"ก้าวไกล -ไอลอว์” เปลี่ยนยุทธวิธี  ลุยโละ"มรดกคำสั่งคสช.”นอกสภาฯ

"ก้าวไกล -ไอลอว์” เปลี่ยนยุทธวิธี  ลุยโละ"มรดกคำสั่งคสช.”นอกสภาฯ

เมื่อ "สภาฯ ฝั่งรัฐบาล" เลือกใช้ เสียงข้างมาก ตีตกร่างกฎหมาย โละมรดก คสช. ที่ภาคประชาชนต้องการให้ยกเลิก จุดยืน ของ "ก้าวไกล" และ "ไอลอว์" ที่ย้ำว่า เดินหน้าต่อ จึงต้องเปลี่ยนยุทธวิธี

        แม้ไม่ผิดความคาดหมาย ที่ “ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ....” ที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอ 12,609 เสนอ ถูก“เสียงข้างมาก”ตีตก ไม่รับหลักการ มติคือ 234 เสียง ต่อเสียงที่สนับสนุน 161 เสียง

 

        แต่ถือว่าเป็นการแสดงจุดของ "ส.ส."  ร่วมรัฐบาล ฐานะเสียงข้างมาก แม้ไม่มีการอภิปรายคัดค้านต่อที่ประชุมสภาฯ

 

        แต่การลงมติเป็นเอกภาพทิศทางเดียวกันว่า ไม่ยอมให้ ประกาศ คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. 29 ฉบับ ที่ภาคประชาชนเสนอ ให้ “ยกเลิก” เพราะมีผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งการเรียกร้อง เคลื่อนไหวการเมือง รวมถึง สั่ง คสช. นั้นเป็นอาญาสิทธิ์ที่ใครไม่ทำตาม “มีความผิด” ผ่านเข้าสู่กระบวนการ “ยกเลิก” ได้ตามกฎหมาย

 

        นอกจากไม่รับหลักการร่างกฎหมายโละคำสั่ง คสช. 29 ฉบับแล้ว “มติสภาฯ” ยังตีตก ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ.... ที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล ครั้งยังเป็น “พรรคอนาคตใหม่” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เป็นผู้นำเสนอ ให้ยกเลิกคำสั่งคสช. 17 ฉบับที่กระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยเสียงไม่รับหลักการ 229 เสียง ต่อเสียงที่รับหลักการ 157 เสียง

 

        ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า กลไกของ “เสียงข้างมาก” ยังแอบอิงกับ “เครือข่าย คสช.” โดย “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.ก้าวไกล มองกระบวนการเสียงข้างมากเหล่านี้ คือ เป็นกลุ่มนักการเมืองที่ปกป้องหน้าตา และศักดิ์ศรีของ “ฝั่งผู้ยึดอำนาจ” ที่ไม่ยอมให้ผู้ใด ยกเลิกกฎหมายที่ออกมาในยุคของการปฏิวัติ-รัฐประหาร

\"ก้าวไกล -ไอลอว์” เปลี่ยนยุทธวิธี  ลุยโละ\"มรดกคำสั่งคสช.”นอกสภาฯ

         “ผมเข้าใจดีว่าการยกเลิกบรรดาคำสั่งหัวหน้าคสช. หรือประกาศของคสช. ทั้งหมดย่อมมีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน แต่สิ่งที่ตัวแทนประชาชนและกลุ่มส.ส.เสนอนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารประเทศที่ผ่านมา แต่เมื่อเสียงข้างมากของสภาฯ​ ตีตก พรรคก้าวไกลต้องหาทางลุยต่อ เพราะคำสั่งของ คสช. เหล่านั้นยังมีผลบังคับใช้” รังสิมันต์ ระบุ

 

         สำหรับแนวทางลุยต่อของ “พรรคก้าวไกล” ถูกจับตาว่าจะใช้ “แยกร่างเสนอต่อสภาฯ” หรือ “ผลักดันผ่านกลไกนอกสภา” ในเบื้องต้น “รังสิมันต์” บอกว่า ชั้นนี้จะยึดกลไก “สภาฯ” แต่ “เปลี่ยนยุทธวิธี"

 

         “การเสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกคำสั่งคสช. จะแยกทีละร่าง หรือจัดกลุ่มหมวดหมู่แล้วเสนอ หรือรวมกันเหมือนเคย ในความเป็นจริงไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน เพราะตามกระบวนการพิจารณาของสภาฯ เมื่อยื่นร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง หรือหลายฉบับ สุดท้ายต้องนำไปพิจารณารวมกัน แม้ว่าจะแยกร่างยื่นหรือ รวมเป็นร่างเดียว ดังนั้นสิ่งที่อาจขับเคลื่อนได้ คือ การพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาลให้มากขึ้น เพราะจากปรากฏการณ์ครั้งนี้ แม้ฟากรัฐบาลไม่อภิปรายอะไร และไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจเหตุผล แต่การลงมติชี้ชัดว่าไม่ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายที่เป็นหน้าตาของคสช.” รังสิมันต์ขยายความ

 

         ต่อประเด็นการพูดคุยกับฟากฝั่งรัฐบาล ในแนวทางของ “สภาฯ” ผ่านกระบวนการทำงานของ “กรรมการประสานงาน” อาจเป็นเรื่องที่ยาก แต่กลไกของ “รัฐบาล” ยังมีกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ที่มี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธาน และเคยประกาศแนวทางทำงานว่า จะพิจารณาเลิกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น หรือ กฎหมายล้าหลัง

\"ก้าวไกล -ไอลอว์” เปลี่ยนยุทธวิธี  ลุยโละ\"มรดกคำสั่งคสช.”นอกสภาฯ

         ดังนั้นช่องทางผ่าน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย จะเป็นอีกช่องทางที่ เครือข่ายประชาชน รวมถึง ส.ส.ก้าวไกลจะพิจารณา เพื่อลุยต่อ หรือไม่ สำหรับ “รังสิมันต์” บอกว่า เป็นเรื่องที่ยินดี หาก กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย จะรับฟังเสียงสะท้อน ของ ส.ส. ในสภาฯ และ สิ่งที่ภาคประชาชนขับเคลื่อน ดังนั้นกลไกขับเคลื่อนผ่านการย้ำความเห็น และสะท้อนความคิดให้ “ตัวแทนรัฐบาล ที่ทำหน้าที่ปฏิรูปกฎหมาย” รับไปพิจารณา ยังไม่ใช่สิ่งที่เป็นคำตอบ

         สำหรับการพิจารณาของสภาฯ ต่อร่างกฎหมาย โละคำสั่ง คสช. มีบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ คือ ระยะเวลารอ “นาน” โดยทั้ง 2 ฉบับนั้น ถูกบรรจุเข้าสู่วาระของสภาฯ ตั้งแต่ปลายปี 2563 โดย ร่างกฎหมายของ “ปิยบุตร” ถูกบรรจุในวาระ ตั้งแต่การประชุมสภาฯ ปีที่2 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง วันที่ 2 ธันวาคม2563 ส่วน ร่างกฎหมายของ “ไอลอว์” บรรจุในวาระสภา ปีที่ 2 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง วันที่ 8 กรกฎาคม 2563

 

         ดังนั้นการใช้กลไกของ “สภาฯ” ตามที่ “รังสิมันต์” ระบุ การฟื้นร่างกฎหมายเพื่อโละคำสั่งคสช. อาจทำไม่ได้ในสภาฯ ชุดปัจจุบัน ที่มีวาระทำงานอีก 1 สมัยครึ่ง ดังนั้นในทางเลือกที่เป็นไปได้ คือ การเสนอเป็นนโยบายของพรรคการเมือง เพื่อพูดคุยกับประชาชน และให้ประชาชนตัดสินใจและหากวันข้างหน้า ได้ ส.ส.เข้าสภาฯ มากขึ้น การยกเลิกบรรดาคำสั่งหัวหน้าคสช. หรือประกาศคสช. ที่กระทบสิทธิ เสรีภาพประชาชน รวมถึงลิดรอนเสรีภาพสื่อมวลชน จะทำได้จริง

\"ก้าวไกล -ไอลอว์” เปลี่ยนยุทธวิธี  ลุยโละ\"มรดกคำสั่งคสช.”นอกสภาฯ

         ขณะที่ฝั่งของ “ไอลอว์” ตัวแทนของภาคประชาชน "ยิ่งชีพ อัชฌานนท์" ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ที่ผิดหวังต่อการลงมติของสภาฯ และสิ้นหวังที่จะเห็น สภาฯ ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจคณะรัฐประหาร แต่ยังยืนยันเดินหน้าทำกิจกรรมและรณรงค์ โละมรดกของคสช. โดยเฉพาะประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชน จากคำสั่งของ คสช. ฉบับต่างๆ

 

         ในการเดินเกมของ “ไอลอว์” ครั้งนี้ คือ รณรงค์ให้ประชาชน ไม่เลือก “ส.ส.” ที่ทำหน้าที่พิทักษ์มรดกของคสช. ไว้ เพื่อสั่งสอน “ผู้แทนปวงชน” ที่​ไม่เคารพต่อเสียงของประชาชน

 

         ทั้งนี้ ร่างกฎหมาย ที่เสนอโดยประชาชนในการประชุมสภาฯ สมัยปัจจุบัน นอกจาก 2 ร่างกฎหมายที่โละมรดกคำสั่ง คสช. แล้ว ก่อนหน้านั้น เมื่อ 8 ธันวาคม สภาฯ ยังลงมติไม่รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ภาคประชาชน 11,808 คนร่วมเสนอ ด้วยเสียงข้างมาก 235 เสียงต่อ 86 เสียงด้วย

 

         ดังนั้นในสมัยปัจจุบันยังไม่พบว่า ร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน หรือ เสนอโดย ส.ส. ที่ไม่มีร่างกฎหมายของรัฐบาลเสนอประกบ ผ่านเข้าสู่ชั้นการพิจารณาของสภาฯ แม้แต่ฉบับเดียว.