"อดีตกรธ." ชี้ศาล สั่ง "ปารีณา" ห้ามเป็น "กมธ." ไม่ใช่บรรทัดฐาน

"อดีตกรธ." ชี้ศาล สั่ง "ปารีณา" ห้ามเป็น "กมธ." ไม่ใช่บรรทัดฐาน

อดีต กรธ. เผย เจตนารมณ์ให้ ส.ส.หยุดทำหน้าที่ เมื่อศาลรับฟ้องผิดจริยธรรมร้ายแรง ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งอื่นในสภาฯ แต่เข้าใจ ศาลฎีกา ใช้ดุลยพินิจสั่งเพิ่มได้ ตามเหตุผล

         นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้ความเห็นต่อประเด็นที่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฏีกา พิจารณาให้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี  หยุดปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565  เนื่องจากได้รับคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กรณีรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.ราชบุรี ว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นดุลยพินิจของศาล ที่อาจเล็งเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องและสำคัญต่อบทบาทดังกล่าว และไม่ต้องการให้เลี่ยงกฎหมาย อย่างไรก็ดีตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตราที่กำหนดให้ ส.ส. ที่ถูกรับฟังกรณีฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. หมายถึงตำแหน่งที่มีผลต่อการถูกถอดถอน และไม่ระบุถึงขึ้นว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอื่น เพราะอย่าลืมว่าคนที่ถูกร้องว่ากระทำผิด ยังไม่ถูกวินิจฉัยชี้ขาดว่ากระทำผิด

 

 

         “ต้องถามว่าตอนที่แต่งตั้งเป็นกรรมาธิการ นั้นดำรงตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่ แต่กมธ.วิสามัญเข้าใจว่า ตามข้อบังคับให้คนนอกเป็นได้ เบื้องต้นผมมองว่าไม่น่าจะสั่งให้หยุดได้ แต่เมื่อศาลพิจารณาไว้เช่นนั้นอาจมีเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกับการทำหน้าที่ เพราะกมธ.งบประมาณถือเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ต้องเป็นคนสำคัญ “ นายอุดม กล่าว

         เมื่อถามว่ากรณีที่ศาลพิจารณาดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานให้ ส.ส.ที่หยุดปฏิบัติหน้าที่พ้นจาก กมธ.ฯ ด้วยหรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า ไม่เกี่ยว เพราะเป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลยพินิจ ว่าจะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และไม่ได้บังคับ และไม่ใช่บรรทัดฐาน เพราะเป็นเรื่องแต่ละครั้ง

 

         "การแต่งตั้ง กมธ. เป็นเรื่องฝ่ายการเมืองที่ต้องตกลงเอง เป็นการใช้วิจารณญาณของฝ่ายการเมือง ส่วนศาลใช้ดุลยพินิจได้ หากนักการเมืองคนใดถูกฟ้อง และศาลรับฟ้อง ศาลจะบอกว่าไม่ต้องหยุดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุผล แต่การให้เหตุผลแต่ละส่วน ต้องไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ  ต้องพิจารณาเจตนารมณ์กฎหมาย ยอมรับว่าเจตนารมณ์นั้นอาจเห็นไม่เหมือนกันได้ สำหรับคนออกกฎหมายเจตนารมณ์คือสิ่งที่บอกว่าคนร่างคิดอะไร ส่วนศาล คือ คนใช้เจตนารมณ์ ที่อาจเห็นไม่เหมือนกับคนยกร่างก็ได้ และไม่สามารถบอกได้ว่าใครถูกหรือผิด” นายอุดม กล่าว.