เช็กลิสต์คดี “ศาลรัฐธรรมนูญ”ชี้ขาด 14 ปี "ยุบ 8 พรรค"ชนวนขัดแย้ง

เช็กลิสต์คดี “ศาลรัฐธรรมนูญ”ชี้ขาด  14 ปี "ยุบ 8 พรรค"ชนวนขัดแย้ง

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมของ“นักศึกษา”ในหลายมหาวิทยาลัย ก่อนจะเกิดการรวมตัวกันในนาม“กลุ่มราษฎร” ขับเคลื่อนการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน

“ศาลรัฐธรรมนูญ” มักถูกโจมตีจาก “ขั้วการเมือง” ที่เสียประโยชน์จากคำวินิจฉัย โดยกล่าวหาว่าเป็น “ศาลการเมือง” เนื่องจากคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มักจะมีผลต่อสถานะของพรรคการเมือง สถานะของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

โดยตั้งแต่ก่อกำเนิด “ศาลรัฐธรรมนูญ” มากว่า 24 ปี มีการอ่าน คำวินิจฉัยคดีทางการเมือง จำนวนมาก และมีหลายคดีที่พลิกโฉมหน้าทางการเมือง พลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมคดีที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัยจนเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางการเมืองมานำเสนอ เพื่อย้อนดูประวัติศาสตร์คดี ที่สามารถบอกอนาคตทางการเมืองได้

ยุบ“ไทยรักไทย-2 พรรค”กำเนิดบ้านเลขที่ 111

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2550 “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย ตามคำร้องของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็ก ประกอบด้วย พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ กกต.ปลอมแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคเล็ก เมื่อปี 2549

อ่านข่าว : ชวนรู้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” คืออะไร มีหน้าที่ตรวจสอบ-วินิจฉัยอะไรบ้าง?  

กกต.เห็นว่า พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทยกระทำความผิด จึงส่งอัยการสูงสุดเพื่อให้ส่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำสั่ง ยุบพรรค แต่ระหว่างนั้นเกิด รัฐประหาร รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 พร้อมกับยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 จึงตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ 9 คน เพื่อพิจารณาคดีใหม่

โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ในข้อกล่าวหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค รวม 111 คน หรือที่เรียกว่า “บ้านเลขที่ 111” โดยมีนักการเมืองชื่อดังถูกเพิกถอนสิทธิ์เป็นจำนวนมาก

เช็กลิสต์คดี “ศาลรัฐธรรมนูญ”ชี้ขาด  14 ปี "ยุบ 8 พรรค"ชนวนขัดแย้ง

ปลดนายกฯ“สมัคร”จัดชิมไปบ่นไป

หลังยุบพรรคไทยรักไทย “ทักษิณ ชินวัตร” รวบรวมขุนพลทางการเมืองก่อตั้ง "พรรคพลังประชาชน" สู้ศึกเลือกตั้ง 23 ธ.ค.2550 จนคว้าชัยชนะได้อีกครั้ง โดยส่ง “สมัคร สุนทรเวช” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่ความขัดแย้งทางการเมือง โดยการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาจึงมีคำร้องไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้วินิจฉัยกรณีที่ “นายกฯ สมัคร” จัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และรายการ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ที่ห้ามนายกรัฐมนตรีมีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด

เช็กลิสต์คดี “ศาลรัฐธรรมนูญ”ชี้ขาด  14 ปี "ยุบ 8 พรรค"ชนวนขัดแย้ง

โดย “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัย 6 คนเห็นว่า “สมัคร” เป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ขณะที่ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” อีก 3 คน เห็นว่าเป็นการดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วน โดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน

ทำให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติเอกฉันท์ ให้ความเป็นรัฐมนตรีของ “สมัคร” สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ส่งผลให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ยุบ“พลังประชาชน-2พรรค”-ตั้งรัฐบาลปชป.

ต่อมาในปี 2551 พรรคพลังประชาชน ที่ยังกุมเสียงข้างมากในสภา เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จาก “สมัคร สุนทรเวช” มาเป็น “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” น้องเขย “ทักษิณ” ยิ่งทำให้การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม

เป็นเวลาเดียวกับที่ กกต.ได้มีมติให้ใบแดงพรรคพลังประชาชน และส่งความเห็นไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน หลังพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งที่ จ.เชียงราย

โดยในวันที่ 8 ก.ค.2551 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” 5 ปี พร้อมส่งอัยการสูงสุด เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคพลังประชาชน และในวันที่ 2 ธ.ค.2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 37 คน เป็นเวลา 5 ปี

เช่นเดียวกับ พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็ถูก กกต.มีมติเสียงข้างมากส่งคำร้องไปยังอัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคด้วย เพราะมีกรรมการบริหารพรรคการเมืองกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยเพิกถอนสิทธิทางการเมือง พรรคชาติไทย 43 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตย 29 คน รวมกับพรรคพลังประชาชน 37 คน ทั้งหมดถูกเรียกว่า “บ้านเลขที่ 109”

โดยการยุบพรรคพลังประชาชนในครั้งดังกล่าว นำมาสู่การพลิกขั้วทางการเมืองของ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” แยกตัวออกมา เพื่อเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวันที่ 20 ธ.ค.2651

ฟัน“ยิ่งลักษณ์”เปิดทางรัฐประหาร

ต่อมาในปี 2557 "กลุ่ม กปปส." ชุมนุมกดดันรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้เกิดการปฏิรูป แม้ “ยิ่งลักษณ์” จะยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่กปปส.ยังชุมนุมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ “ยิ่งลักษณ์” สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทำให้ “ยิ่งลักษณ์” และครม.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยกย้าย “ถวิล” ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปด้วย แต่ยังมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดรักษาการให้ทำหน้าที่อยู่ กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ยุบ"ไทยรักษาชาติ"ล่มแผนแตกแบงค์ร้อย

จากนั้นก่อนการเลือกตั้ง มี.ค. 2562 “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติยุบ "พรรคไทยรักษาชาติ" จากกรณีเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีรายชื่อของพรรค

โดยการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้แผนแตกแบงค์ร้อย เพื่อรวมเสียงให้ชนะการเลือกตั้งของ “ทักษิณ ชินวัตร” ต้องสะดุดลง ส่งผลให้พรรคเพื่อไทย ที่ส่ง ส.ส.ลงสมัครเพียง 250 เขต ต้องเสียผลประโยชน์ เพราะเว้นให้กับพรรคไทยรักษาชาติ 150 เขต

ยุบ"อนาคตใหม่"ชนวนขัดแย้งรอบใหม่

ภายหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 "พรรคอนาคตใหม่" ที่นำโดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” สามารถกวาด ส.ส. เข้าสภาได้ถึง 81 เสียง แถมจุดเด่นของ “ธนาธร-พวก” คือการมี “คนรุ่นใหม่” เป็นฐานเสียง

ที่สำคัญ “ธนาธร-อนาคตใหม่” มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าอยู่ตรงข้าม “สถาบันฯ” ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของ “คนรุ่นใหม่”

โดย กกต.ยื่นคำร้องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง จากกรณีที่ “ธนาธร” ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมของ “นักศึกษา” ในหลายมหาวิทยาลัย ก่อนจะเกิดการรวมตัวกันในนาม “กลุ่มราษฎร” ขับเคลื่อนการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน