เจาะโพลเลือกซ่อม"หลักสี่-จตุจักร" วัด"พรรค-ผู้สมัคร" ใครได้ลุ้น

เจาะโพลเลือกซ่อม"หลักสี่-จตุจักร"  วัด"พรรค-ผู้สมัคร" ใครได้ลุ้น

คะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ช่วงอายุ 18-25 ปี เทให้กับ “กรุณพล-พรรคก้าวไกล” ช่วงอายุ 35-60 ปี ซึ่งเป็นฐานคะแนนที่ใหญ่ที่สุด ประชากรอยู่ในวัยทำงาน ฐานนี้จะแย่งชิงกันระหว่าง “สุรชาติ-อรรถวิชช์” ตามมาด้วย “กรุณพล” และต่อด้วย “สรัลรัศมิ์”

ช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร บรรดา “ผู้สมัคร” ของทุกพรรคการเมืองลงพื้นที่ถี่ยิบ หลายพรรคขน “แกนนำพรรค” เรียกเรตติ้ง หวังสร้างกระแสเก็บคะแนน

“ผู้สมัคร” ทุกคนรู้จุดอ่อน-จุดแข็งของตัวเอง ผ่านการทำโพลของพรรค เพื่อหาช่องโหวก่อนจะคิดกลยุทธปิดจุดอ่อนให้ได้ เพื่อไม่ให้คะแนนของตัวเองถูกคู่แข่งชิง และทิ้งห่างออกไป

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลจาก “โพล”ภายใน และการประเมินของพรรคการเมือง ที่สำรวจความนิยมของพรรคและตัวผู้สมัคร ว่าใครมีโอกาสได้ลุ้นเก้าอี้ ส.ส.กทม.เขต 9 มากน้อยแค่ไหน เพื่อฉายภาพฐานคะแนน และความได้เปรียบเสียเปรียบในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนจะถึงวันเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งในวันที่ 30 ม.ค.นี้

เบอร์ 1 “พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์” ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี ถือเป็นสนามแรกของพรรคไทยภักดีที่ส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ ส.ส. ฐานคะแนนไม่ได้อยู่ที่ตัวของ “พันธุ์เทพ” แต่อยู่ที่ความนิยมของพรรคไทยภักดี ซึ่งมีจุดยืนชัดเจนในการปกป้องสถาบันฯ และตัวผู้สมัครก็ใช้สโลแกนประจำตัว “ไม่กุ๊ย ไม่กร่าง ไม่โกง รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

ทุกคะแนนของ “พันธุ์เทพ” จึงมาจากพรรคไทยภักดี มากกว่ามาจากตัวผู้สมัครเอง โดยมีกลุ่มภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ ร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุน และสัปดาห์สุดท้ายนี้ พรรคได้ดึงคนดัง ศิลปินดารา ออกมาช่วยเรียกคะแนนเพิ่ม จึงต้องติดตามว่ากระแสของพรรคไทยภักดีในสนามเลือกตั้งแรกจะมีมากน้อยเพียงใด

เบอร์ 2 “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ผู้สมัครจากพรรคกล้า แม้จะเป็นพรรคการเมืองใหม่ แต่พรรคกล้าผ่านสนามเลือกตั้งซ่อมมาแล้ว 3 สนาม ทำให้กระแสของพรรคกล้าพอมีอยู่บ้าง ที่สำคัญ“อรรถวิชช์” มีพื้นที่ฐานเสียงบางส่วนอยู่ในเขตจตุจักรอยู่ก่อนแล้ว ในช่วงที่ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์

ทำให้ความนิยมในตัวของ “อรรถวิชช์” ในพื้นที่ยังมีอยู่พอสมควร บวกกับกระแสของพรรคกล้าที่มีบางโพลสำรวจออกมาว่า “คนหลักสี่-จตุจักร” อยากลองของใหม่ ทำให้คะแนนในช่วงโค้งสุดท้ายดีดตัวปรับขึ้นพอตัว

เบอร์ 3 “สุรชาติ เทียนทอง” ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย คะแนนนิยมในตัวของ “สุรชาติ” ที่ได้จากฐานเสียงในพื้นที่ มีมากกว่าคะแนนนิยมของพรรคหลายเท่าตัว การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 “สุรชาติ” ได้ 32,115 คะแนน ซึ่งมีความเป็นได้สูงที่จะรักษาฐานดังกล่าวเอาไว้ได้

