"ประวิตร" สั่งจับตา “พายุหมาเหล่า” กำชับสทนช. ปรับการระบายน้ำช่วย 15 จังหวัด

"ประวิตร" สั่งจับตา “พายุหมาเหล่า” กำชับสทนช. ปรับการระบายน้ำช่วย 15 จังหวัด

"ประวิตร" สั่งจับตา“พายุหมาเหล่า” -ประเมินสถานการณ์น้ำเข้าเขื่อน พร้อมกำชับสทนช. ปรับการระบายน้ำช่วย 15 จังหวัด

พลเอก คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ 15 จังหวัดที่ยังประสบปัญหาอุทกภัย และกังวลพายุลูกใหม่ซ้ำเติม ขณะที่ฝนยังมากต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง ภาคตะวัน ออกและภาคใต้ และน้ำทะเลหนุนสูง ระหว่าง 23-27 ต.ค. นี้

พลเอก ประวิตร ได้กำชับ สทนช. ติดตามพยากรณ์สภาพอากาศ และพายุ “หมาเหล่า” โดยให้ประเมินสถานการณ์น้ำเข้าเขื่อน และพิจารณาปรับการระบายน้ำลงแม่น้ำสายหลัก ไม่ให้น้ำล้นตลิ่งกระทบพื้นที่โดยรอบ สำหรับการบริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีน

ขอให้ประสานกรมชลประทาน ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ เจ้าพระยา ช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน โดยให้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนตามจุดต่างๆ เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรีและนครปฐม

อ่านข่าว : ‘พยากรณ์อากาศ’ วันนี้ ‘ฝนตกหนัก’ บางแห่ง ระวัง ‘น้ำท่วมฉับพลัน’

ภาพรวมการช่วยเหลือน้ำท่วมของเหล่าทัพ ปัจจุบันยังคงสนับสนุนส่วนราชการต่างๆ และทำงานร่วมกับจิตอาสา ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องมา โดยยังคงหมุนเวียนกำลังทหารกว่า 15,000 นาย

รวมทั้งเครื่องมือช่างและยานพาหนะกว่า 900 คัน กระจายลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเร่งด่วน ทั้งการอพยพประชาชน ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็ก การขนย้ายสัตว์เลี้ยงจำนวนมากออกจากพื้นที่น้ำท่วมเข้าพื้นที่ปลอดภัย และได้เร่งติดตั้งสะพานทางทหารและซ่อมแซมสะพานในเส้นทางที่ถูกตัดขาดกว่า 10 แห่งในพื้นที่ จ.พะเยา เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา ร่วมไปกับการจัดยานพาหนะอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนให้สามารถสัญจรได้ปกติ

ขณะเดียวกัน ทุกเหล่าทัพได้สนับสนุนการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนและจัดกำลังพร้อมเครื่องมือช่าง เร่งเข้าไปเสริมความแข็งพนังกั้นน้ำในพื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ริมแม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา และเปิดทางระบายน้ำลงแม่น้ำสายหลัก และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เรือระบายน้ำกว่า 40 ลำ เร่งระบายและผลักดันน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระ ทบจากน้ำท่วมขังและความเสียหายที่เกิดขึ้น