เสถียรภาพรัฐบาล กับปัญหาค่าครองชีพ

เสถียรภาพรัฐบาล กับปัญหาค่าครองชีพ

นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จำเป็นต้องดำเนินการให้แต่ละกระทรวงร่วมแก้ปัญหานี้ให้ได้

คณะรัฐมนตรีคณะที่ 62 ของประเทศไทย ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง ครม.เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2562 เป็นการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้ง และมีรัฐมนตรีหลายคนที่ทำหน้าที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนหน้าที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งการมีรัฐบาลหลายพรรค ทำให้ต้องมีการแบ่งสัดส่วนรัฐมนตรีตามจำนวน ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาล และมีรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ 3 คน จาก 3 พรรคการเมือง 

พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำหน้าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง และในช่วงแรกของการจัดตั้งรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจผ่านคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ซึ่งเป็นรูปแบบที่เคยดำเนินการในหลายรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสม และปฏิเสธไม่ได้ว่าการผลักดันนโยบายหลายด้านที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวงจะมีความล่าช้า รวมทั้งทำให้เห็นภาพการจับคู่ขับเคลื่อนงานเฉพาะที่พรรครับผิดชอบ เช่น กระทรวงคมนาคมจับคู่กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์จับคู่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

แม้แต่การบริหารงานภายในกระทรวงที่ถูกแบ่งการกำกับดูแลระหว่างรัฐมนตรีว่าการกับรัฐมนตรีช่วยว่าการ ได้ส่งผลต่อการขับเคลื่อนงานระหว่างกรมในกระทรวง ในขณะที่นายกรัฐมนตรีพยายามชูภาพการทำงานแบบบูรณาการ แต่การขับเคลื่อนต่างแยกส่วนตามรัฐมนตรีที่กำกับ ซึ่งในภาวะปกติยากในการขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการอยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลที่มีเสถียรภาพลดลงย่อมทำให้การทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิผลเป็นไปได้ยากขึ้น

กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับปัญหาราคาสินค้าอาหารสดและราคาพลังงานในปัจจุบัน รวมถึงหน่วยงานที่มีส่วนในการสนับสนุนการแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง ซึ่งคาดหวังว่าแต่ละกระทรวงดังกล่าวจะมองปัญหาเป็นปัญหาเพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหา เพราะราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นเกิดอยู่ในภาวะที่รายได้ของประชาชนไม่ได้ปรับขึ้นตามไปด้วย 

เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะฟื้นตัวจึงมีความกังวลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจำเป็นต้องบริหารจัดการอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเครื่องมือของรัฐบาลมีหลายส่วนที่นำมาใช้ได้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ต้องก้าวข้ามการบริหารงานแบบรัฐบาลผสม และก้าวข้ามปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จำเป็นต้องดำเนินการให้แต่ละกระทรวงร่วมแก้ปัญหานี้ให้ได้