ที่สำคัญแม้ “สุรชาติ” ไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง แต่ยังทำพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีจุดแข็งที่ได้เปรียบกว่าผู้สมัครรายอื่นอยู่พอสมควร

เบอร์ 6 “กรุณพล เทียนสุวรรณ” ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล คะแนนนิยมในตัวของ “กรุณพล” สูสีกับคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกล โดยมีฐานของ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” คอยสนับสนุน ซึ่งต้องติดตามว่านิวโหวตเตอร์ที่เป็นฐานเสียงของพรรคก้าวไกล จะเทคะแนนให้มากน้อยเพียงใด

เบอร์ 7 “สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ต้องยอมรับว่าคะแนนนิยมในตัวของ “สรัลรัศมิ์” มีน้อยกว่าคะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐอยู่มาก ที่สำคัญความวุ่นวายภายในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้คะแนนนิยมของพรรคดิ่งลงอีก ยิ่งทำให้กระทบต่อ “สรัลรัศมิ์” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“สรัลรัศมิ์-พลังประชารัฐ” รู้ดีว่าคะแนนนิยมตกต่ำลง โค้งสุดท้ายจึงปรับกลยุทธ์ เลือกชูผลงานของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหวังดึงคะแนนจากแฟนคลับ “บิ๊กตู่” ให้ช่วงเทคะแนนให้

นอกจากโพลภายในของบางพรรค จะวัดคะแนนนิยมในตัวผู้สมัคร และพรรคการเมืองแล้ว ยังเจาะจงประเด็นการสำรวจ ตามช่วงอายุของ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” จากประชากรในช่วงอายุต่างๆ ดังนี้

ช่วงอายุ 18-25 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ คะแนนเกือบร้อยละ 60-70 เทให้กับ “กรุณพล-พรรคก้าวไกล” ส่วนที่เหลือเฉลี่ยกันไปที่ “สุรชาติ-อรรถวิชช์” ส่วน “พันธ์เทพ-สรัลรัศมิ์” ได้คะแนนจากกลุ่มนี้น้อยมาก

ช่วงอายุ 25-35 ปี กลุ่มนี้มีที่อยู่อาศัยเป็นอาคารคอนโดฯมากกว่าบ้านเรือน มีคะแนนเฉลี่ยกันไป “กรุณพล” อาจจะมีแต้มมากกว่าคนอื่น แต่ไม่ห่างกันมากนัก

ช่วงอายุ 35-60 ปี ซึ่งเป็นฐานคะแนนที่ใหญ่ที่สุด ประชากรอยู่ในวัยทำงาน ฐานนี้จะแย่งชิงกันระหว่าง “สุรชาติ-อรรถวิชช์” ตามมาด้วย “กรุณพล” และต่อด้วย “สรัลรัศมิ์” ส่วน “พันธ์เทพ” มีโอกาสได้คะแนนจากกลุ่มนี้ค่อนข้างน้อย

ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รักสถาบันฯ ทำให้แนวทางของ “พันธ์เทพ-พรรคไทยภักดี” ค่อนข้างได้เปรียบคู่แข่งอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม กลุ่มสูงอายุยังค่อนข้างผูกพันกับ “สุรชาติ” ซึ่งอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนานเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ยังมีตัวแปรอื่นที่จะเป็นปัจจัยต่อการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร อาทิ กลุ่มเบื่อรัฐบาล กลุ่มเบื่อการเมือง กลุ่มยังไม่ตัดสินใจ เป็นต้น ที่อาจมีผลต่อการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้

ทั้ง 5 คน จาก 8 ผูู้สมัครทั้งหมด คือผู้สมัครที่มีโอกาสลุ้นเก้าอี้ ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มากที่สุด 

แม้ผู้สมัครบางคน บางพรรคการเมือง เมื่อพิจารณาผลโพลแล้วรู้ตัวเองว่า โอกาสชนะมียาก แต่ขอปักธงลงในพื้นที่เพื่อสะสมแต้มการเมือง เผื่ออนาคตให้ได้มากที่สุด เพราะสนามใหญ่ยังมีโอกาสแก้มืออีกครั้ง