“สุชัชวีร์”นักเปลี่ยนแปลง สู่เส้นทาง “ผู้ว่าฯกทม.”

“สุชัชวีร์”นักเปลี่ยนแปลง สู่เส้นทาง “ผู้ว่าฯกทม.”

“ผมอยากเห็นกรุงเทพฯ เปลี่ยน ผมอยากให้คนกทม. ไม่ต้องถูกรังแกจนเคยชิน พูดว่ารถในกรุงเทพฯ ยังไงก็ติด เห็นน้ำท่วมในซอยบ้าน จนคิดว่ามันไม่มีทางที่น้ำจะไม่ท่วม จนชิน"

“ผมอยากใช้ความรู้ ความสามารถที่มี สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ แต่ยังไม่ขอพูดมากกว่านี้ เพราะต้องให้เกียรติผู้ร่วมงานที่ สจล.ซึ่งผมยังทำหน้าที่อยู่” เป็นคำตอบสั้นๆ ที่ไม่ปฏิเสธของ “ดร.เอ้” หรือ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เมื่อถูกถามเรื่องความชัดเจนในการลงผู้ว่าฯ กทม. จากกรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 8 ธ.ค.2564

ก่อนจะมีประกาศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ในวันถัดมา เรื่องการลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี ของ ดร.เอ้ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก KMITL ของสถาบันฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.2564 พร้อมคำขอบคุณ

"สจล. ขอขอบพระคุณพี่เอ้ ที่ตั้งใจทำงาน อุทิศตน ด้วยความมุมานะพยายาม ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเปลี่ยนแปลงสถาบัน จนสถาบันก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก”

 เมื่อต่อจิ๊กซอว์การเมืองจากกระแสข่าวที่มาเป็นระยะ จึงเป็นความชัดเจนที่สอดรับกับความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่นัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ในวันจันทร์ที่ 13 ธ.ค.และมีวาระสำคัญ คือการพิจารณาอนุมัติตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 

ก่อนหน้านี้ หัวหน้าพรรค จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เคยให้ข่าวว่า  ปชป.จะเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้

โดยระบุถึงคุณสมบัติตัวแทนพรรคว่า “เป็นนักบริหาร เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นที่รู้จักของพี่น้องชาว กทม.อยู่แล้ว” และมั่นใจว่า “สู้ได้” เมื่อเทียบกับ ชื่อที่เปิดมาแล้ว และจะแถลงข่าวให้ทราบในวันนั้นด้วย 

แม้จะมีความเห็นต่าง ของคนในประชาธิปัตย์ เรื่องการเลือก“คนนอกพรรค” แทนที่จะเป็น“คนในพรรค” จนเป็นวิวาทะก่อนหน้านี้ก็ตาม แต่ถือว่าเป็นการออกสตาร์ทของประชาธิปัตย์ ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก่อนพรรคอื่น เมื่อดีลลงตัว

โฟกัสการเมือง จึงจับจ้องไปยัง ดร.เอ้ สุชัชวีร์ อย่างฉับพลันทันใด 

ดร.เอ้ เป็นชาวจังหวัดชลบุรี ปัจจุบันอายุ 49 ปี ตำแหน่งล่าสุดในแวดวงวิชาการคือ อธิการบดี สจล.(ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค.2558) เคยดำรงตำแหน่ง คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ เคยเป็น นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เป็นผู้ก่อตั้งและประธานคณะกรรมการยุววิศวกรแห่งประเทศไทยคนแรก

เคยเป็นประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 เป็นศาสตราจารย์ ทางด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์คนแรกของประเทศไทย เมื่ออายุเพียง 37 ปี

ดร.เอ้ มีความโดดเด่นเรื่องการเรียน ตั้งแต่มัธยม ชั้น ม.6 โรงเรียนระยองวิทยาคม ได้โควตาช้างเผือก ปี 2533 เข้าเรียนต่อสาขาวิศวกรรมก่อสร้าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. แล้วไปต่อปริญญาโท M.Sc. (Geotechnical Engineering) ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม The University of Wisconsin-Madison USA ปริญญาโท M.Sc. (Techno logy and Policy) ด้านนโยบายและเทคโนโลยี Massachusetts Institute of Technology (MIT) USA และปริญญาเอก Sc.D. (Geotechnical Engineering) ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม Massachusetts Institute of Technology (MIT) USA ปี 2545

ดร.เอ้ ยังได้ฉายา ‘THe Disruptor’ เมืองไทย ที่เจ้าตัวบอกว่า ไม่รู้ว่าได้มาอย่างไร แต่ที่รู้แน่ๆ คือ เขาต้องการเป็น Role Model ให้คนรุ่นใหม่ในทุกๆ เรื่องที่ทำได้ ที่สำคัญต้องการเปลี่ยนประเทศไทยให้แข่งขันกับนานาประเทศได้ในระยะยาว

ดร.เอ้ เคยให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อ ส.ค.2562 ในจุดประกายทอล์ค ถึงความหวังในการพัฒนากรุงเทพฯ เป็นสมาร์ทซิตี้ ไว้อย่างน่าสนใจ 

“ผมอยากเห็นกรุงเทพฯ เปลี่ยน ผมอยากให้คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องถูกรังแกจนเคยชิน พูดว่ารถในกรุงเทพฯ ยังไงก็ติด เห็นน้ำท่วมในซอยบ้าน จนคิดว่ามันไม่มีทางที่น้ำจะไม่ท่วม จนชินขณะที่โตเกียว คน 40 กว่าล้านคน หนาแน่นกว่ากรุงเทพฯ แต่รถไม่ติด เจอพายุไต้ฝุ่น 7-12 ลูกต่อปี หนักกว่าไทย ทำไมน้ำไม่ท่วม พื้นที่ต่ำกว่าแม่น้ำอ่าวโตเกียวตั้งเยอะ แต่น้ำไม่ท่วม ทำไมเขาทำได้”

“ลอนดอน ใหญ่เท่ากรุงเทพฯ ตอนนี้คนขี่จักรยานไปทำงาน กรุงเทพฯ บอกว่าทำไม่ได้ ร้อน สิงคโปร์ร้อนกว่าเพราะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แต่เขาเดิน ส่วนประเทศไทยจะมีพายุเข้าก็ไม่รู้ก่อน ฟุตบาธ เดินไม่ได้ ไม่ใช่เพราะร้อนนะ แต่มันเดินไม่ได้จริงๆ เราควรใช้ความฉลาดของเทคโนโลยี AI มาแก้ไขเรื่องของการจราจร ตอนนี้เขาทำมาทุกเมืองแล้ว สิงคโปร์ก็เป็น Smart Nation โตเกียวก็ทำแล้ว ลอนดอน ไปถึงไหนแล้ว และเทคโนโลยีปัจจุบันก็ทั้งถูกและเชื่อถือได้แล้ว อยู่ที่ผู้นำ ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นต้องมีความเข้าใจ” 

ดร.เอ้ ยังอธิบายถึงความก้าวหน้าของ สจล.ที่มีศูนย์พยากรณ์อากาศใช้งบประมาณเพียง 5 ล้านบาทด้วยว่า "พยากรณ์อากาศแม่นมากกว่าการใช้เงินมหาศาล อาจารย์จบจาก MIT มาทำ รู้ก่อน 24 ชั่วโมงว่าฝนจะตกไล่ตั้งแต่หนองจอก มีนบุรี เข้าไปที่รามคำแหง รัชดา เพลินจิต เพราะฉะนั้น พรุ่งนี้จะได้แจ้งเตือนประชาชนว่า กรุณาไปทำงานช้าสัก 2 ชั่วโมง รถก็ไม่ติด หรืออาจจะให้ทำงานที่บ้าน หรือโรงเรียน มหาวิทยาลัยอาจจะเลื่อนนิดนึงก็ได้"

“เรื่องเปิดปิดประตูน้ำ เอาไวไฟตัวเล็กๆ ไปติด ก็รู้แล้วว่าตัวสูบน้ำทำงานดี ไม่ดีอย่างไร สามารถดูผ่านมือถือได้เลย ขนาดเปิดไฟ เปิดแอร์ที่บ้าน มือถือยังทำได้ นั่นคือสมาร์ทซิตี้จริงๆ ใช้บริหารเมือง ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัย แก้ปัญหาที่ซ้ำซาก แจ้งก่อนที่ฝนจะตก แก้ปัญหาน้ำท่วมก่อนน้ำจะมา หรือแก้ปัญหารถติด ด้วยการบริหารการจราจร” 

นี่เป็นเพียงไอเดียบางส่วนของ ดร.เอ้ สุชัชวีร์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเปลี่ยนแปลง ซึ่งตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจากนักวิชาการมาสู่เส้นทางนักการเมืองในที่สุด