สัญญาณ “ปธ.วิปรัฐ” เปิดแรง  แก้เกม 2 ปี "สภาล่ม" 10 รอบ

 สัญญาณ “ปธ.วิปรัฐ” เปิดแรง  แก้เกม 2 ปี "สภาล่ม" 10 รอบ

เมื่อปรากฎภาพ "สภาล่ม" คราใด "แกนนำรัฐบาล" ถึงขั้นต้องสะดุ้ง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า "งานสภาฯ" คือ เสาค้ำเสถียรภาพของรัฐบาล แต่บทบาทของ "ปธ.วิปรัฐบาล" ป้ายแดงที่ส่งสัญญาณแรง ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า จะแก้สภาฯล่ม ครั้งถัดไป ได้หรือไม่?

 

         แทบจะไม่มีช่วงฮันนีมูน พีเรียด สำหรับการเข้ามารับบทบาท “ประธานวิปรัฐบาล” ป้ายแดง ของ “นิโรธ สุนทรเลขา” ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ

 

         เพราะนับตั้งแต่รับหน้าที่ เมื่อ 5 พ.ย.แทน “วิรัช รัตนเศรษฐ” ที่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จากคำสั่งศาลในคดีทุจริตโครงการสนามฟุตซอล “นิโรธ” ก็ต้องรับภารกิจประสานการประชุมสภาฯ 6 ครั้ง ประชุมรัฐสภา 2 ครั้ง โดยใน 8 ครั้งพบว่ามี 2 ครั้งที่การประชุมต้อง “สะดุด”

 

         ครั้งแรก เมื่อ 17 พ.ย. ที่สภาฯ ต้องเร่งปิดประชุมไปก่อนจะผ่านร่างกฎหมายของรัฐบาล คือ “ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง (ฉบับที่...) พ.ศ...."  ทั้งที่มติวิปรัฐบาลตกลงกันไว้ว่า ต้องให้ผ่านก่อนปิดประชุม

 

         ครั้งสอง เมื่อ 24 พ.ย.รอบนี้ยังไม่ทันจะเข้าสู่วาระ แต่ถูกวิปฝ่ายค้านวัดพลัง เสนอให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ หลังไม่พอใจคนของพลังประชารัฐ "ไพบูลย์ นิติตะวัน” อภิปรายกล่าวหาว่า ฝ่ายค้านขาดประชุม ทั้งที่ฝ่ายค้านเป็นฝ่ายเสนอนับองค์ประชุม

 

         แม้ผลการนับองค์ประชุมจะทำให้รัฐบาลรอดตัวจากการเล่นแง่ของฝ่ายค้านไปได้ แต่สิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นถึง “สัญญาณแตกหัก” จากท่าทีประธานวิปรัฐบาล “นิโรธ” ที่นอกจากจะไม่ประนีประนอมกับฝ่ายค้าน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียด แต่กลับเสนอญัตติให้นับองค์ประชุมด้วยการกดบัตรผ่านเครื่อง

 สัญญาณ “ปธ.วิปรัฐ” เปิดแรง  แก้เกม 2 ปี \"สภาล่ม\" 10 รอบ

         การเสนอญัตติเพื่อแข่งขันกันในลักษณะที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เคยปรากฏในที่ประชุมสภาฯ เพราะการเสนอนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อนั้น ปกติจะคลี่คลายด้วยการรอมชอม ขอให้ถอนญัตติเพื่อประหยัดเวลาประชุม ไม่ใช่ “สู้กลับ” ด้วยการเสนอญัตติที่เป็นอีกทางเลือก

         ผลลัพธ์จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ฝ่ายค้านแปลความเจตนาของประธานวิปรัฐบาล ว่า ต้องการใช้เสียงข้างมากเอาชนะเสียงข้างน้อย

 

         และเชื่อว่าจากนี้ไป บรรยากาศการทำงานร่วมกันในสภาฯ อาจเห็นความร่วมมือกันลดน้อยลง โดยเฉพาะการพิจารณาเรื่องที่มีผลเกี่ยวเนื่องกับเสถียรภาพของฟากรัฐบาล

 

         "สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน ยอมรับว่า แม้จะเข้าใจบทบาทของ “นิโรธ” ฐานะประธานวิปรัฐบาลมือใหม่ ที่ไม่เข้าใจระเบียบข้อบังคับ และการทำงานร่วมกันได้ดีพอ แต่ฝ่ายค้านยังให้โอกาสแก้ตัว เพื่อทำงานร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

 

         “แต่หากไม่ปรับตัวจะทำให้มีปัญหาพอสมควร และฝ่ายค้านมีประเด็นที่คอยใช้โต้ตอบ คือขอนับองค์ประชุม”

 สัญญาณ “ปธ.วิปรัฐ” เปิดแรง  แก้เกม 2 ปี \"สภาล่ม\" 10 รอบ

         เมื่อภาพการทำงานในสภาฯ ไม่ราบรื่น และหากยังปรากฏเหตุการณ์ “สภาฯล่ม” บ่อยครั้ง ย่อมมีผลกระทบต่อรัฐบาล

 

         เรื่องนี้สะท้อนออกมาจาก “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่นอกจากจะย้ำ ขอความร่วมมือ ส.ส.รัฐบาล พร้อมกับเพิ่มความเข้มข้น ด้วยการ “เช็คชื่อ” และส่งรายงานตรง พร้อมกับส่งสัญญาณว่า หากปล่อยให้เกิดเหตุสภาล่มบ่อย อาจกลายเป็นประเด็นถูกกระแสกดดันให้ยุบสภา!!

 

         ในประวัติศาสตร์การเมือง ไม่เคยมีเหตุ “ยุบสภา” เพราะประชุมล่มบ่อย แต่สิ่งที่แกนนำรัฐบาลพลั้งปากออกมานั้น ประธานวิปฝ่ายค้าน เดาทางว่าเป็นเพราะความขัดแย้งระหว่าง “กลุ่มขั้ว” ภายในพรรคพลังประชารัฐ และ "เสถียรภาพของการควบคุมเสียงพรรคร่วม" แม้ไม่มีฝ่ายค้านกดดัน

สำหรับสถิติ สภาฯ ชุดที่ 5 ตั้งแต่ปี 2562 ถึงล่าสุด พบเหตุการณ์ประชุมล่ม 10 ครั้ง ได้แก่ 

  • ครั้งแรก 24 ก.ค.2562 องค์ประชุมไม่ครบ หลังเปิดให้ ส.ส.หารือ ก่อนเข้าประชุม
  • ครั้งที่สอง 27 พ.ย.2562 
  • ครั้งที่สาม 28 พ.ย.2562 ระหว่างวาระพิจารณาตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่ง คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.
  • ครั้งที่สี่ 8 ก.ค.2563 ระหว่างวาระรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ
  • ครั้งที่ห้า 30 มิ.ย.2564 ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่...) พ.ศ...
  • ครั้งที่หก 1 ก.ค.2564 ระหว่างจะพิจารณาญัตติด่วนแก้โควิด

 สัญญาณ “ปธ.วิปรัฐ” เปิดแรง  แก้เกม 2 ปี \"สภาล่ม\" 10 รอบ

  • ครั้งที่เจ็ด 10 ก.ย.2564 ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ....
  • ครั้งที่แปด 17 ก.ย.2564 ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
  • ครั้งที่เก้า 3 พ.ย. 2564 ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน
  • ครั้งที่สิบ 17 พ.ย. ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง (ฉบับที่...) พ.ศ....

 

         มาถึงจุดนี้ แม้นายกฯ จะย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่า ครั้งหน้าสภาจะล่มอีกหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ รัฐบาลในฐานะเสียงข้างมาก ย่อมไม่พ้นความรับผิดชอบ.