ถอดรหัสยุทธศาสตร์"กล้า" ดึงแต้มฝ่ายขวา-หาเสียงล่วงหน้า

ถอดรหัสยุทธศาสตร์"กล้า"  ดึงแต้มฝ่ายขวา-หาเสียงล่วงหน้า

"ศึกหลักสี่" แม้ยามนี้รู้ผลแพ้ชนะไปเป็นที่เรียบร้อย ทว่าผลคะแนนที่ออกมาสะท้อน"นัยทางการเมือง" อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะ "พรรคกล้า" ที่เปิดยุทธศาสตร์ชิงแต้ม "พรรคฝ่ายขวา" ซ้ำยังเป็นโอกาสในการหาเสียงล่วงหน้าเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งใหญ่หลังจากนี้

อย่างที่รู้กันว่า ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร เวลานี้เราได้รู้ผลแพ้ชนะกันไปเป็นที่เรียบร้อย โดยเก้าอี้ ส.ส.ในเขตดังกล่าวตกเป็นของ “สุรชาติ เทียนทอง” จากพรรคเพื่อไทย ที่ชนะท่วมท้นด้วย 29,416 คะแนนตามที่คาดหมาย

ทว่า ศึกเลือกตั้งซ่อมหลักสี่รอบนี้ นอกเหนือจากจะเป็นการทวงคืนศักดิ์ศรี รวมถึงการ “ปักธง” ของฝ่ายประชาธิปไตย อันมีผลต่อการเลือกตั้งสนามใหญ่ในอนาคตแล้ว

หากไล่เรียงผลคะแนนในแต่ละลำดับ พบว่ามี “นัยสำคัญ” อย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะลำดับ 2 และ 3 ที่ตกเป็นของผู้สมัครทั้ง “หน้าใหม่” และ “พรรคใหม่” มีคะแนนทิ้งห่างกันเพียงหลักร้อยคะแนนเท่านั้น

โดยลำดับ 2 ผู้สมัครหน้าใหม่คือ  “เพชร” กรุณพล เทียนสุวรรณ จากพรรคก้าวไกล ได้ 20,361 คะแนน 

ขณะที่ลำดับ 3 อย่าง “เอ๋” อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี แม้จะไม่ใช่หน้าใหม่ในสนาม กทม.หรือ เขตหลักสี่ แต่รอบนี้ย้ายจากค่ายสีฟ้าประชาธิปัตย์มาสวมเสื้อสีใหม่ในนาม “พรรคกล้า” ที่มี “กรณ์ จาติกวณิช” เป็นหัวหน้าพรรค ไล่มาติดๆ ด้วย 20,047 คะแนน

เมื่อเจาะลึกไปที่คะแนนของ “เอ๋” อรรถวิชช์ รอบนี้ ซึ่งมีการข้ามจากเขต 6 ราชเทวี พญาไท และจตุจักร มาลงเลือกตั้งซ่อมในเขต 9 หลักสี่-จตุจักร แม้ผลคะแนนของเขาจะอยู่ในลำดับ 3 แต่ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเกินคาด เพราะทิ้งห่างลำดับ 4 อย่าง“เจ๊หลี”สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยาสิระ เจนจาคะ จาก พปชร.เจ้าของพื้นที่เดิมที่ได้เพียง 7,906 คะแนนกว่า 12,000 คะแนน

ซ้ำยังสวนทางกับการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ที่ครั้งนั้น “อรรถวิชช์” สวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ลงชิงในเขต 6 ที่มาเป็นลำดับ 4 ด้วย 16,525  คะแนน ขณะที่แชมป์ในเขตดังกล่าวคือ “ภาดาท์ วรกานนท์” จากพรรคพลังประชารัฐ

เช่นนี้ จึงมีการวิเคราะห์ไปถึงปัจจัยของตัว “อรรถวิชช์” และพรรคน้องใหม่อย่างพรรคกล้า ซึ่งชิมลางสนามเลือกตั้งหลักสี่เป็นสนามที่ 3 ต่อจากศึกเลือกตั้งซ่อมเขต 1 ชุมพร และเขต 6 สงขลา ว่ามีจากหลายเหตุผล

 

ปัจจัยแรก คะแนนจากพรรคประชาธิปัตย์ที่รอบนี้ไม่ส่งผู้สมัครลงแข่ง

ปัจจัยที่สอง คะแนนที่เทมาจาก “การเมืองฝ่ายขวา” ซึ่งกลุ่มนี้อาจเคยเป็นอดีตแม่ยก แฟนคลับของพรรคพลังประชารัฐ  ที่ยามนี้อยู่ในช่วงขาลงอย่างเห็นได้ชัด บวกกระแสเบื่อหน่าย “ลุงตู่” และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะประเด็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้อง

โดยเฉพาะในส่วนของหัวหน้าพรรคอย่าง “กรณ์” ซึ่งพยายามฉายภาพความล้มเหลวในการแก้ปัญหาปากท้องของรัฐบาล 

ส่วนนี้เองที่อาจทำให้โหวตเตอร์กลุ่มนี้ เลือกที่จะ “ลองของใหม่” โดยเฉพาะพรรคกล้าที่ขายภาพหัวหน้าพรรคในฐานะอดีตขุนพลเศรษฐกิจ พร้อมชูนโนบายเศรษฐกิจและปากท้อง เดินสายกลางทำการเมืองแบบ “ไม่ซ้าย-ไม่ขวา” มาสู้วาทกรรม “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” ซึ่งเคยถูกใช้เมื่อการเลือกตั้งปี 2562

อีกหนึ่ง ปัจจัยที่ทำให้ตัว “อรรถวิชช์” ได้รับผลคะแนนแบบเกินคาดในครั้งนี้ หนีไม่พ้นฐานเสียงเดิมที่มีอยู่ เพราะหากย้อนกลับไปในการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 ครั้งนั้น อรรถวิชช์ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในเขต 4 คือ เขตจตุจักร บางซื่อ หลักสี่ ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมทีมกับ “บุญยอด สุขถิ่นไทย” และ “จั้ม”สกลธี ภัททิยกุล

ก่อนที่การเลือกตั้งในปี54 เขาจะลงเลือกตั้งที่ 9 จตุจักร และได้รับชัยชนะ

"อรรถวิชช์" จึงพยายามฉายภาพชัดจากการหาเสียงในช่วงเวลากว่า 20 วันที่ผ่านมา ซึ่งเขาพยายาม  ปลุกวาทกรรม “รู้จักพื้นที่หลักสี่และจตุจักร ในเขตที่ลงนี้เกือบทุกตารางนิ้ว”

ยิ่งไปกว่านั้น การหวนคืนสนามเดิมของอรรวิชช์ เมื่อปี 2551 เขายังได้รับแรงหนุนจากฐานเสียงเดิมของ “จั้ม” สกลธี เพื่อนรักซึ่งเคยเอาชนะสุรชาติเมื่อครั้งการเลือกตั้งในปี 2550 ที่เวลานั้นสวมเสื้อพรรคประชาราช 

ก่อนที่การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 “สกลธี” จะพลิก พ่ายสุรชาติที่หันมาสวมเสื้อเพื่อไทย

ฉะนั้นแม้ในยามที่ “จั้ม” เพื่อนรักจะไม่มีตำแหน่ง ส.ส.เป็นตราประทับ แต่ด้วยฐานเสียงเดิม บวกตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.ที่มีอยู่

ส่วนนี้เองที่อาจทำให้ “เอ๋” อรรถวิชช์ ได้รับแรงหนุนจากศึกเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา

จะว่าไป แม้ศึกรอบนี้แม้ “อรรถวิชช์” จะไม่สามารถกำชัยให้กับพรรคกล้าได้ แต่ผลคะแนนที่ออกมา ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อสนามการเมืองหลังจากนี้ โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งมีการประเมินว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ยิ่งไปกว่านั้น มีการมองไปถึง“กติกาเลือกตั้ง” ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้กลับไปใช้ “บัตร 2 ใบ” หรือ “สูตรแบ่งเขต ส.ส.” ตามกฎหมายลูกที่อยู่ระหว่างยกร่างในขณะนี้ ที่จะส่งผลให้ กทม.มีจำนวนส.ส.เพิ่มจาก 30 คนเป็น 33คน 

สิ่งที่จะตามมาคือการ “เขย่าเขต” ใหม่  โดยเฉพาะ 5 แขวงของ  “เขตจตุจักร” ซึ่งแต่เดิมถูกแบ่งเป็น แขวงจตุจักร และแขวงจอมพลอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 6 (ราชเทวี พญาไท จตุจักร)

 ขณะที่ แขวงลาดยาว,แขวงเสนานิคม และ แขวงจันทรเกษม ไปอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 9 (หลักสี่ เขตจตุจักร) กลับมารวมเป็นเขตจตุจักรเขตเดียวเหมือนการเลือกตัั้งปี 2554

เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้ “อรรถวิชช์” จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ ซึ่งเจ้าตัวก็น่าจะประเมินไว้ในระดับหนึ่งแต่ต้นอยู่แล้ว

แต่หากมองในแง่ยุทธศาสตร์ การที่เขาสามารถดึงแต้มจากฝ่ายขวามาตุนคะแนนไว้ในมือ บวกกับการได้หาเสียงล่วงหน้าใน 2 แขวงของเขตจตุจักร

ย่อมส่งผลดีมากกว่าเสีย หากในอนาคตเขาจะกลับไปแก้มือในเขตเดิมอย่างจตุจักร 

ความพ่ายแพ้เมื่อปี62 ของ"อรรถวิชช์" มีการประเมินว่า นอกเหนือจากคะแนนนิยมค่ายสีฟ้าที่ยามนั้นอยู่ในช่วงขาลง ต่างจากพลังประชารัฐที่อยู่ในช่วงขึ้นแล้ว

ส่วนหนึ่งมาจากคะแนนจาก3แขวงเดิมที่ถูกหั่นไปอยู่ที่เขตหลักสี่ ฉะนั้นการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น หากมีการเขย่าเขตนำ3แขวงกลับมารวมที่จตุจักรเพียงเขตเดียว 

นั่นหมายถึงจะเป็นเกมเข้าทาง "อรรถวิชช์" ในการช่วงชิงแต้มจากพรรคฝ่ายขวาด้วยกัน

โดยเฉพาะในห้วงที่พลังประชารัฐกำลังอยู่ในสภาวะแพแตก-คะแนนนิยมดิ่งเหว ดังเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้