ร่างกฎหมาย "ปลดอาวุธ คสช." ไขโซ่ตรวนจับ "กบฎ" รัฐประหาร

 ร่างกฎหมาย  "ปลดอาวุธ คสช."  ไขโซ่ตรวนจับ "กบฎ" รัฐประหาร

ร่างกฎหมาย "ปลดอาวุธ คสช." คือคุณแจหลักที่จะเอาผิด "พล.อ.ประยุทธ์" และ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ในการทำ"รัฐประหาร" 22 พ.ค. 2557 ตามมาตรา 113 ข้อหา "กบฎ" โดยต้องใช้เสียง ส.ส. ส่วนใหญ่ โหวตผ่านวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการของสภาในสัปดาห์ที่จะถึงนี้

น่าจะมีชื่อจำนวนไม่น้อยที่จะถูกแจ้งข้อหา “กบฎ” ต่อเหตุการณ์ “รัฐประหาร” ปี 2557 หากร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. ที่เรียกว่า ร่าง “ปลดอาวุธ คสช.” หรือร่าง “รื้อมรดก คสช.” ถูกบังคับใช้

ร่างกฎหมายดังกล่าว ริเริ่มโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน 23 องค์กร รวบรวมรายชื่อประชาชนเมื่อเดือนมกราคม 2561 เพื่อเสนอให้ยกเลิกประกาศ และคำสั่ง คสช.รวม 35 ฉบับ ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิประชาชน ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร พร้อมรายชื่อประชาชน 13,409 คน แต่ผ่านการตรวจสอบของสำนักงานเลขาธิการสภา เหลือ 12,609 คน

ภายหลัง คสช.ออกกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ให้ผู้เกี่ยวข้องการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองทั้งหมดในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จากนั้นนำมาแขวนไว้ในมาตรา 279 รัฐธรรมนูญ 2560 ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป รวมถึงการรับรองประกาศและคำสั่งทั้งหลายจนกว่าจะมี พ.ร.บ.ยกเลิกหรือแก้ไข

“ไอลอว์” ได้จัด คำสั่ง-ประกาศ คสช. ออกเป็น 4 กลุ่ม ที่อ้างว่ากระทบสิทธิเสรีภาพ ประกอบด้วย 

1. จำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน เช่น ห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป ไม่มารายงานตัว 

2. กระทบต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น พลเรือนขึ้นศาลทหาร ให้อำนาจทหารตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัว 7 วัน 

3. จำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน เช่น ระงับการให้บริการส่งข้อความเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ต่อต้าน คสช.

4. ละเมิดสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่น ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นำที่ดินสาธารณสมบัติ มาทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษรวม 7 จังหวัด ยกเว้นการใช้ผังเมืองรวมสำหรับกิจการบางประเภท เช่น โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานกำจัดขยะ และอื่นๆ

โดยคำสั่ง-ประกาศที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ 4 จะมีผลกระทบมากที่สุด เพราะปัจจุบันการแก้ไขปัญหาหลายๆ เรื่อง ยังไม่มีกฎหมายใหม่มารองรับ เท่ากับว่าหากร่าง “ปลดอาวุธ คสช.” บังคับใช้ จะส่งผลให้กฎหมายต่างๆ ถูกยกเลิกทั้งหมด ทุกอย่างจะวกกลับไปใช้กฎหมายตัวเดิมก่อนเหตุรัฐประหารปี 2557

ในขณะที่กลุ่มที่ 1 ถึงกลุ่มที่ 3 เรียกได้ว่าไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น เพราะ คสช.ได้ยกเลิกคำสั่ง-ประกาศ ดังกล่าวไปหมดแล้ว และปัจจุบันก็ไม่ได้นำมาบังคับใช้ หรือแม้แต่เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ก็กระทำมิได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีกฎหมายรองรับในเวลานั้นๆ

“ประกาศ และคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับ กลุ่มที่ 1 ถึงกลุ่มที่ 3 ยกเลิกไปหมดแล้ว ไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น สิ่งที่ปฏิบัติไปแล้วในขณะที่กฎหมายบังคับใช้ก็จบไปแล้ว และถือว่าปฏิบัติชอบด้วยกฎหมาย แม้ต่อมากฎหมายตัวนั้นถูกยกเลิก ก็ยกเลิกไป เพราะปัจจุบันก็ไม่ได้ปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ในส่วนที่ยังปฏิบัติอยู่โดยเฉพาะกลุ่มที่ 4 มีกฎหมายมารองรับหรือไม่ ถ้าหากไม่มี แล้วอยู่ๆ ไปยกเลิก บ้านเมืองก็ลงเหวไปหมด” หน่วยงานความมั่นคง ระบุ

หน่วยงานความมั่นคง มองว่าเป้าหมายหลักของไอลอว์ และเครือข่ายภาคประชาชน 23 องค์กร ไม่ได้อยู่ที่ประเด็นดังกล่าว แต่ต้องการเอาผิด “คณะรัฐประหาร”และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดตามมาตรา 113 เพราะเป็นกฎหมายที่มีอยู่ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ

 

โดยบัญญัติว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้

(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็น “กบฏ” ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอด

ทั้งนี้ หากพิจารณาโครงสร้าง คสช.ปี 2557 รายชื่อลำดับต้นๆ ที่จะถูกแจ้งข้อหา “กบฎ” (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขา คสช. 

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. พล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองหัวหน้าฝ่ายฯ พล.ท.สุชาติ หนองบัว ฝ่ายกำลังพลเป็นรองหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ คสช. พล.อ.อักษรา เกิดผล รองหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ

รวมถึงในส่วนของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ที่มีแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้บัญชาการ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) และมีหน่วยในบังคับบัญชาคือกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยกองทัพภาค 1 - 4 (กำลังของกองทัพไทย เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นควบคุมทางยุทธการ)

เป็นที่สังเกตด้วยว่า โครงสร้าง คสช.มีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 16 กรกฎาคม 2562 ด้วยการเพิ่มบุคคลเข้าไปนั่งในตำแหน่งต่างๆ ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ตลอดจนผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่ต้องมารับไม้ต่อจากคนเดิมที่เกษียณอายุราชการ รวมถึงแม่ทัพ นายกอง ต้องขยับตามตำแหน่งที่ว่างลง

ในห้วงปีสุดท้ายโครงสร้าง คสช.ก่อนจะสิ้นสภาพ ยังมีชื่อ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นเลขา คสช และ.ผบ.กกล. พล.ท. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 (กกล.รส.ทภ.1) พล.ท. ธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 (กกล.รส.ทภ.2)พล.ท. ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 (กกล.รส.ทภ.3)พล.ท. พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 (กกล.รส.ทภ.4)

ก่อนที่จะดำเนินคดีข้อหา“กบฎ”กับ "คณะรัฐประหาร" คงต้องลุ้นร่าง “ปลดอาวุธ คสช.” ในสัปดาห์นี้ว่าจะผ่านวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ที่ต้องอาศัยเสียง ส.ส.ส่วนใหญ่ของสภาหรือไม่