“จุรินทร์” เตือน กมธ. ปปช. ระวังผิดกฎหมาย ตรวจสอบ "ดร.เอ้" ร่ำรวยผิดปกติ

“จุรินทร์” เตือน กมธ. ปปช. ระวังผิดกฎหมาย ตรวจสอบ "ดร.เอ้" ร่ำรวยผิดปกติ

“จุรินทร์” เตือน กมธ. ปปช. ต้องระวังการนำกระบวนการตรวจสอบที่ยังไม่มีข้อสรุปออกมาเปิดเผย นอกจากจะกลายเป็นเรื่องทางการเมือง แล้วยังเข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมาย 

5 ก.พ.2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณี ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีข่าวว่า ถูก กมธ. ปปช.ตรวจสอบร่ำรวยผิดปกตินั้นว่า เรื่องนี้ความจริง “ดร.เอ้” ก็ได้ตอบคำถามสื่อไปแล้วว่า ท่านพร้อมที่จะมีการให้ตรวจสอบ และมั่นใจว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร

ตนเชื่อว่าผู้ที่ติดตามสถานการณ์การเมืองก็คงพอคาดเดาได้ว่าการยื่นเรื่อง หรือการดำเนินการของ กมธ. ปปช. ของสภาผู้แทนราษฎรในการดำเนินการนั้น ถ้า ดร.เอ้ ไม่ประกาศตัวเป็นผู้ว่าฯ กทม. เหตุนี้ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นตนเชื่อว่าคนที่ติดตามการเมือง ก็พอจะคาดเดาได้ว่าเป็นเรื่องทางการเมือง หรือไม่เป็นเรื่องทางการเมือง

“สิ่งที่ กมธ. จะต้องระมัดระวังก็คือ เรื่องของการที่ถ้ามีการดำเนินการก็จะต้องระมัดระวังในการนำรายละเอียดหรือกระบวนการตรวจสอบที่ยังไม่มีข้อสรุปออกมาเปิดเผย เพราะอันนี้เราก็ต้องระมัดระวังไม่ว่าจะเป็น กมธ.ชุดไหนก็ตาม เพราะมันอาจจะกลายเป็นเรื่องทางการเมือง และขณะเดียวกันก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายได้” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเป็นการใช้ตำแหน่ง ส.ส. ให้คุณให้โทษกับผู้สมัครพรรคอื่นหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตนไม่ขอไม่ตอบตรงนี้ แต่นี่คือสิ่งที่ตนเตือนว่าก็ต้องระมัดระวัง อย่าให้กลายเป็นการดิสเครดิตกันในทางการเมือง เพราะใน กมธ. ก็มีสมาชิกพรรคการเมืองหลายพรรคอยู่ในนั้น และแจ้งความจำนงที่จะเป็นคู่แข่งกับ ดร.เอ้ ด้วย 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า พรรคจะให้ฝ่ายกฎหมายเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับแจกแจกทรัพย์สินให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ท่านดูแลตัวเองได้ ไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการประชุมสภาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มี ส.ส. ของพรรคส่วนหนึ่งที่ร่วมประชุมสภา แต่ไม่แสดงตน ได้มีการกำชับอย่างไรหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตรงนี้ทุกฝ่ายต้องระมัดระวัง อย่างน้อยที่สุดในส่วนของรัฐบาล ตนคิดว่าพรรคแกนหลัก คือ พรรคพลังประชารัฐจะต้องเป็นหลักเสียก่อน เพราะนั้นกระบวนการดำเนินการภายในของพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีความสำคัญมาก ตนไม่ได้ไปวิจารณ์อะไร เพียงแต่ขอให้ความเห็นในลักษณะที่ปรารถนาจะเห็นงานในสภา และในคณะรัฐบาลเดินหน้าไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่นและเป็นประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่สภาล่มบ่อยๆ จะส่งผลเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองก่อนที่กฎหมายลูกจะสำเร็จหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ เพียงแต่มันก็ไม่ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อสภา และรวมทั้งในส่วนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรด้วย และอาจมีผลกระทบไปถึงภาพลักษณ์ทางการเมืองของรัฐบาลด้วย ตนถึงเรียนว่าพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำก็จะต้องรีบกลับไปช่วยดูเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ด้าน นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราชและรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า  พรรคประชาธิปัตย์ยินดีและพร้อมให้มีการตรวจสอบอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดำเนินนโยบายและเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากว่า กระบวนการตรวจสอบเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพรรคก็ได้ส่งเสริมและทำหน้าที่ตรงจุดนี้มาโดยตลอด

ทั้งนี้ ในกรณีของทรัพย์สินที่นายสุชัชวีร์ และครอบครัวถือครองอยู่นั้น นายสุชัชวีร์ ก็ได้ชี้แจงต่อสาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ก็มีข่าวว่า  ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินใน กรณีที่นายสุชัชวีร์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ครบ 3 ปี ก่อนจะลาออกเพื่อลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. กับทางพรรคฯ พร้อมกับภรรยาคือนางสวิตตา

ซึ่งทาง กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ของสภาฯ ก็สามารถขอข้อมูลหรือดาวน์โหลดในเว็บของทาง ปปช. เพื่อพิจารณาในเบื้องต้นได้ และนายสุชัชวีร์ ก็ไม่มีทีท่าปฏิเสธสื่อมวลชน เมื่อถูกถามในประเด็นดังกล่าวเพราะมั่นใจและเข้าใจในวิถีทางของนักการเมืองว่า การตรวจสอบถือเป็นกระบวนการที่ถูกที่ควรของนักการเมืองที่ดี ดังนั้น หากทาง กมธ.ปปช. จะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป โดยการเชิญนายสุชัชวีร์ ไปชี้แจงนั้น ก็ไม่ใช่ปัญหาของทางนายสุชัชวีร์อยู่แล้ว

แต่เกรงว่า ทาง กมธ.ปปช. เอง อาจจะถูกครหาว่า ดำเนินการโดยมีเรื่องการเมืองแอบแฝง ซึ่งท้ายที่สุดเรื่องที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่เป็นอำนาจของทาง กมธ.ปปช. ที่รอให้พิจารณานั้น ช้ากว่าเรื่องที่เป็นประเด็นทางการเมือง ดังที่ปรากฏผ่านสื่อที่ผ่านมาๆ ในการทำงานของ กมธ. ชุดนี้ด้วย 

       “ผมเห็นว่า การเปิดประเด็นเรื่องทรัพย์สินของนายสุชัชวีร์ นั้น น่าจะมาจากภายหลังจากที่พรรคก้าวไกลได้เปิดตัว นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ เป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ปรากฏว่า กระแสตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร เพราะขนาดผู้สนับสนุนเองยังบ่นเลยว่า พรรคก้าวไกลควรจะหาคนที่สร้างกระแสให้คน กทม. สนใจได้มากกว่านี้"

ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงใช้วิธีการที่ถนัดคือ พยายามด้อยค่าบุคคลอื่นให้เท่ากับตัวเอง หรือในวิธีการทางการเมืองแบบเดิมๆ เรียกว่า การดิสเครดิต ซึ่งถึงแม้ว่า นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ 1 ใน กมธ. ปปช. ของสภาฯ ซึ่งเป็นผู้เปิดประเด็นในเรื่องนี้ จะขอถอนตัวจากการตรวจสอบโดยอ้างว่า เพื่อป้องกันครหา

แต่ตนเชื่อว่า นายธีรัจชัย คงรู้อยู่แก่ใจว่า เป็นเพียงเกมการเมืองที่ถูกกำหนดให้นายธีรัจชัยเป็นผู้เล่นเท่านั้น เนื่องจากว่า หากนายสุชัชวีร์ได้รับการตรวจสอบและผลปรากฏว่า ไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติอย่างกับที่กล่าวหา นายสุชัชวีร์ ก็สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายฟ้องร้องได้ ดังนั้น นายธีรัจชัย ควรจะแนะนำให้พรรคก้าวไกล ทำตามเสียงสะท้อนของผู้สนับสนุนพรรคฯ  โดยการหาบุคคลที่เหมาะสมมากกว่า นายวิโรจน์ มาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. จะดีกว่าการดิสเครดิตคนอื่น เพราะยังมีเวลาพอสมควรกว่าที่จะมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่า ฯ กทม. อีกทั้ง การที่นายวิโรจน์ ลาออกมานั้น ส่งผลเสียให้สภาฯ ขาดองค์ประชุมไป 1 คน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาชน เรียกร้องให้ ส.ส. งดเล่นเกมการเมือง โดยหันมาทำงานในสภาเพื่อพิจารณากฎหมายสำคัญๆ อันจะเกิดประโยชน์สาธารณะอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกด้วย