เปิดแฟ้มงานกฎหมายสภาฯ  ตีตก“ร่างรธน.” - ค้าง “37 พ.ร.บ.”

เปิดแฟ้มงานกฎหมายสภาฯ  ตีตก“ร่างรธน.” - ค้าง “37 พ.ร.บ.”

การทำงาน "ฝ่ายนิติบัญญัติ" 3ปี พบการใช้สิทธิ "ตีตก" ร่างกฎหมายสำคัญ คือ "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัย "ทางการเมือง" ส่วน "ร่างพ.ร.บ." ยังไม่เคย "ถูกตีตก" แต่ พบว่ามีกลไก "เตะถ่วง" ทำให้ ร่างกม.ของประชาชน-ส.ส. ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาวาระแรกหลายฉบับ

        เป็นอีกครั้งที่ “รัฐสภา” ตอกย้ำการ “คว่ำ” ร่างกฎหมายของภาคประชาชน ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณา

 

        หลังลงมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ประชาชน เข้าชื่อเสนอ 1.35 แสนรายชื่อ ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว วันที่ 18 พ.ย.2563 รอบนั้นรัฐสภา ลงมติไม่รับหลักการ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์” กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 98,041 คน เสนอ

 

        ได้เสียงสนับสนุน 212 เสียง ไม่รับหลักการ 139 เสียง และงดออกเสียง 369 เสียง รอบนั้นมติคว่ำ เพราะได้เสียงไม่เข้าเงื่อนไขที่ ส.ว. ต้องร่วมลงมติเห็นชอบเกิน 1 ใน 3 และครั้งสอง เมื่อ 17 พ.ย.2564 รัฐสภาลงมติไม่รับหลักการของ "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับกลุ่มรี-โซลูชั่น" นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มคอน-แล็ป และ ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1.35แสนคน ด้วยเสียงไม่รับหลักการ 473 เสียง ต่อรับหลักการ 206 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง

เปิดแฟ้มงานกฎหมายสภาฯ  ตีตก“ร่างรธน.” - ค้าง “37 พ.ร.บ.”

      รอบนี้ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ 362 เสียง ทำให้ต้องตกไปโดยเงื่อนไข "ใช้เสียงข้างมากของ 2 สภา”

 

        การลงมติ “คว่ำ” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน ทั้ง 2 ฉบับ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ผิดความคาดหมาย เพราะหากดูสาระและรายละเอียดของเนื้อหา พบว่ามีสาระสำคัญที่ไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะ การรื้อโครงสร้างอำนาจของ “ระบอบประยุทธ์” รวมถีงกลไกที่ “คณะผู้เสนอ” มองว่า เป็นการสืบทอดอำนาจ เช่น ยุบวุฒิสภา โละแผนยุทธศาสตร์ชาติ

 

        เมื่อย้อนดูการทำงานของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ชุดปัจจุบัน พบการตีตก “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งมีทั้งรัฐบาลเสนอ และฝ่ายค้านเสนอ

 

        ส่วน “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)” ยังไม่เคยพบเหตุการณ์ “ถูกตีตก” ในชั้นรับหลักการ

 

        สมัยการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ที่เริ่มปีแรก ตั้งแต่ 22 พ.ค.2562 ถึงปัจจุบัน เข้าสู่ปีที่ 3 พบว่า มีร่างกฎหมายที่ผ่านเข้าสู่การพิจารณาตามลำดับแล้ว 38 ฉบับ โดยสามารถผ่านพิจารณาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวม 18 ฉบับ

 

        นอกจากนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการฯ สภาฯ อีก 12 ฉบับ ที่เหลืออีก 7 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนของวุฒิสภา และอีก 1 ฉบับที่อยู่ระหว่างพิจารณาของสภา เนื่องจากวุฒิสภาแก้ไข คือร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่..) พ.ศ...

เปิดแฟ้มงานกฎหมายสภาฯ  ตีตก“ร่างรธน.” - ค้าง “37 พ.ร.บ.”

        ส่วนใหญ่กฎหมายที่ผ่าน ล้วนมี “คณะรัฐมนตรี”(ครม.) นำเสนอ แม้จะมีร่างกฎหมาย ซึ่ง “ส.ส.” เสนอบ้าง แต่ต้องนำไปประกบกับร่างกฎหมายของ ครม. ดังนั้นเมื่อพิจารณาตัวบท​ต้องยึดฉบับรัฐบาลเป็นหลัก เช่น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ที่ยกเลิกพืชกระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติด เป็นต้น

 

        เมื่อพลิกแฟ้มการเสนอกฎหมายโดย “ฝ่ายการเมือง" และ "ภาคประชาชน” พบว่ามีการเสนอร่างกฎหมาย และดำเนินการตามขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น รวม 118 ฉบับ เป็นของ ส.ส. 100 ฉบับ และประชาชน 18 ฉบับ

 

        สำหรับขั้นตอนเสนอร่างกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แม้จะให้สิทธิ ส.ส. ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ แต่การจะถูกรับ - บรรจุในวาระของสภาฯ ต้องถูกตรวจสอบว่ามีเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ และหากเข้าเงื่อนไขต้องส่งให้ "นายกรัฐมนตรี” รับรอง

 

        จากร่างกฎหมายทั้ง 118 ฉบับที่เข้าสู่ระบบพบว่า เป็นร่างกฎหมายที่ถูกตีความเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน 64 ฉบับ แบ่งเป็นของ ส.ส. 51 ฉบับ และของประชาชน 13 ฉบับ และในจำนวนดังกล่าวนั้นพบว่ามีถึง 27 ฉบับที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ไม่ให้คำรับรอง

เปิดแฟ้มงานกฎหมายสภาฯ  ตีตก“ร่างรธน.” - ค้าง “37 พ.ร.บ.”

 

        มีทั้งเป็นร่างกฎหมายของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และภาคประชาชน 

 

        จำแนกเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 8 ฉบับ อาทิ

พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... เสนอโดย ปรีดา บุญเพลิง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน

ร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครสมุย

ร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการการออมเพื่อการเกษียณแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ....

ร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่...) พ.ศ.... เสนอโดยส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์

ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน

ร่างพ.ร.บ.การแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา พ.ศ..

ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่...​) พ.ศ... เสนอโดย ส.ส. พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น

 

        ร่างกฎหมายที่เสนอโดย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 15 ฉบับ อาทิ

ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ...

ร่าง พ.ร.บ.สภาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อยไทย พ.ศ...

ร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ...​เสนอโดย ส.ส. พรรคเพื่อไทย

ร่างพ.ร.บ.รับราชการทหาร (ฉบับที่...) พ.ศ....

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ....

ร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พ.ศ... เสนอโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล

ร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ....

ร่างพ.ร.บ.เงินบำนาญประชาชน เสนอโดย ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย

ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอสุไหงปาดี จ.นราธิวาส พ.ศ... เสนอโดย ส.ส.พรรคประชาชาติ เป็นต้น

 

      ร่างกฎหมายที่ ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอ 4 ฉบับ ได้แก่

ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เสนอโดย “กลินท์ สารสิน” ประธานสภาหอการค้าไทย

ร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่..) พ.ศ... เสนอโดย “ปัญจเดช สิงห์โท” ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์ สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กับประชาชน จำนวน10,440 คน

ร่างพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ.... เสนอโดย “นิมิตร์ เทียนอุดม” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับประชาชน จำนวน 13,264 คน เสนอ

ร่าง พ.ร.บ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พ.ศ...​เสนอโดย “วณี ปิ่นประทีป” กับประชาชน 13,345 คน

เปิดแฟ้มงานกฎหมายสภาฯ  ตีตก“ร่างรธน.” - ค้าง “37 พ.ร.บ.”

        กับประเด็นการรอคำรับรองของนายกรัฐมนตรีถูกวิพากษ์วิจารณ์จาก ส.ส.ฝ่ายค้านว่า คือช่องทางสกัดร่างกฎหมายที่รัฐบาลไม่ต้องการให้เข้าสู่การพิจารณา เช่น ร่างกฎหมายรับราชการทหาร ที่มีสาระเลิกการเกณฑ์ทหาร และปฏิรูปกองทัพที่นายกฯตัดหน้าสภาฯ ใช้อำนาจ “ตีตก” ไปเสียก่อน

 

        ส่วนร่างกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ผ่านการรับรอง และ รับฟังความเห็นครบถ้วนแล้ว ได้รับการบรรจุเข้าสู่สภาฯ โดยอยู่ระหว่างรอการพิจารณาแล้ว 37 ฉบับ

 

        โดยพบว่ามีร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนบรรจุในวาระ 2 ฉบับ คือ

ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ.... เสนอโดย “จอน อึ๊งภากรณ์" กับประชาชน 12,609 คน อยู่ในลำดับที่ 6

ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... เสนอโดย “เจริญ เจริญชัย" และประชาชน 10,942 คน อยู่ลำดับ 35

  แต่การยกมาพิจารณานั้นไม่ใช่ของง่าย เพราะมักจะถูกแซง โดยร่างกฎหมายของรัฐบาล หรือร่างกฎหมายที่กรรมาธิการของสภาฯ พิจารณาแล้วเสร็จ

 

        จะเห็นว่าร่างกฎหมายของภาคประชาชนนั้น ถูกบรรจุมาตั้งแต่การประชุมสภาฯ ปีที่ 2 วันที่ 24 มิ.ย.2563 และการประชุมสภาฯ ปีที่ 3 วันที่ 10 พ.ย.2564 ตามลำดับ

 

        หากไร้ซึ่งการผลักดันของส.ส.ในสภาฯ ผ่านการเสนอให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน ย่อมยากที่จะถูกหยิบยกมาพิจารณา

 

        เช่นเดียวกันกับ ร่างกฎหมายของ “พรรคร่วมรัฐบาล -พรรคร่วมฝ่ายค้าน” หากไม่ถูกกดดันให้เลื่อนพิจารณาย่อมเป็นเรื่องยากที่จะพิจารณาได้เร็ว เพราะตามกระบวนการต้องรอร่างกฎหมายของ “ครม.” เสนอเข้ามาประกบก่อน

เปิดแฟ้มงานกฎหมายสภาฯ  ตีตก“ร่างรธน.” - ค้าง “37 พ.ร.บ.”

        ดังนั้น แม้ร่างกฎหมายบางฉบับที่มีผลกระทบต่อรัฐบาล หรือการทำงานภายใต้ระบบราชการ จะไม่ถูกตีตก ด้วยเสียงของสภาฯ แต่ด้วยกลไกทั้ง “การขอคำรับรองกฎหมายการเงิน” หรือ “การแทรกคิว” ล้วนเป็นกลไกทางการเมือง 

 

        หาก “ผู้บริหาร”ไม่ต้องการผ่านร่างกฎหมายฉบับใด สามารถยกมาเป็นเครื่องมือ "เตะถ่วง” ได้ โดยไม่เสียเครดิต.