“นิพนธ์”ตอบรวด 3 กระทู้ ปัดละเลยปมที่ดิน “เขากระโดง” ตั้ง กก.สอบฯ 120 วันเสร็จ

“นิพนธ์”ตอบรวด 3 กระทู้ ปัดละเลยปมที่ดิน “เขากระโดง” ตั้ง กก.สอบฯ 120 วันเสร็จ

“นิพนธ์” รมช.มหาดไทย ตอบรวดเดียว 3 กระทู้ “ถามสด-แยกส่วน” แจงปมที่ดิน “เขากระโดง” 5 พันไร่ ยันเป็นของ “รฟท.” ยึดตามคำพิพากษาศาลฎีกา ย้ำกรมที่ดินไม่ได้ละเลย ตั้ง กก.สอบฯอยู่ ขีดเส้น 120 วันต้องเสร็จ – เคลียร์คำถาม 2 ส.ส.สกลนคร “เพื่อไทย” ด้วย

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 ที่รัฐสภา นายนิพนธ์  บุญญามณี  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(รมช.มท.) รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย( รมว.มท.) ให้ตอบกระทู้ถามของนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส. นราธิวาส พรรคประชาชาติ ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของกรมที่ดิน กรณีที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 53 แห่งรัฐธรรมนูญ

โดยนายนิพนธ์  กล่าวชี้แจงว่า กรณีนี้เป็นข้อพิพาทและเรื่องถึงศาล คือ กรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีที่ 842-876/60 และ 8027/61 ถือว่าคำพิพากษาศาลฎีกาผูกพันคู่กรณี ซึ่งศาลพิพากษาว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวนของราษฎรทั้ง 35 รายที่ฟ้องคดี และให้จำหน่าย ส.ค.1  เลขที่ 209 หมู่ที่ 1 ต.อิสาน อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ออกจากสารบบการครอบครองที่ดิน  โดยกรมที่ดินมีหนังสือลับที่ มท 0516.2/3025 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 แจ้งให้ รฟท. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ส่วนการดำเนินการตามที่ศาลฎีกาคำพิพากษาคดีที่ 8027/61 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2561 ว่า ที่ดินตามหลักฐาน น.ส.3 ของเลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 13) ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นของ รฟท. กรมที่ดินได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1977/2564 ลงวันที่ 6 ส.ค. 2564  ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้มีคำสั่งแก้ไขเนื้อที่ตามระเบียบและกฎหมาย  ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการเพิกถอนโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกด้วยความคลาดเคลื่อนนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดิน  ซึ่งก่อนดำเนินการเพิกถอน ต้องทำตามขั้นตอนที่กฎหมายได้กำหนดไว้  คือ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน  ขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 60 วัน รวม 120 วันต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกฎหมาย

นายกมลศักดิ์ ถามต่อว่า กรมที่ดินใช้หลักเกณฑ์อะไร ทำไมถึงแยกการพิจารณาออกเป็นหลายส่วน และไม่ใช้เอกสารของคำพิพากษาศาลฎีกามาใช้ประกอบตามประมวลกฎหมายที่ดินตามมาตรา 61 ตนเป็นห่วงว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะต้องรีบดำเนินการไม่ใช่ปล่อยปละละเลย และเหตุใดกรมที่ดินถึงแยกส่วนที่ดิน       

นายนิพนธ์ ตอบชี้แจงว่า  เมื่อดูแผนที่ พบว่ารอยเขตไม่ได้เป็นแนวเดียวกันยังมีความทับซ้อน กรมที่ดินจึงได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง รฟท. เพื่อชี้แจงความคืบหน้า และตกลงกันเมื่อวัน 8 พ.ย. 2564 ในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแนวเขตทั้งหมดของเนื้อที่ 5,083 ไร่ และแต่งตั้งกรรมการอำนวยการเพื่อดำเนินการแก้ปัญหานี้   ประเด็นนี้ กรมที่ดินและกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ปล่อยปละละเลย ตนได้กำชับเป็นหนังสือสั่งการไปยังกรมที่ดินเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป

นายกมลศักดิ์ ถามย้ำในคำถามที่3ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำลังจะปล่อยให้มีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐกันเอง ไม่มีมาตรการอื่นที่จะไม่ให้มีการฟ้องร้องกรมที่ดิน และดูเอกสารที่กรมที่ดินอ้าง คือ รูประวางที่ รฟท.ส่งไป ไม่มีการเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง แล้วประเด็นระหว่างหน่วยงานรัฐกันเอง ไม่มีมาตรการที่จะไม่ให้เรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลหรือไม่        

นายนิพนธ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ที่ดินกว่า 5,083 ไร่ได้ออกเอกสารสิทธิ์ไปประมาณ 700 กว่าแปลง มีทั้ง น.ส.3 และ น.ส.3 ก. อีกจำนวนหนึ่ง ฉะนั้นการกระทำที่กระทบสิทธิ์ผู้อื่น ต้องรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาเขตที่เป็นขอบเขตที่แน่นอน มีพิกัดชัดเจน หากกรมที่ดินทำไปโดยขาดความละเอียดรอบคอบ อาจกระทบสิทธิ์ของบุคคลที่ได้เอกสารสิทธิ์โดยชอบ ดังนั้นก่อนดำเนินการใดๆ ความรอบคอบเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด            

“ขอย้ำเรียนว่า กรมที่ดินไม่ได้ละเลย เมื่อ รฟท.แจ้งมาปี 2564 ท่านจึงได้เห็นความเคลื่อนไหวทั้งหมดในปี 2564 ขอกราบเรียนว่า เรื่องนี้มีปัญหาเป็นอุปสรรค หากไม่ดำเนินการไปตามแผนที่จริง จะมีที่ดินเหลื่อมล้ำได้รับผลกระทบ จึงต้องชี้แนวเขตที่ดินให้ชัดเจนเสียก่อน  ซึ่ง รฟท.ไม่เคยมานำชี้ ผมก็ไม่อยากให้เห็นความขัดแย้งของหน่วยงานรัฐ แต่หลักของกรมที่ดินก็คือ เมื่อเป็นที่ดินเป็นของ รฟท. ก็ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์  เมื่อเริ่มมีหนังสือส่งมา ก็ถือว่ากระบวนการเริ่มนับหนึ่งแล้ว ขอยืนยันว่า เราไม่ได้นิ่งนอนใจและจะดำเนินการให้เป็นขั้นตอนตามกฎหมายบัญญัติเอาไว้” นายนิพนธ์ กล่าว

@แจง 2 โครงการขุดลอกลำห้วย จ.สกลนคร

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ได้รับมอบหมายจาก รมว.มหาดไทย ให้ตอบกระทู้แยกเฉพาะของนายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ถึงการแก้ไขปัญหาโครงการขุดลอกลำห้วยกุดนา และโครงการขุดลอกลำห้วยนาน้อย บ้านโนนกุง หมู่ที่ 3 ต.เชียงสือ อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร ว่า กระทรวงมหาดไทยจะสามารถจัดสรรงบประมาณได้หรือไม่        

นายนิพนธ์ ชี้แจงว่า กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่กำกับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)จัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนในพื้นที่ และมีหน้าที่แก้ไขปัญหาความต้องการของประชาชน ในพื้นที่โดยให้จัดทำโครงการบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่นในการขอรับสนับสนุนงบประมาณด้านน้ำตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้อปท.ทำโครงการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำให้เสนอคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด พิจารณาเห็นชอบ กรณีที่ใช้งบประมาณไม่มาก อปท.สามารถตั้งเทศบัญญัติ หรือข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดำเนินการขุดลอกแหล่งกักเก็บน้ำเองได้  หากเกินศักยภาพของอปท. เทศบาล และอบต. ให้สามารถประสานไปยัง อบจ. เพื่อให้ดำเนินการแทนได้ หาก อปท. ไม่มีงบฯ หรืองบฯไม่พอ สามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลาง (มท.) และสำนักงบประมาณได้  สำหรับโครงการขุดลอกลำห้วยกุดนา และโครงการขุดลอกลำห้วย นาน้อย เทศบาลตำบลเชียงสือ สามารถจัดทำเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี(เพิ่มเติม)ได้  หากเทศบาลตำบลเชียงสือมีงบฯไม่เพียงพอหรือไม่มีความพร้อมในการดำเนินโครงการก็สามารถประสานแผนเพื่อบรรจุในแผนของ อบจ.สกลนคร หรือขอรับสนับสนุนงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มาที่ส่วนกลาง ตามหลักเกณฑ์ แนวทาง และระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเสนอสำนักงบประมาณพิจารณาต่อไป

@ตอบปม กฟภ.พร้อมขยายเขตให้บริการไฟฟ้าสู่ครัวเรือน 

ต่อมานายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ได้รับมอบหมายจาก รมว.มหาดไทย ให้ตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะของนางอนุรักษ์ บุญศล ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่ถามว่ากระทรวงมหาดไทยมีนโยบายที่จะขยายเขตไฟฟ้าภูมิภาคสู่ครัวเรือนใหม่และขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตรหรือไม่    

โดยนายนิพนธ์ กล่าวชี้แจงว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการจัดหากระแสไฟฟ้าบริการให้กับประชาชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เพื่อการประกอบอาชีพและให้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน  โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้ กฟภ. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 - ปัจจุบันทั้งสิ้น 4,685ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรจะได้มีไฟฟ้าใช้เพื่อความสะดวกต่างๆจำนวน 87,100 ราย  ดำเนินการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้พี่น้องเกษตรกรไปแล้ว ทั้งสิ้น 129,580 ราย   ส่วนการสนับสนุนการขยายเขตไฟฟ้าครัวเรือนนั้น กฟภ. จะพิจารณาจัดสรรเป็นรายๆ ไป โดยจะพิจารณาจากประชาชนที่ด้อยโอกาสเป็นลำดับแรก โดยผู้ที่ขอใช้ไฟ จะต้องมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านแบบถาวร หรือชั่วคราว และพื้นที่นั้นๆต้องไม่ใช่โครงการบ้านจัดสรร หรือพื้นที่หวงห้ามของราชการ มีเส้นทางคมนาคมที่สามารถเข้าไปได้อย่างสะดวก ยืนยันว่ากระทรวงมหาดไทยพร้อมให้บริการ

ตามด้วยการตอบกระทู้แยกเฉพาะของนางอนุรักษ์ บุญศล ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย กรณีการก่อสร้างเชื่อมต่อสะพานเก่าให้ยาวขึ้นในถนนบ้านนาดินจี่ ต.คำสะอาด อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ไปบ้านโคกคำไหล ต.อ้อมกอ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ที่มีปัญหาช่วงฤดูน้ำหลากมีมวลน้ำมากแต่น้ำไหลผ่านสะพานได้น้อย เพราะเป็นคอขวด ว่ากระทรวงมหาดไทยจะต่อขยายสะพานออกไปทางบ้านโคกคำไหล จ.อุดรธานี หรือไม่    

นายนิพนธ์  ชี้แจงว่า สะพานข้ามแม่น้ำสงคราม ตั้งอยู่บนพื้นที่คาบเกี่ยวกัน 2 จังหวัดคือ สกลนครและ อุดรธานี เดิมสะพานนี้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย แต่ปัจจุบันได้โอนมาอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมแล้ว  และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าสภาพของแม่น้ำสงครามในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นแนวลำน้ำธรรมชาติแบ่งเขตการปกครองของ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร และอ.บ้านดุง จ.อุดรธานี พบว่า เป็นลำน้ำขนาดเล็ก โดยมีต้นน้ำมาจาก อ.สอยดาว จ.สกลนคร และไหลลงแม่น้ำโขงที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม มีความยาว 420 กิโลเมตร  ทำให้ความสามารถของการรองรับน้ำของแม่น้ำสงครามบริเวณด้านเหนือและด้านท้ายสะพาน  มีน้อยกว่าความสามารถรองรับการไหลของน้ำในแม่น้ำสงครามช่วงฤดูฝน   โดยแนวทางการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำสงครามนี้ ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา และทำการขุดลอกขยายแม่น้ำสงครามให้รองรับการไหลหลากของน้ำให้มากขึ้น จะเป็นการแก้ไขปัญหาการท่วมขังและลดความเสียหายของเกษตรกรในพื้นที่ โดยกระทรวงมหาดไทยจะได้ประสานกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมและกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯให้ศึกษา และทำการขุดลอกขยายแม่น้ำสงครามเพื่อให้รองรับการไหลหลากของน้ำให้มากขึ้นกว่าเดิมต่อไป