"สภาล่ม" ขย่มรัฐ-ศึกขนาบข้าง นับถอยหลังยุบสภาฯ?

"สภาล่ม" ขย่มรัฐ-ศึกขนาบข้าง นับถอยหลังยุบสภาฯ?

ประเด็น "สภาล่มซ้ำซาก" กลายเป็นประเด็นที่ตามหลอนรัฐบาล จนมีการจับตามไปที่สัญญาณยุบสภาที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้

เสียงเร่งเร้า “ยุบสภา”  นับวันจะยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น ยิ่งล่าสุดเกิดเหตุ“สภาล่ม” 2ครั้งในรอบ1สัปดาห์ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า นี่!เป็นการส่งสัญญาณนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งในอีกไม่ช้าไม่นานหลังจากนี้ 

แม้ฟากรัฐบาลจะพยายามยืนยันหนักแน่นว่า เรื่องอค์ประชุมเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา และปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียง “กลเกมการเมือง” ของฝ่ายค้านที่ต้องการสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล เห็นชัดจากการอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่กดแสดงตน

ทว่าการเกิดเหตุสภาล่มซ้ำซากในหลายต่อหลายครั้ง ย่อมเป็นการสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการคุมเสียงของรัฐบาลที่เวลานี้ไม่ได้ปริ่มน้ำเหมือนดังแต่ก่อน

ยิ่งเวลานี้มีประธานวิปรัฐบาลชื่อ “นิโรธ สุนทรเลขา” ที่แปลเปลี่ยนบทบาทในสภาจาการเป็น"ทีมองครักษ์พิทักษ์นาย" ขึ้นแท่นแทน “วิรัช รัตนเศรษฐ” ที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จากคดีทุจริตด้วยแล้ว

กลับยิ่งมีการตั้งคำถามไปถึงบทบาทหน้าที่ของประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ที่ดูเหมือนจะเน้นไปทาง“ประสานงา”เสียมากกว่า“ประสานงาน”

เพราะหากนับเพียงแค่สมัยประชุมนี้ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่1พ.ย. ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่นิโรธ รับไม้ต้อจากวิรัช 1เดือนเศษได้เกิดเหตุสภาล่มไปแล้วถึง4ครั้งคือ เริ่มต้นที่วันที่ 3พ.ย.2564 ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ประชุมมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.. 

ครั้งที่2 วันที่17พ.ย.2564 พิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ... 

ครั้งที่3 วันที่15ธ.ค.2564 พิจารณาร่างกฎหมายยกเลิกคำสั่งคสช. และครั้งที่4วันที่17ธ.ค.2564 พิจารรายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ

ยังไม่นับรวม8ครั้งก่อนหน้าที่สภาเผชิญปัญหา “องค์ประชุมล่ม” หรือ12ครั้งตลอดระยะเวลา2ปีรัฐบาล

เช่นนี้กลับยิ่งเป็นการสะท้อนถึง "สนิมเนื้อใน" ที่กำลังเกาะกินรัฐบาลไม่หยุดหย่อน และยิ่งเป็นเกมเร่มเร้าให้รัฐบาลต้องปิดจ๊อบ "ยุบสภา"เร็วกว่าความตั้งใจ

ฟากฝ่ายค้านเองดูเหมือนจะอ่านเกมตรงนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ยอมรับว่า จะให้บทเรียนรัฐบาลแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะปรับตัวเอง หรือจนกว่าจะยุบสภา

นอกเหนือจาก “เกมสภาล่ม” ที่กำลังขย่มรัฐบาล อยู่ ณ เวลานี้ ยังมีศึกใหญ่ที่กำลังขนาบข้างและสั่นคลอนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม อยู่เป็นระยะทั้งสารพัดม็อบที่รอจังหวะเคลื่อนทัพนอกสภา

นอกจากนี้ยังมี การอภิปรายทั่วไป ซึ่งฝ่ายค้านวางเกมขยี้แผลไว้ในช่วงต้นปีหน้าหวังทิ้งทวนสมัยประชุมในเดือนก.พ.2565 เพื่อให้ต่อเนื่องไปถึงการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ”  ที่จะสามารถยื่นได้ในสมัยประชุมถัดไปหรือในช่วงเดือนพ.ค.2565 

ยังไม่นับรวมอีกหลากหลายศึกนอก-ศึกใน ที่กำลังสั่นคลอนความเชื่อมั่นรัฐบาลอยู่ ณ เวลานี้

ฉะนั้นแม้ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จะยืนกราน “อยู่ครบเทอมไปจนถึงปี66” เอาเข้าจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น ที่สุดแล้วหากยื้อต่อไปไม่ไหว ทางเลือกสุดท้ายอาจอยู่ที่การ“ยุบสภา”  

ย้อนกลับไปในอดีตประเทศไทยมีการยุบสภามาแล้วถึง13ครั้ง จำนวนนี้มีชนวนเหตุมาจาก ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภา 2 ครั้ง , เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจหรือเสร็จสิ้นภารกิจเฉพาะกิจ 3ครั้ง ,ความขัดแย้งภายในรัฐบาล 4ครั้ง,ความขัดแย้งระหว่างสภาด้วยกัน1ครั้ง, เกิดวิกฤติการเมือง3ครั้ง

ส่วนการยุบสภาครั้งที่14จะเกิดขึ้นเมื่อใดเชื่อว่าอีกไม่นานจะได้รู้กัน!