้

คล้อยหลังไม่กี่นาที “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากพรรคก้าวไกลออกมาตอบโต้อย่าทันควัน  “เลือกด้วยความหวัง ไม่ใช่ความกลัว... ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องคณิตศาสตร์”

“หากบอกว่าจะมีการยุบพรรคก็ต้องอยู่ให้เป็น อีกเวทีหนึ่งเพิ่งจะบอกมาว่าต้องสู้ให้เป็น ไม่เช่นนั้นจะถูกยุบพรรค แต่ถูกยุบพรรคแล้วยังไง ยุบอนาคตใหม่แล้วเป็นยังไง? ”

หลังศึกครั้งนั้นมีการมองว่า นำมาซึ่งการกินแหนงแคลงใจกันระหว่าง2พรรค

ฉะนั้นด้วยศึกที่กำลังปะทุทั้ง2ขั้วเวลานี้ ยิ่งในสภาวะที่การเมืองเริ่มส่งสัญญาณเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งเช่นนี้ด้วยแล้ว “กลเกมการเมือง” ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเกมสภาที่เกิดขึ้นจึงถูกมอว่า ไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาที่กำลังส่งสัญญาณนับถอยหลังเพื่อเตรียมพร้อมรีเซ็ตหลังจากนี้