เตรียม!ปรับโฉม "ทางม้าลาย" ทั่วประเทศ กทม. มี115 จุดอันตราย

เตรียม!ปรับโฉม "ทางม้าลาย" ทั่วประเทศ  กทม. มี115 จุดอันตราย

ตำรวจ ถก หน่วยงานรัฐ มีมติร่วม ออกสำรวจทางม้าลาย เตรียมปรับปรุงทั่วประเทศ เผยใน กทม. มี115 จุดอันตราย เตรียมติดตั้งสัญญาณไฟ ทาสีพื้น หวังลดอุบัติเหตุคนข้าม พร้อมเตรียมมอบรางวัลให้ประชาชนส่งคลิปผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย

28 ม.ค. 2565 ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พลตำรวจเอก  ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร หรือ ศจร.ตร.  พลตำรวจโท โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม.  นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ประธานอนุกรรมการความปลอดภัยทางถนนและจราจร  สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย

นายสุจิณ มั่งนิมิต ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติความปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม นายวิทยา จันทน์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองถิ่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมการขนส่งทางบก ร่วมประชุมหารือแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางม้าลาย ใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ได้นำมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ หรือ นปถ. ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา  ซึ่งมอบหมายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง โดยให้นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีความตระหนัก มีจิตสำนึก และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ในที่ประชุมวันนี้ ได้สั่งการให้สถานีตำรวจทั่วประเทศ ตรวจสอบทางม้าลาย ร่วมกับ จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แขวงการทาง หรือหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของถนน เพื่อหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขเส้นทางข้ามให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งการทาสี ตีเส้น ทำแถบชะลอความเร็ว ทำป้ายเตือน ปรับทัศนวิสัย ติดตั้งไฟสัญญาณจราจรควบคุมทางข้าม การติดตั้งกล้อง CCTV 

 โดยผลการหารือระหว่าง กทม.และบช.น. สรุปให้มีการสำรวจทางข้ามที่เป็นจุดเสี่ยง ซึ่งจะต้องติดตั้งไฟสัญญาณจราจรควบคุมทางข้ามจำนวนกว่า 100 จุด ซึ่งขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างเสนองบประมาณจากสภา กทม.

นอกจากนี้ ตำรวจจะร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ พิจารณากำหนดอัตราความเร็วในเขตชุมชน ที่มีประชาชนหนาแน่น หรือบริเวณสถานศึกษาหรือโรงพยาบาลตั้งอยู่ รวมถึงความเร็วขั้นต่ำก่อนถึงทางม้าลาย จัดทำป้ายจำกัดความเร็ว ซึ่งในเขตชุมชนอาจจำกัดความเร็ว 30 – 40 กม./ชม. นอกเขตชุมชน จำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. และจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ฝ่าฝืน 

 

ในที่ประชุม ยังได้กำหนดความเร็วก่อนถึงทางม้าลาย ให้รถชะลอความเร็วอย่างเหมาะสมในแต่ละจุดว่า จะต้องอยู่ที่ความเร็วเท่าไร เช่น ก่อนถึงทางม้าลายบริเวณแยกพญาไท จะกำหนดความเร็วที่ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งทาง ตร.จะออกข้อบังคับพนักงานจราจรในพื้นที่ต่างๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อกำหนดความเร็วที่ปลอดภัยกับสภาพพื้นที่นั้นๆ

รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า แต่ละสถานีตำรวจให้จัดกำลังตำรวจจราจรและอาสาจราจร เข้าดูแลความปลอดภัยบริเวณทางม้าลาย โดยเฉพาะทางข้ามที่ไม่มีการติดตั้งไฟสัญญาณจราจรควบคุมในช่วงที่มีประชาชนจำนวนมากเดินสัญจรไปมา  และจะบังคับใช้อย่างจริงจังกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายจราจร  เช่น ไม่จอดให้คนข้าม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท แซงบริเวณทางข้าม ปรับ 400- 1,000 บาท จอดรถในทางม้าลายปรับไม่เกิน 500 บาท รวมทั้งผู้กระทำผิดข้อหาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะ 10 ข้อหาหลัก เช่น ฝ่าไฟแดง ย้อนศร ขับรถเร็ว เมาแล้วขับ อย่างต่อเนื่อง

พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ มีมติปรับทางม้าลาย บริเวณทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ จุดที่หมอกระต่ายถูกรถจักรยานยนต์ บิ๊กไบค์ของตำรวจพุ่งชนเสียชีวิต โดยช่วงวันเสาร์ - อาทิตย์นี้ จะเริ่มทาสีแดงบนผิวจราจร ขยายทางม้าลาย ให้มีความกว้างเพิ่ม 1 เท่าจากปัจจุบัน เพื่อสังเกตเห็นได้ชัดในระยะไกล ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรคนข้าม และ ติดตั้งกล้องเอไอตรวจจับการกระทำผิดกฎจราจร 

เนื่องจากบริเวณดังกล่าว ทางโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ประสานไปยังกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2558 ขอให้ กรุงเทพมหานคร ทำทางม้าลายคนข้าม เพื่อบริการผู้ป่วย จึงจะไม่มีการยกเลิกทางม้าลายดังกล่าว แต่ยอมรับลักษณะทางกายภาพเป็นจุดเสี่ยง เนื่องจากทางม้าลายอยู่ใกล้แยกไฟแดง ซึ่งเป็นช่วงที่รถกำลังทำความเร็วหลังผ่านไฟแดง

ด้าน พลตำรวจโท โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในระยะยาว กรุงเทพมหานคร จะศึกษาทางเลือกอื่น ในการข้ามถนน บริเวณหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เช่น การก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามแทนทางม้าลาย รวมถึงทางม้าลายในจุดเสี่ยงอันตรายอื่น ก็อาจปรับไปใช้การข้ามถนนโดยวิธีอื่นที่ปลอดภัยเช่นกัน

จากการสำรวจทางม้าลาย ในเขตกรุงเทพมหานคร พบมีจำนวน 3,280 จุด มีจุดที่เป็นอันตราย 115 จุดบนถนสายต่างๆ เช่น ถนนอโศกดินแดง บริเวณทางรถไฟอโศก 7, ถนนกำแพงเพชร 7 แยกจตุทิศ ถนนจตุรทิศ, ทางม้าลายหน้าตลาดกลางประชาสงเคราะห์ซอย 4, หน้าโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ถนนราชวิถี, หน้าโรงเรียนวัดธรรมาภิรตาราม ถนนเตชะวณิชย์ เขตดุสิต

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาเร่งด่วนสำหรับทางม้าลายที่เสี่ยงอันตราย จะติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบ 1,277 จุด, ติดตั้งไฟสัญญาณกดปุ่มคนข้าม 226 จุด, ทาพื้นทางม้าลายสีแดง 431 จุด มั่นใจว่า จะช่วยลดอุบัติเหตุคนข้ามทางม้าลายได้

พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับผู้พบการกระทำผิด รถไม่หยุดให้คนข้ามหรือรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรที่ทางม้าลาย สามารถถ่ายคลิป แล้วส่งให้ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายได้ โดยให้ส่งมาที่ศูนย์บริหารงานจราจร ผ่านช่องทาง ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร. https://www.facebook.com/SocialMediaRoyalThaiPolice/) หรือเพจอาสาตาจราจร มูลนิธิเมาไม่ขับ (https://www.facebook.com/อาสาตาจราจร) หรือเพจเฟซบุค จส.100 และ สวพ.91 

คลิปที่ ตร. ได้รับ จะส่งต่อให้สถานีตำรวจพื้นที่ติดตามดำเนินคดีกับผู้ทำผิด รวมถึงส่งไปพิจารณาในโครงการอาสาตาจราจรประจำเดือน ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินรางวัลสูงสุดเดือนละ 20,000 บาท ขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันเป็นอาสาตาจราจร เพื่อช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนกฎหมาย ความละอายต่อการทำผิด และสร้างวินัยการขับขี่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคม