แม่บ้าน "พปชร." บุญมี บารมีไม่เกิด ติดหล่ม ขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจ

แม่บ้าน "พปชร." บุญมี บารมีไม่เกิด ติดหล่ม ขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจ

"เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ" ทุกคนที่ผ่านมา และคนปัจจุบัน ถึงจะมีโอกาส แต่ก็ไม่สามารถเฉิดฉาย เปร่งบารมีอย่างล้นหลาม จนเป็นที่ยอมรับของคนทั้งในและนอกพรรคได้

เรียกได้ว่า "พรรคพลังประชารัฐ" เป็นพรรคที่ใช้ "แม่บ้านพรรค" หรือ "เลขาธิการพรรค" เปลืองมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองไทยในขณะนี้

นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคในปี 2561 มีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคมาแล้ว 3 คน คนแรกคือ "สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" อดีตรมว.พลังงาน คนที่สองคือ "อนุชา นาคาศัย" รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนคนที่สาม ที่เพิ่งถูกขับพ้นพรรคไป คือ "ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า" อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ 

ล่าสุด "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค เซ็นคำสั่งแต่งตั้งเลขาฯ พรรคคนที่ 4 คือ "สันติ พร้อมพัฒน์" รมช.คมนาคม นั่งรักษาการตำแหน่งเลขาฯ ขัดตาทัพ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกันใหม่ในที่ประชุมใหญ่ของพรรค 

การเปลี่ยนแปลงเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ล้วนมาจากสาเหตุของความขัดแย้งภายในพรรคทั้งสิ้น เมื่อแกนนำแต่ละกลุ่ม ต่างคนต่างมีพาวเวอร์ และหวังช่วงชิงการนำพรรคมาไว้กับกลุ่มก๊วนของตัวเอง

ไม่ว่าใครก็ตามขึ้นมามีตำแหน่ง ก็ต้องเผชิญเกมเตะตัดขา เจอแรงต้านจากคนในพรรคด้วยกันเองตลอดเวลา แรงกระเพื่อมตรงนี้หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้พรรคไร้เอกภาพอย่างรุนแรงเช่นที่เห็นทุกวันนี้ 

ตำแหน่ง "เลขาฯ พรรค" กลายเป็นศูนย์รวมความขัดแย้ง ไม่สามารถสร้างบารมี หรือทำการเมืองให้เป็นไปในแบบที่ควรจะเป็น เหมือนอดีตบรรดาเลขาฯ หลายพรรค ที่ได้ชื่อว่าเป็นมือประสานสิบทิศ และเป็นนักปั้น "นายกรัฐมนตรี

ในสมัย "พรรคชาติไทย" รุ่งเรือง "บรรหาร ศิลปอาชา" เป็นเลขาฯ พรรค ระหว่างปี 2523-2537 ด้วยสถานการณ์จำเป็นต้องดัน ป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ  "มังกรเติ้ง" เป็นผู้จัดการรัฐบาล ก็ได้นั่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ และต่อมาขยับไปนั่ง รมว.คมนาคม สมศักดิ์ศรี

"บรรหาร" ยังมีบทบาทผลักดัน "พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ" หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็น "นายกฯ" และเจ้าตัวได้ รมว.อุตสาหกรรม ตามมาด้วย รมว.มหาดไทย และรมว.คลัง ตามลำดับก่อนถูกคณะ รสช. ยึดอำนาจ

หรือยุค “เสธ.หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นเลขาพรรคประชาธิปัตย์ ที่ช่ำชองเกมการเมือง สามารถดึงงูเห่าจากพรรคประชากรไทย มาสนับสนุน จน "ชวน หลีกภัย" ได้เป็นนายกฯ สมัย2 

ในยุคเจ้าพ่อวังน้ำเย็น "เสนาะ เทียนทอง" ครั้งเป็นเลขาฯ พรรคชาติไทย ก็มีส่วนผลักดัน "บรรหาร" เป็นนายกฯ กระทั่ง มานั่งเลขาฯ พรรคความหวังใหม่ "ป๋าเหนาะ" ก็ยังสวมบทนักปั้นผลักดัน "พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ" เป็นนายกฯ สำเร็จ และยังมีบทบาทสำคัญในยุค"ไทยรักไทย" กับการสนับสนุน "ทักษิณ ชินวัตร" เป็นผู้นำฝ่ายบริหาร 

หรือแม้แต่สมัย "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เป็นเลขาฯพรรคประชาธิปัตย์ ก็สามารถพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล โดยดึงกลุ่มเพื่อนเนวิน มาสนับสนุนจน "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็น "นายกฯ" แม้จะมีข้อครหาตามมามากมาย

เลขาฯ พรรคหลายคนที่ว่ามา ซึ่งสามารถกำหนดทิศทางทางการเมืองได้นั้น สถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมในแต่ละยุคสมัยอาจจะเอื้อให้สร้างบารมีทางการเมืองจนกลายเป็นที่โจษขาน

แตกต่างจาก "พรรคพลังประชารัฐ" ที่เป็นแกนนำจัดตั้ง "รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ขณะนี้ คนที่ดำรงตำแหน่ง "แม่บ้านพรรค" กลับต้องง่วนอยู่กับเกมการเมืองระหว่างคนในพรรคด้วยกันเอง จนงานใหญ่สะดุดไม่เป็นท่า 

อีกทั้ง บริบทของ "พลังประชารัฐ" ตั้งแต่ก่อตั้งพรรค มีความซับซ้อน หลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง รวมถึงการเข้ามาของนักการเมืองแต่ละมุ้ง ต่างก็มาด้วยเงื่อนไข เช่น โปรย้ายค่าย การถูกอำนาจบีบ กดดัน แลกกับอะไรบางอย่าง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้การก่อกำเนิดของพรรคเป็นอย่างที่เห็น แต่ละกลุ่มก๊วนต่างแย่งชิงอำนาจ ไม่ได้มองเป้าหมายของพรรคเป็นสำคัญ

ด้วยความที่ "พลังประชารัฐ" ก้าวไม่ข้ามความขัดแย้ง ที่นานวันสถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ แม้ "พล.อ.ประวิตร" จะลงมาบัญชาการคุมพรรคด้วยตัวเอง แต่ผลสัมฤทธิ์ในการสร้างความเป็นเอกภาพ แทบไม่เคยเกิดขึ้นจริง 

ดังนั้น จึงไม่แปลกถ้าเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ทุกคนที่ผ่านมา และคนปัจจุบัน ถึงจะมีโอกาส แต่ก็ไม่สามารถเฉิดฉาย เปร่งบารมีอย่างล้นหลาม จนเป็นที่ยอมรับของคนทั้งในและนอกพรรคได้ 

สาเหตุสำคัญก็เป็นเพราะติดหล่มความขัดแย้งกันเองภายในพรรค ที่ส่งผลกระทบกับความนิยม ฉุดภาพลักษณ์จนติดลบ กลายเป็นแบรนด์ที่เต็มไปด้วยเสียงยี้ ชนิดที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้