สัญญาณ"ยุบสภา-เลือกตั้ง" "เกมเร่ง-ปมเร้า"ด่านวัดใจ

สัญญาณ"ยุบสภา-เลือกตั้ง"  "เกมเร่ง-ปมเร้า"ด่านวัดใจ

"สัญญาณเลือกตั้ง" เวลานี้มีเปอร์เซ็นสูงว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตใกล้ แม้บรรดา "บิ๊กรัฐบาล" รวมถึง "บิ๊กพปชร." จะยืนยันเสียงแข็ง"อยู่ครบเทอม" แต่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า "อุบัติเหตุการเมือง" พร้อมเกิดได้ทุกเมื่อ

พลันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ลต 0012/ว 178 ลงวันที่ 1 ก.พ.2565 ประกาศจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัด 400 คน ตามกติกาบัตร 2 ใบ ซึ่งถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

“ปี่กลองการเมือง” ส่งสัญญาณตอกย้ำศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นานหลังจากนี้ ไม่ต่างจากความเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคการเมือง ทั้งขั้วซ้ายและขวา ที่ยามนี้แต่งตัวเตรียมพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้ง

สัญญาณที่เกิดขึ้น มีการจับตาไปที่ “ไทม์ไลน์”  ระหว่างช่วงปี ไม่ว่าจะเป็นช่วง “ครึ่งปีหลัง” หลังจากที่ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยออกมาระบุไทม์ไลน์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และนายกเมืองพัทยา ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือน พ.ค. 

ยามนี้ จึงได้เห็นความเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัคร การประชันนโยบาย รวมถึงการลงพื้นที่รุกฐานเสียง “ตุนแต้ม” ปูทางสู่สนามใหญ่ในอนาคต

ไทม์ไลน์ถัดไป จะอยู่ที่ช่วงประมาณเดือนก.ค.ซึ่งเป็นช่วงที่กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง 2 ฉบับ มีสภาพบังคับแบบครบถ้วนทุกกระบวนความ เปิดทางสู่การประกาศยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน 

สอดคล้องกับท่าทีของ “2 บิ๊กรัฐบาล” อย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับกลางที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

“ถ้ากฎหมายประกอบการเลือกตั้งไม่เสร็จ ยุบสภาจะลำบากมาก เพราะไม่รู้จะนับคะแนนอย่างไร ดังนั้น กฎหมายดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างสูง”

ไม่ต่างจากท่าทีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ออกมาประกาศกร้าวเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา คล้อยหลัง 1 วัน หลังพรรคพลังประชารัฐมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และอดีตเลขาธิการพรรค รวมถึง ส.ส.ในกลุ่มรวม 21 คน

 ยืนยัน “ไม่มีการคิด จะดำเนินการเรื่องของการปรับคณะรัฐมนตรี ยุบสภา เพราะว่ากฎหมายยังไม่เรียบร้อย” 

เช่นนี้จึงประเมินได้ว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเลือกที่จะเปิดเกม “ยื้อยุทธ์” ลากยาวไปจนถึงไตรมาส 3 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 4 ของปี 65 

แต่ทว่าด้วยปัจจัยการเมือง ณ เวลานี้ ท่ามกลางแรงกระเพื่อมภายในขั้วรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น “ชนวนร้าวพลังประชารัฐ” หลังเกิดปรากฏการณ์ “21 กบฏ พปชร.” ที่นอกจากจะส่งผลให้ค่ายพลังประชารัฐแตกยับแล้ว ยังเกิดคลื่นใต้น้ำที่สั่นสะเทือนไปยังรัฐบาล 

ยังไม่นับรวมกับคะแนนนิยม พปชร.ที่ยามนี้ติดลบอย่างเห็นได้ชัด ตอกย้ำด้วยความพ่ายแพ้ 3 สนามเลือกตั้งซ่อม ซ้ำปัญหาเศรษฐกิจเวลานี้  ทำให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลจะ “ยื้อยุทธ์” ไปได้อีกนานแค่ไหน

ยิ่งไปกว่านั้น “ปมหลอน” ที่รออยู่ข้างหน้า ยังมีทั้งการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ของฝ่ายค้าน ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนนี้

หรือแม้แต่ “ศึกซักฟอก” ในเดือน พ.ค. ที่ยังต้องจับตาปรากฏการณ์ “กบฏการเมือง ภาค 2” อันอาจส่งผลไปถึงเกมล้มกระดานที่พร้อมเกิดขึ้นทุกเมื่อ

เหนือไปกว่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีอีกหนึ่ง “ปมหลอน” ที่รออยู่ข้างหน้า นั่นคือประเด็น “เงื่อนตาย 8 ปี” ในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยามนี้กลายเป็นปมที่ตามหลอกหลอน และฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในเดือน ส.ค.นี้

ฉะนั้นแม้ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงบิ๊กรัฐบาลจะประสานเสียงยืนยัน ไม่มีการยุบสภาก่อนที่กฎหมายลูกจะมีผลบังคับใช้

แต่ด้วย“อุบัติเหตุการเมือง” ที่อาจเกิดขึ้นทุกเมื่อ สัญญาณยุบสภาและเลือกตั้งในช่วงครึ่งปี65 จึงยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตา

ในแง่ของกฎหมาย มีการมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลไม่จำเป็นต้องรอให้กฎหมายลูกมีผลบังคับใช้ เพราะรัฐบาลสามารถออกกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ ในรูปแบบ “พระราชกำหนด” หรือ พ.ร.ก.เพื่อมาใช้ในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นได้ 

ซึ่งหากเป็นไปในแนวทางนี้ เท่ากับว่ารัฐบาลจะมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในการออกกฎหมายเลือกตั้ง โดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการสภาในการ “ปรับ-แก้-แปรญัตติ-เพิ่มเติม”

ฉะนั้นสถานการณ์ ณ เวลานี้จึงถือได้ว่าต้องจับตารายชั่วโมง โดยเฉพาะเกมสภาที่ล่มรายวัน บวกแรงกระเพื่อมรอบด้านที่ส่งมายังรัฐบาลและเป็นเสมือน“เกมเร่ง-ปมเร้า”

เช่นนี้“อุบัติเหตุ”ก็ย่อมเกิดได้ทุกเมื่อ!!