"ไทยสร้างไทย" ชี้ "รัฐ" แจกเงิน สร้างนิสัยคนอยู่เฉย ไม่มุ่งต่อสู้เอาตัวรอด

"ไทยสร้างไทย" ชี้ "รัฐ" แจกเงิน สร้างนิสัยคนอยู่เฉย ไม่มุ่งต่อสู้เอาตัวรอด

"นพดล" ข้องใจ "ครม." ทุ่มงบ 5.3 หมื่นล้าน กระตุ้นศก. ดูแลปชช. หรือเตรียมเลือกตั้ง เรียกคะแนนนิยม ชี้ แก้ศก. ต้องให้ความสำคัญคนรากหญ้า มากกว่านายทุน แนะ เปิดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน เพิ่มกำลังซื้อ ไม่ใช่แจกเงินแล้วจบ เหตุ ไม่ยั่งยืน บ่มเพาะนิสัยให้คนอยู่เฉย รอความช่วยเหลือ

นายนพดล มังกรชัย กรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณกว่า 53,000 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ขอตั้งข้อสังเกตว่ามีเจตนาเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนเพียงอย่างเดียวหรือไม่ หรือเพื่อเตรียมการไปสู่การเลือกตั้ง และเรียกคะแนนนิยมให้กับบางพรรคการเมืองที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี หลังจากในช่วงที่ผ่านมาความนิยมเริ่มตกต่ำ เป็นเพียงการทำเพื่อหาเสียงหรือไม่

นายนพดล กล่าวว่า เพราะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องให้ความสำคัญกับคนในระดับรากหญ้ามากกว่านายทุนตัวใหญ่ และจะเห็นได้ว่าภาพที่นายทุนใหญ่มักได้รับการปกป้องดูแล เช่น เมื่อคนตัวเล็ก ตัวน้อย ประสบปัญหาข้าวยากหมากแพง กลับไม่มีแผนในการแก้ไขระยะยาว การแก้ไขปัญหาหมูแพง เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด 

ซึ่งพรรคไทยสร้างไทย เห็นว่าดีที่สุด ยั่งยืนที่สุด จะต้องดูแลทั้งในส่วนของคนตัวเล็กและผู้ประกอบการ ควบคู่กันไป ทั้งการเปิดทางให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน การเพิ่มกำลังซื้อ จึงจะทำให้ประชาชนมีหนทางในการแก้ไขปัญหา ที่ประสบวิกฤติของตนเองได้ เช่นพรรคไทยสร้างไทยได้ตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อดูแลคนตัวเล็ก ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการที่มีอยู่ 3 ล้านกว่าราย และที่อยู่นอกระบบอีกกว่า 1 ล้านราย และที่สำคัญคนตัวเล็กอีกกว่า 30 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน 

ดังนั้น การแก้ไขปัญหา จึงไม่ใช่เฉพาะการแจกเงินแล้วจบ แต่จะต้องมีมาตรการในการส่งเสริมดูแลและติดตามผลคนเหล่านี้อย่างจริงจัง เช่นเดียวกับพรรคไทยสร้างไทย ที่ได้เสนอจัดตั้งกองทุนขึ้นมา ไม่ใช่เฉพาะเป็นแหล่งเงินกู้ แต่ต้องมีลักษณะของการส่งเสริมและดูแลด้วย และให้บุคคลเหล่านั้นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะใช้เงินและการดำเนินธุรกิจไปข้างหน้า 

นายนพดล กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนเดือดร้อนของประชาชนด้วยการแจกเงินอย่างเดียว แม้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง แต่ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นการส่งเสริมบ่มเพาะนิสัยให้คนอยู่เฉยๆ รอแต่การช่วยเหลือ ไม่มุ่งมั่นจะต่อสู้อย่างมีศักดิ์ศรีที่จะเอาตัวรอดฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆไปได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้รัฐยังต้อง ดูแลเรื่องค่าครองชีพ ปัญหาการว่างงาน และขจัดอุปสรรคจากกฎเกณฑ์ที่รกรุงรังเป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของผู้ประกอบการและประชาชน