“พรรค-แคนดิเดต” ขยับเปิดนโยบาย ศึก"ผู้ว่าฯกทม."แข่งพัฒนาเมือง

“พรรค-แคนดิเดต” ขยับเปิดนโยบาย ศึก"ผู้ว่าฯกทม."แข่งพัฒนาเมือง

ศึก"ผู้ว่าฯกทม."แข่งพัฒนาเมือง “พรรค-แคนดิเดต” ขยับเปิดนโยบาย - กลุ่มมวลชนฐานเสียง จับตา “ก้าวไกล” ดีล “นักธุรกิจหญิง” เปิดตัวกลาง ม.ค.65

การเมืองสนามกรุงเทพฯ เริ่มคึกคัก พรรคการเมืองทยอยเปิดตัวผู้สมัครชิงเก้าอี้ “ผู้ว่าฯกทม.” แม้จะยังไม่มีการประกาศอย่างชัดเจนว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งกันในวันใด แต่คาดการณ์ไทม์ไลน์การเมืองได้ว่า น่าจะไม่เกินช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ปี 2565

ทำให้ระยะเวลาในการหาเสียงอย่างจริงจังของบรรดาผู้สมัครจะมีแค่ 3-6 เดือนเท่านั้น บรรดาพรรคการเมืองที่ลงตัวแล้ว จึงเร่งเปิดหน้า “ว่าที่ผู้สมัคร” กันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อสะสมคะแนนนิยม เพราะเวลา 3-6 เดือนน้อยมากกับการสร้างตัวตนให้ “คนเมืองหลวง” ไว้เนื้อเชื่อใจ

ขณะเดียวกันพรรคการเมืองและว่าที่ผู้สมัคร ต่างเร่งเคาะนโยบายหาเสียง เน้นแก้ปัญหาเมืองหลวงในทุกด้าน ให้โดนใจ “ชาวกรุงเทพฯ” และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมแนวคิด-นโยบายของ “ตัวเต็ง” ของแต่ละพรรค-แต่ละคน ที่จะใช้เป็นธงหลักในการขับเคี่ยวแย่งชิงเก้าอี้ “ผู้ว่าฯกทม.” กันในรอบนี้ 

เริ่มกันที่ความชัดเจนล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เตรียมเปิดตัว “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) วันนี้ (13ธ.ค.) ดร.สุชัชวีร์ วัย 49 ปี โปรไพล์ปริญญาตรี วิศวกรรมก่อสร้างสจล. ปริญญาโท Geotechnical Engineering ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม The University of Wisconsin-Madison USA อีกใบด้าน Techno logy and Policy ด้านนโยบายและเทคโนโลยี Massachusetts Institute of Technology (MIT) USA ปริญญาเอก Geotechnical Engineering ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม Massachusetts Institute of Technology (MIT) USA ปี 2545

เป็นอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เป็นผู้ก่อตั้งและประธานคณะกรรมการยุววิศวกรแห่งประเทศไทยคนแรก เคยเป็นประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์ เมื่อปี 2553 เป็นศาสตราจารย์ทางด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์คนแรกของประเทศไทย เมื่ออายุเพียง 37 ปี

ก่อนจะตอบรับประชาธิปัตย์ “สุชัชวีร์” ถูกทาบทามจากหลายพรรค ทั้งพรรคคนรุ่นใหม่-พรรคเกิดใหม่-พรรคนายทุน แต่สุดท้ายก็ตกลงปลงใจกับพรรคเก่าแก่  ที่น่าสนใจ แม้จะอยู่สายวิชาการมาตลอด แต่เจ้าตัวมีคอนเนคชันในหลายแวดวง ชนิดที่ไม่ธรรมดาจุดขาย“สุชัชวีร์”แก้ปัญหาผังเมือง

โดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าประชาธิปัตย์ พอใจอย่างมากที่ “สุชัชวีร์” ตอบตกลง “หากได้รับเลือกตั้ง และเน้นในเรื่องการทำงาน “ทำได้ไว ทำได้จริง” ผมมั่นใจว่านโยบายแนวทางในการแก้ไขปัญหาของผู้สมัครผู้ว่า กทม. มีความชัดเจน ทั้งหมดนี้เราทำการบ้านมาจบแล้ว ไม่ใช่ไปตายเอาดาบหน้า” จุรินทร์ ระบุ

“พรรค-แคนดิเดต” ขยับเปิดนโยบาย ศึก\"ผู้ว่าฯกทม.\"แข่งพัฒนาเมือง

อย่างที่รู้กันว่า “สุชัชวีร์” มีความโดนเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ นโยบายหลักของประชาธิปัตย์ จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างกทม.ให้เป็น “เมืองใหม่” ขจัดปัญหาเดิมที่คนกรุงเทพฯ ประสบพบเจอเกือบทุกวัน

โดยเฉพาะผังเมืองกทม.ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่รอให้มีคนเข้ามาแก้ไข เพราะเมื่อผังเมืองมีปัญหาจะนำมาสู่ผลกระทบอื่นจำนวนมาก ทั้งปัญหารถติด ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง

นโยบายของประชาธิปัตย์ และ “สุชัชวีร์” จะเริ่มทยอยปรากฏต่อสาธารณะในวันนี้ โดย “จุรินทร์-ประชาธิปัตย์” เตรียมการทุกอย่างไว้แล้ว พร้อมกับเปิดตัว “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.” ทั้ง 50 เขต เร่งเครื่องลงพื้นที่สร้างฐานคะแนนนิยมอย่างเป็นทางการ

“ชัชชาติ”ชูแนวคิดเส้นเลือดฝอยฟื้นคนเมือง

ด้าน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 ชัดเจนตั้งแต่ต้น ที่จะลงสมัครในนามอิสระ เพื่อไม่ผูกมัดว่าเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองใด และเลี่ยงกระแสการเมืองเลือกข้าง โดยหวังแต้มจากทุกกลุ่ม-ทุกวัย

ทว่าการเดินเดี่ยวของ “ชัชชาติ” ก็ยังเสี่ยง แม้โพลแทบทุกครั้ง กระแสยังเหนือคู่แข่ง เพื่อความปลอดภัย“ชัชชาติ” ก็ไม่ปฏิเสธแรงหนุนจากพรรคเพื่อไทย ที่มีอยู่มากพอสมควร แม้ในทางออนไลน์พรรคเพื่อไทยจะอ้างว่าสนับสนุนคนมีความสามารถ แต่ในทางออฟไลน์พรรคเพื่อไทยกำชับ ส.ส.กทม.-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.ช่วยกันหนุน “ชัชชาติ”

ในมุมนโยบาย “ชัชชาติ” ชูแนวคิด "เส้นเลือดฝอย" โดยมองว่าการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ การก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ แต่หลายๆ ครั้ง เราละเลยระบบเส้นเลือดฝอย ที่อาจจะดูไม่ยิ่งใหญ่ อลังการ หรือใช้งบประมาณไม่มาก แต่มีความสำคัญไม่แพ้กัน

พร้อมกับยกตัวอย่างว่า การระบายน้ำ เรามีอุโมงค์ยักษ์ราคาหลายหมื่นล้าน ขณะที่ท่อระบายน้ำหน้าบ้านเรายังอุดตัน เครื่องสูบน้ำไม่ทำงาน น้ำไปไม่ถึงอุโมงค์ การเก็บขยะ เรามีโรงเผาขยะที่ลงทุนเป็นหมื่นล้านที่หนองแขม อ่อนนุช แต่ถังขยะในชุมชนหลายๆ ที่ยังมีไม่พอ ไม่มีระบบการแยกขยะจากต้นทางอย่างจริงจัง

สวนสาธารณะ เรามีสวนสาธารณะหลักขนาดใหญ่ระดับโลกแบบสวนลุมพินี ที่มีสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่อุปกรณ์ครบครัน ในขณะที่พื้นที่สีเขียว ลานกีฬาและสนามเด็กเล่นเล็กๆใต้สะพานของชุมชน ใกล้บ้าน อยู่ในสภาพทรุดโทรม ไม่ได้รับการดูแล

การศึกษา เรามีมหาวิทยาลัยที่ประชาสัมพันธ์ว่าติดอันดับโลกหลายแห่ง แต่เราขาดโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ดูแลเด็กอ่อนที่มีคุณภาพ ที่อยู่ใกล้ๆบ้าน การเดินทาง เราจะมีรถไฟฟ้าระดับโลก ความยาวเกือบ 500 กม. 300 สถานี แต่ทางเดินเท้ายังเดินไม่ได้ ไม่มีแสงไฟ เราต้องรอรถตู้ รถเมล์ สองแถว มอเตอร์ไซค์วิน เพื่อพาเรากลับถึงบ้าน

“พรรค-แคนดิเดต” ขยับเปิดนโยบาย ศึก\"ผู้ว่าฯกทม.\"แข่งพัฒนาเมือง

วางพื้นฐานแก้ปัญหาชุมชน

ที่น่าสนใจ ชัชชาติยังดึงบรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่จากหลายวงการเข้ามาช่วยงานด้านนโยบาย อาทิ “ดร.ยุ้ย” เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หญิงแกร่งแห่งวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่มาร่วมทีมกำหนดนโยบายในการพัฒนาเมืองโดยโฟกัสไปที่จำนวนประชากรแฝงอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการรุกล้ำที่ดินของภาคเอกชนและหน่วยงานราชการ จนเกิดเป็นชุมชนที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ มากกว่า 2,000 แห่ง จึงจำเป็นต้องจัดหาที่ดินเพื่อจัดสรรที่อยู่อาศัยให้กับชุมชน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพใกล้แหล่งที่ทำกิน ทำให้สามารถจัดระเบียบชุมชนในการรุกล้ำที่ดินในพื้นที่อื่นๆ

พร้อมทั้งมีแนวคิดให้ทาง กทม. จะเป็นผู้ออกกฎ หรือเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการให้สิทธิ์ของที่ดินกับกลุ่มต่างๆ โดยกทม.สามารถนำแนวทางการร่วมทุนกับภาคเอกชน โดยถือสัดส่วน 51% ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดการพัฒนาโครงการ ที่เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

สำหรับเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบาย ที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาเมืองหลวงภายใน 4 ปี “ชัชชาติ” วางเป้าอยากให้อยู่คนกรุงเทพฯอยู่อย่างสบายขึ้น หลุดพ้นความหลากหลายของกลุ่มชนชั้น

ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนพฤษภาคม ชัชชาติเริ่มจัดทำกลุ่มฐานเสียงของตัวเอง ด้วยการเปิดรับอาสาสมัคร ”เพื่อนชัชชาติ” ทางออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาฐานข้อมูลเมือง และรวบรวมแนวคิด ปัญหาในด้าน เพื่่อช่วยกันทำให้กรุงเทพฯเป็น ”เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” โดยระบุถึงหลักการที่สำคัญของคือการร่วมงานกันคือ สนุก+คิดบวก+ทีมเวิร์ค+ส่วนรวม+คิดต่าง+ทำงาน ทำงาน ทำงาน และมีคุณค่าหลัก (Core Values) ของกลุ่มคือ “รับใช้ เข้าใจ ทันสมัย โปร่งใส ฉับไว” 

“ผู้ว่าฯ หมูป่า”จุดขายนักบริหาร-ผู้นำ

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ข้อสรุปภายในกับ “ผู้ว่าฯหมูป่า” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ซึ่งสร้างชื่อจากสมัยนั่งผู้ว่าฯเชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) หรือชื่อที่คนไทยเรียกกันว่า “ผู้ว่าฯหมูป่า”

ว่ากันว่า “3 ป.” เคาะชื่อ จบที่ “ณรงค์ศักดิ์” หลังเข้าไปหารือกับที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯประมาณ 3 ครั้ง โดย “ณรงค์ศักดิ์” ตัดสินใจลงชิงผู้ว่ากทม. ในนามพรรคพลังประชารัฐ โดยมีเงื่อนไขว่า หากไม่สามารถฝ่าคู่แข่งเข้าไปได้ ขอโอกาสในการกลับเข้ารับราชการต่อในมหาดไทย เพราะยังเหลืออายุราชการอีก 4 ปี  ซึ่งดีลนี้ "3 ป.” ไฟเขียว

จุดเด่นของ “ณรงค์ศักดิ์” คือการมีภาวะผู้นำสูง มีการวางแผนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ นอกจากการช่วยทีมหมูป่าแล้ว ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯลำปาง ก็ทำผลงานโดดเด่น มีวิธีโน้มน้าวใจประชาชนและจัดวางระบบการจองวัคซีนโควิด-19 จนลำปาง เป็นจังหวัดที่มีประชาชนแจ้งความประสงค์ขอฉีดวัคซีนมากที่สุด

“พรรค-แคนดิเดต” ขยับเปิดนโยบาย ศึก\"ผู้ว่าฯกทม.\"แข่งพัฒนาเมือง

ทว่าเมื่อกลับมาดูในมุมพรรค จุดอ่อนของพลังประชารัฐ อยู่ที่นโยบายหาเสียง ที่ยังแทบจะหาจุดขายไม่ได้ ที่สำคัญนโยบายหลายอย่างที่ใช้หาเสียงกับคน กทม.ในช่วงการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จึงต้องจับตาว่าจะแก้เกม พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้มากน้อยเพียงใด

ลำพังจะสร้างวลีหาเสียงเหมือนครั้งที่บอกคนกรุงเทพฯว่า “รักษาความสงบจบที่ลุงตู่” คงยากที่จะกลับมาใช้ได้ผลอีกครั้ง เนื่องจากคนกรุงเทพฯ ในเวลานี้ ต้องการนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจัง และจริงใจ

จับตา“อัศวิน”ลงอิสระด้วยฐานตัวเอง

ขณะที่ชื่อของผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ที่อยู่ในตำแหน่งจากการแต่งตั้้งของ คสช.อย่างยาวนาน ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหว ต้องการลงในสังกัดพรรคพลังประชารัฐอย่างจริงจัง หลังจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.ยอมถอยให้ แต่เมื่อ “3 ป.” ตัดสินใจดันผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์แทน จึงต้องจับตาว่า พล.ต.อ.อัศวิน จะขยับไปลงในนามอิสระหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเจ้าตัวลงแรงสร้างฐานแฟนคลับ กลุ่ม

“รักษ์กรุงเทพ” รับเรื่องราวร้องทุกข์ อย่างจริงจัง หวังสร้างฐาน หาคะแนนด้วยตัวเองอีกทาง

ล่าสุด 10 ธ.ค. “กลุ่มรักษ์กรุงเทพ” และประธานกลุ่มเขตต่างๆ จำนวน 30 เขต ที่ร่วมกันบริจาคโลหิตที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และทำกิจกรรมจิตอาสามาอย่างต่อเนื่อง ได้ถือโอกาสประกาศจุดยืน สนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต่อ  ผู้ว่าฯอัศวิน จึงเป็นอีกตัวเลือกที่ไม่อาจมองข้าม

“พรรค-แคนดิเดต” ขยับเปิดนโยบาย ศึก\"ผู้ว่าฯกทม.\"แข่งพัฒนาเมือง

“ก้าวไกล”เปิดดีลนักธุรกิจหญิง

ด้านพรรคก้าวไกล แม้ยังไม่เปิดตัว “ว่าที่ผู้สมัคร” เนื่องจากขอรอความชัดเจนว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.จริงหรือเกมลวง เพราะหากเผยไต๋ ออกไปอาจจะเสียตัวเล่นได้ พรรคก้าวไกลที่เดินร่วมกับคณะก้าวหน้า จึงปิดลับตัว “ว่าที่ผู้สมัคร” รู้กันในพรรคเพียงไม่กี่คน

โดยก่อนหน้านี้มีชื่อพี่สาวธนาธร “ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด มาเป็นแคนดิเดต แต่ครอบครัว “จึงรุ่งเรืองกิจ” ไม่เห็นด้วย จึงตีตกไป เช่นเดียวกับชื่อของ “ศิริกัญญา ตันสกุล” ส.ส.พรรคก้าวไกล แต่ถูกมองว่าไม่ตอบโจทย์มากพอ ชื่อจึงถูกตีตกไปเช่นเดียวกัน

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ระบุไทม์ไลน์ของก้าวไกลว่า ประมาณกลางเดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป จะเปิดตัวแคนดิเดต ซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักแน่นอน และมั่นใจว่าจะเอาชนะใจคนกรุงเทพฯ ได้ สำหรับนโยบาย ก้าวไกลชัดเจน เรื่องตอบสนองชีวิตคนเมืองหลวงทุกกลุ่ม อย่างเท่าเทียม และเน้นพัฒนาสังคมเมืองให้น่าอยู่

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค ส่งสัญญาณว่า ตอนนี้มีชื่ออยู่แล้วอุบไว้ก่อน ยังบอกไม่ได้ว่า จะเปิดเผยชื่อได้เมื่อไร คงต้องดูจังหวะการเมือง

 “ต้องไม่เหมือนกับที่มีมา ต้องมีความใหม่ ชัด โดน” เพราะ คน กทม. เรื่องการเมืองไม่เหมือนคนทั่วประเทศ เพราะเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เยอะ และมีโอกาสที่จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ นั่นไม่ได้หมายความว่า การเปิดตัวก่อนแล้วจะได้เปรียบ สเปกที่ออกมาจะต้องมีความต่าง ซึ่งอาจจะเป็นคนที่รู้เรื่องสิ่งแวดล้อม PM 2.5 และทำงานร่วมกับ ส.ส.ของพรรคได้ อีกทั้ง เป็นคนรุ่นใหม่ มีวิธีคิด บริหารมหานครแบบใหม่ๆ"

อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่า พรรคก้าวไกลได้ติดต่อไปยัง “บิ๊กเนมหญิง” นักธุรกิจดังระดับผู้บริหาร ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเจรจา หากทุกอย่างลงตัวจะมีการเปิดตัวกันในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2565

กว่า 5 ปีที่ผู้ว่าฯ กทม.จากการแต่งตั้ง ที่ถูกกระแสคนเมืองหลวงและพรรคการเมืองต่างๆ กดดัน ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเดินไปตามไทม์ไลน์ และเป็นที่คาดหมายกันว่าสนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้ จะแข่งเดือดและเข้ม หลังจากไม่ได้เลือกตั้งกันมานาน 

ที่สำคัญความลงตัวของพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล ที่มีความพร้อมเรื่องตัวบุคคลแล้ว จึงน่าจะเป็นสัญญาณนับถอยหลังสำหรับการเลือกตั้งเมืองหลวงภายในต้นปีหน้านี้