“กรณ์”ลุยสงขลาชู“เมืองเศรษฐกิจ” เปิดตัว 4 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.“พรรคกล้า”

“กรณ์”ลุยสงขลาชู“เมืองเศรษฐกิจ” เปิดตัว 4 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.“พรรคกล้า”

“กรณ์” นำ “พรรคกล้า” ลุยสงขลา เปิดตัว 4 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. คนรุ่นใหม่ ยึดหัวหาด “เมืองเศรษฐกิจ” ภาคใต้ เตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า พร้อมด้วย ผศ.ดร.เอราวัณ ทับพลี ผู้อำนวยการพรรค นายสราวุฒิ สุวรรณรัตน์ เลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์-ภาคใต้  นางสาวนัฏฐิมา วิชยภิญโญ เลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค นำทีมเปิดการประชุมจัดตั้งตัวแทนพรรคหลายพื้นที่ในจังหวัดสงขลา

พร้อมเปิดตัว 4 ว่าที่ผู้สมัครนักการเมืองรุ่นใหม่ หลากหลายอาชีพร่วมทีม “ผู้กล้า-สงขลา” ได้แก่ 1. นายธัชพล วิบูลย์พันธุ์ นักธุรกิจรุ่นใหม่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร หาดใหญ่ 2. ดร.ประสิทธิ์ รัตนพันธ์ อาจารย์ด้านการตลาดหลายมหาวิทยาลัยใน จ. สงขลา 3. นายสมพร หาญณรงค์ นักสื่อสารมวลชน คนสิงหนคร 4. นายพงศธร สุวรรณรักษา ทนายอาสารุ่นใหม่ สู้เพื่อแรงงานย่านสะเดา และคลองหอยโข่ง

“กรณ์”ลุยสงขลาชู“เมืองเศรษฐกิจ” เปิดตัว 4 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.“พรรคกล้า”

นายกรณ์ กล่าวว่า ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางเศรษฐกิจ ระบบคิดและไอเดียกับชาวสงขลา ผู้ประกอบการ ตัวแทนหอการค้า YEC สภาอุตสาหกรรม สมาคมโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยว รวมไปถึงตัวแทนภาคเอกชนขนาดเล็ก พร้อมทั้งย้ำให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับโอกาสการทำมาหากิน โอกาสทางเศรษฐกิจให้เต็มศักยภาพของเมือง ของภาคใต้โดยเฉพาะ จ.สงขลา

“จ.สงขลา มีทุนเดิมที่เข้มแข็ง ทั้งการเป็นจังหวัดชายแดนที่ติดกับ 2 ประเทศ ที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในอาเซียนอย่าง มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงจุดเด่นในการเป็นพื้นที่การผลิต และอุตสาหกรรม เป็นเมืองการค้าและการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมทั้งระบบส่งออกสินค้าที่ผลิตและแปรรูปเองได้หลัก ๆ ไป จีน วันนี้ต้องมาตั้งโจทย์ว่า มีทุกอย่างพร้อมแบบนี้ อะไรที่ฉุดรั้งสงขลาอยู่” นายกรณ์ กล่าว

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ชูหลักคิด ’Songkhla - Seamless South’ คือการบริหารเศรษฐกิจและการทำธุรกิจสำหรับหัวเมืองใหญ่ที่เชื่อมระหว่างประเทศแบบ “ไร้รอยต่อ” และทำ Travel Bubble (การเปิดท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทางเฉพาะประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้) กับ สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อคืนชีพเศรษฐกิจหาดใหญ่ รวมถึงแรงงานภาคบริการซึ่งเป็นชาวบ้านในจังหวัดใกล้เคียงด้วย ขณะเดียวกันก็ได้ย้ำเรื่องการขยายศักยภาพจากจุดเด่นของเมืองคือ อุตสาหกรรมจากการแปรรูปไม้ยาง น้ำยาง ประมง ที่มีสัดส่วนเศรษฐกิจกว่าครึ่งของจังหวัด รวมไปถึง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ที่ต้องมีระบบโลจิสติกส์ที่เข้มแข็ง ระบบรางสำหรับขนของไปขาย และท่าเรือที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งออกสินค้าตรงไปยังจีน คือสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน 

นายกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาที่ดินที่ราคาปล่อยเช่า (yield) ต่ำ ทำให้กลไกตลาดไม่ทำงาน ปัญหาหนึ่งคือ สัดส่วนของพื้นที่ราชการ กว่า 40% เป็นที่ดินราชพัสดุสูงมาก ที่ราชการถือครองไว้เฉย ๆ ไม่ได้นำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อประชาชนและท้องถิ่นโดยภาพรวม ทั้งที่พื้นที่โซนนี้สามารถขยายศักยภาพของคนในท้องถิ่น ได้หาแหล่งรายได้จากอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve ซึ่งเป็นหัวใจหลักของกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“กรณ์”ลุยสงขลาชู“เมืองเศรษฐกิจ” เปิดตัว 4 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.“พรรคกล้า”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้แลกเปลียนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยนายสมบัติ เหาตะวานิช ตัวแทนนักธุรกิจแปรรูปไม้ยางพารา กล่าวว่า เศรษฐกิจสงขลา ถูกถ่วงหนักมากด้วยระบบราชการ การจะสร้างโอกาสให้สงขลา ต้องมองภาพรวมเป็นก้อนเดียวกันทั้ง 6 จังหวัดคลัสเตอร์ทางเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงการมองสเกลการผลิตและส่งออกในภาพเดียวกันเป็นก้อนใหญ่ 

นายศิวัฒน์ สุวรรณวงศ์ นายกสมาคมโรงแรมสงขลา กล่าวว่า จ.สงขลาขาดการพัฒนาเชิงโครงสร้าง การสร้างเมกะโปรเจคต์ด้านสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อธุรกิจท่องเที่ยวหายไป คนสงขลามีคนเก่งเยอะมาก แต่ไม่ได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดเพราะขาดโอกาสทางธุรกิจที่จะทำให้เศรษฐกิจโต 

ส่วนนายสมพล ชีววัฒนาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสงขลา กล่าวว่า โมเดลหาดใหญ่ Sandbox สู่การพัฒนาการท่องเที่ยวรอบใหม่ของเมืองหาดใหญ่ เป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากเราไม่สามารถพึ่งพารูปแบบเดิมอย่างเดียวได้ นอกจากนี้การพัฒนาสาธารณูปโภคก็ต้องออกแบบรองรับกลุ่มกำลังซื้อเจนใหม่จาก จีน และมาเลเซียด้วย

ขณะที่นายชัยวัฒน์ ประยงค์มรกต อดีตประธาน YEC สงขลา และ นายดลภัทร มณีแสง นักธุรกิจอสังริมทรัพย์ แสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า คนรุ่นเก่าไม่รับความรู้  ไม่เปิดโอกาสให้รุ่นใหม่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ควรหาโมเดลธุรกิจใหม่ให้หาดใหญ่ เป็นเมืองท่องเที่ยวปลอดภาษี เพื่อให้การท่องเที่ยวของภาคใต้มีความเจริญอย่างยั่งยืน จากหลากหลายจุดแข็งที่ จ.สงขลามี 

สำหรับ จ.สงขลา มีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) กว่า 2.5 แสนล้านบาท และมีมูลค่าการซื้อขายชายแดนปีละ 6 แสนล้านบาท  นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เข้าจังหวัดถึงกว่า 40% ของ GPP ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ - ทะเลสาป น้ำตก ภูเขา, แหล่งท่องเที่ยวเขิงสร้างสรรค์ - ธุรกิจใหม่ในหาดใหญ่, แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม - เมืองเก่า สงขลา สิงหนคร และแหล่งท่องเที่ยว Food Destination นอกจากนี้ยังเริ่มมีการค้ายุคใหม่  E-Commerce New Products to sell กำลังเริ่มเติบโตและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว