แบรนด์“ประยุทธ์”บนเงื่อนไขขัดแย้ง “ขาลง”พรรคเมินชื่อ"แคนดิเดต"

แบรนด์“ประยุทธ์”บนเงื่อนไขขัดแย้ง “ขาลง”พรรคเมินชื่อ"แคนดิเดต"

ในวันที่แบรนด์ “ประยุทธ์” ไม่แรงเหมือนเหมือน และอาจจำเป็นต้องรีแบรนด์ ปรับตัวเอง เพื่อเป็นสินค้าที่พรรคการเมืองแย่งกันสนับสนุน 

แม้จะมีหลายปัจจัยที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่สามารถเอาชนะศึกเลือกตั้งซ่อมชุมพร-สงขลา เหมือนการพับหลายสนามที่ผ่านมา หลายคำถามใหญ่เกิดขึ้น จน “พรรคการเมือง-นักการเมือง” ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง เพื่อเดินเกมหมากต่อไป นั่นคือแบรนด์ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ยังจะขายได้อยู่อีกหรือไม่

เพราะต้องไม่ลืมว่าเกือบ 8 ปีบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ช่วงนั่งเก้าอี้นายกฯ-หัวหน้าคสช. อำนาจล้นฟ้า ชูธงเข้ามาปฏิรูปประเทศตามข้อเรียกร้องของ “กปปส.” แต่สิ่งที่(ไม่)ปรากฎ การปฏิรูปในมือของ “ประยุทธ์-คสช.” ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แม้แต่อย่างเดียว

ต่อด้วยเก้าอี้นายกฯ หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ซึ่ง “พล.อ.ประยุทธ์” มีคะแนนนิยมสูงมากในพื้นที่ภาคใต้-กทม. ส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐกวาด ส.ส. มาเป็นลำดับสอง จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

ทว่า เมื่อรัฐบาลจากการเลือกตั้งเดินหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ได้มีอำนาจล้นฟ้าเหมือนช่วงมีตำแหน่ง “หัวหน้าคสช.” ค้ำคอ แต่กลับยังบริหารราชการแบบ “รัฐราชการ” เหมือนเดิม ไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประเทศที่ถาโถมเข้ามา

จนถูกโจมตีอย่างหนัก ต่อเนื่องเรื่องการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก การปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคพุ่งสูงขึ้นแบบไม่เคยเป็นมาก่อน การแสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาที่ไม่ประเทืองปัญญา ข้อหาฉกรรจ์เหล่านี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้คะแนนนิยมในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ลดลงฮวบฮาบ

ทำให้พรรคการเมือง ที่คิดจะเสนอชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อหวังโกยแต้มการเมืองเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา อาจจะคิดหนักมากกว่าเดิม

ต้องยอมรับว่าเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา “พล.อ.ประยุทธ์”จากสถานะที่ถูกชูเป็น"คนกลาง" เข้ามาขจัดความขัดแย้ง มาถึงวันนี้กลับอยู่ใจกลางความขัดแย้ง และยังเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง จนแทบไม่เหลือเครดิตคนกลางเข้ามาแก้ปัญหา

ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ขัดแย้งกับ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” ซึ่งจะเป็นฐานเสียงการเมืองสำคัญของพรรคการเมืองในอนาคต แม้การชุมนุมของ “ม็อบสามนิ้ว” ยังไม่มีวี่แววจะชนะ แต่ได้สร้างบาดแผล และจุดกระแสไม่เอา “ประยุทธ์” อย่างกว้างขวาง

ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มขัดแย้งกับ “กลุ่มคนชั้นกลาง-กลุ่มคนรากหญ้า” เนื่องจากปัญหา “ของแพง” ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยทุกกลุ่ม แม้จะอ้างว่ากระทรวงพาณิชย์ อยู่ในความดูแลของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่อย่าลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง

ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ เพราะหลังปฏิบัติการปลด “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ กลเกมทางการเมืองในสภาถูกงัดออกมาใช้ เพื่อวัดพลังกันหลายครั้ง แม้ “2 ป.” ป.ประยุทธ์ - ป.ป๊อก อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะพยายามเข้ายึดพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังไม่สามารถทะลวงเข้าไปได้

ดังนั้นชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเกือบทุกภาคส่วน แม้จะพยายามลอยตัวเหนือปัญหา แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะ “ผู้นำประเทศ” ต้องบริหารจัดการทุกปัญหาให้ได้

จึงไม่แปลกที่พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดย 2 กุมาร “อุตตม สาวนายน” และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เปิดตัวพรรควันแรกก็ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

แน่นอนว่า พรรคสร้างอนาคตไทย มีชื่อของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค แต่การตัดสัมพันธ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ ทันที ย่อมมองถึงกระแสนิยมขาลงเรื่อยๆ จนไม่เสียเวลาแทงกั๊ก

หลังจากนี้ จึงต้องจับตาว่าพรรคน้องใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัวอย่าง "พรรคไทยสร้างสรรค์" ที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นพรรคสำรองของ พล.อ.ประยุทธ์ จะหมายมั่นปั้นมือ เสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่

เนื่องจาก “เสี่ยตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรมว.ศึกษาธิการ ที่กำลังเดินสายสร้างฐาน “ไทยสร้างสรรค์” มีแนวคิดจะทำการเมืองแนว “คนรุ่นใหม่” หากมีธงในการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็ต้องลุ้นว่า จะมีผู้ร่วมอุดมการณ์อย่างที่หวังหรือไม่ 

เช่นเดียวกับ "พรรคไทยสร้างไทย" ของ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ปฏิเสธชื่อ “ประยุทธ์”อย่างสิ้นเชิง แต่เมื่อถึงวัน ว. เวลาน. ลงสนามเลือกตั้ง จะมีคำถามพุ่งตรงไปยัง “คุณหญิงสุดารัตน์” ทันทีว่า จะร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ อีกหรือไม่ หากคำตอบแทงกั๊กก็มีความเสี่ยงต่อแต้มการเมืองเช่นกัน

ขณะที่ "พรรคพลังประชารัฐ" หากยังเดินหน้าต่อด้วยการชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อีกสมัย คงต้องปรับขบวนกันใหม่ ซึ่งนักเลือกตั้งในพรรค อยากเปิดโต๊ะเจรจากับนายกฯ ประยุทธ์ มาตลอด เพื่อให้ลงมาคลุกวงในการเมือง อย่างน้อยให้มีชื่อเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเพิ่มความชอบธรรมในการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

อีกทั้งข้อดี ของการลดเพดานลงมานั่งเก้าอี้ ส.ส. อาจเปิดทางให้พรรคการเมืองอื่น ตัดสินใจร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ง่ายขึ้น เพราะถือว่ามาจากการเลือกของประชาชน ไม่ได้มีชื่อลอยๆ มาจากคนนอก แต่มีกุมอำนาจรัฐทั้งหมด

จากนี้ไป ต้องจับตาว่าชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะถูกจัดวางไว้พรรคไหน อย่างไร 

ในวันที่แบรนด์ “บิ๊กตู่” ไม่แรงเหมือนเหมือน และอาจจำเป็นต้องรีแบรนด์ ปรับตัวเอง เพื่อเป็นสินค้าที่พรรคการเมืองแย่งกันสนับสนุน