ชำแหละธุรกิจการเมืองท้องถิ่น  “ตกเขียว”เลือกตั้ง อบต.

ชำแหละธุรกิจการเมืองท้องถิ่น  “ตกเขียว”เลือกตั้ง อบต.

การเลือกตั้ง "อบต." รอบนี้ ถูกจับตาจากสังคมมากที่สุด เพราะเป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่ชี้ขาด "การเลือกตั้งระดับชาติ" แม้ "กกต." จะรณรงค์และเข้มงวดเรื่องการทุจริต แต่ "โกวิทย์ พวงงาม" ที่เฝ้าจับตาดู พบว่า เกิดกรณี ซื้อเสียงล่วงหน้า หรือ ตกเขียว เกิดขึ้นหลายพื้นที่

        ประเทศไทยเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และ นายก อบต. อย่างเป็นทางการ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศเปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบต. เมื่อวันที่ 11- 15 ตุลาคม  

 

        การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 3 ในสมัยรัฐบาลของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ซึ่งครั้งแรกคือการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) นายก อบจ.และ สมาชิกสภา อบจ. 76 แห่ง เมื่อ 20 ธันวาคม 2563 

 

        ครั้งที่สอง คือ เลือกตั้งเทศบาล 2,472 แห่ง เมื่อ 28 มีนาคม ส่วนครั้งที่สาม ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น 28 พฤศจิกายน คือการเลือกตั้ง นายก อบต.​และ สมาชิกสภา อบต. จำนวน 5,300 แห่ง

 

        การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.ถูกจับตามองไม่น้อย ว่าจะให้การเลือกตั้ง อบต. ที่เป็นฐานรากสำคัญของการเลือกตั้งระดับชาติ ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ทำให้เกิดความโปร่งใส ปลอดการซื้อเสียงมากน้อยแค่ไหน

 

        เรื่องนี้ “ศ.โกวิทย์ พวงงาม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานยุทธศาสตร์ด้านนโยบาย พรรคพลังท้องถิ่นไท” ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงแง่มุมธุรกิจการเมืองที่เกี่ยวโยงกับการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยความห่วงใยว่า การเลือกตั้ง อบต. มีความสำคัญมาก กับรากฐานประชาธิปไตย และการเลือกตั้งที่สุจริต โปร่งใส ที่เชื่อมโยงกับ “การเลือกตั้งระดับชาติ” เพราะอบต.คือการปกครองท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในแต่ละตำบลและหมู่บ้านมากที่สุด 

 

ชำแหละธุรกิจการเมืองท้องถิ่น  “ตกเขียว”เลือกตั้ง อบต.

        จากประสบการณ์และการรับทราบข้อมูลพบว่า ก่อน กกต.ประกาศให้มีเลือกตั้ง อบต.วันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ มีกลุ่มนักการเมืองและนายทุนพื้นที่สร้างกลไก “ธุรกิจการเมือง” เพื่อหวังให้ตัวเอง หรือกลุ่มคนของตัวเองได้รับตำแหน่ง      

 

        “เป็นปรากฎการณ์ตกเขียว หรือซื้อเสียงที่เกิดขึ้นล่วงหน้า ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นธุรกิจการเมือง สิ่งที่พบคือ การวางแผนเตรียมการณ์ล่วงหน้าก่อนที่จะมีประกาศของ กกต.เป็นปีๆ ผ่านการกว้านซื้อหัวคะแนน จัดเลี้ยง และแจกซอง อย่างพื้นที่ภาคใต้  จ.นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี พบกระบวนการตกเขียว และในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน” โกวิทย์ ระบุ

 

ชำแหละธุรกิจการเมืองท้องถิ่น  “ตกเขียว”เลือกตั้ง อบต.

        สำหรับกระบวนการตกเขียวรอบนี้ ประธานยุทธศาสตร์ด้านนโยบาย พรรคพลังท้องถิ่นไทประเมินว่า มีการใช้เงินขั้นต่ำ 10 ล้านบาท 

 

        ปัจจุบัน อบต. ถูกแบ่งให้เป็น 2 ขนาด คือขนาดเล็กมีประชากร 3,000 - 5,000 คน ขนาดใหญ่มีประชากรประมาณ 6,000 - 1.2 แสนคน โดยใน อบต.ขนาดเล็กพบการใช้เงินหัวละ 500 - 2,000 บาท แต่ทั้งหมดนั้นทำก่อนที่จะมีประกาศกำหนดการเลือกตั้ง ตามกฎหมายจึงไม่สามารถเอาผิดได้ ส่วนกระบวนการของ กกต. เองไม่มีมาตรการป้องกันกระบวนการตกเขียวก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น 

 

        แม้ตามกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นกำหนดมาตรการเชิงป้องปราม และเขียนบทลงโทษพฤติกรรรมที่เข้าข่ายซื้อเสียง แต่ “โกวิทย์” มองว่ายังไม่ครอบคลุม

 

        เพราะการห้ามผู้สมัคร หรือผู้ช่วยหาเสียงจัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ ผลประโยชน์ที่คำนวณเป็นเงินแก่ผู้ใด หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน ทางตรงทางอ้อมกับชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด หรือศาสนสถานอื่น สถานสงเคราะห์ สถาบันอื่น รวมถึงเลี้ยง หรือรับจัดเลี้ยงเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนให้ แต่กฎหมายบังคับได้แค่ช่วงที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง ไม่สามารถบังคับใช้ได้ก่อนหน้านั้น

ชำแหละธุรกิจการเมืองท้องถิ่น  “ตกเขียว”เลือกตั้ง อบต.

        "กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2562 ออกในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผมไม่ทราบว่าเขาลืมคิดเรื่องนี้หรืออย่างไร เพราะการทำธุรกิจการเมือง ไม่ใช่ทำแค่ช่วงที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่วางแผนทำมาก่อนหน้านั้นอีก ผมมีแนวคิดที่จะเสนอให้แก้ไขเรื่องดังกล่าว ควบคู่กับการให้ความรู้ ปลูกฝังค่านิยมเลือกตั้งสุจริตกับประชาชน” โกวิทย์ กล่าว

 

        เขามองด้วยว่า สำหรับธุรกิจการเมืองในชั้น อบต. ส่วนที่จะขจัดได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือประชาชนในท้องที่ต้องร่วมมือ ไม่รับเงินซื้อเสียง และต้องสร้างสำนึกให้ตัวเองด้วยว่า ธุรกิจการเมืองท้องถิ่นที่ลงทุนไป เมื่อเขาไปรับตำแหน่ง งบของ อบต.ที่ได้รายปี 50 - 100 ล้านบาท และมีเงินเฉพาะกิจที่รัฐบาลมอบให้อีก ย่อมถูกปันส่วนจากโครงการพัฒนาพื้นที่ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ไปเข้ากระเป๋านายทุนการเมืองหลายร้อยล้านบาท และสุดท้าย ทุกข์ของประชาชน ปัญหาท้องที่ไม่ได้รับการแก้ไข จนชั่วลูกชั่วหลาน ประชาชนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้สักที

 

        “งบประมาณที่ลงสู่ อบต.​ คือเงินภาษีของประชาชนทั้งนั้น หากเห็นแก่เงินซื้อเสียงวันนี้ ผมเชื่อว่าในอนาคตประชาชน ท้องถิ่น ยังคงจมปลักกับความไร้คุณภาพ หรือความทุกข์ ความลำบากซ้ำซากแบบไม่รู้จบ” ส.ส.พลังท้องถิ่นไท ทิ้งท้าย.