“ซ่อม-สร้าง” รัฐสภา 2 หมื่นล้าน สัญญาและค่าโง่ ไม่รู้จบ ?

“ซ่อม-สร้าง” รัฐสภา 2 หมื่นล้าน   สัญญาและค่าโง่ ไม่รู้จบ ?

8ปีผ่านไป "สัปปายะสภาสถาน" ซึ่งเป็นอาคารรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ยามนี้ "ซ่อมไป -สร้างไป" ยังคงเผชิญคำถามถึงประสิทธิภาพกับความคุ้มค่าของงบที่เสียไปกว่า2หมื่นล้าน เปรียบเสมือนค่าโง่ ที่ไม่รู้จบ

“สัปปายะสภาสถาน” หรือ อาคารรัฐสภา แลนด์มาร์คแห่งใหม่ ตั้งตระหง่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยามนี้กำลังถูกตั้งคำถามอีกระลอกถึงประสิทธิภาพเชิงโครงสร้าง ในการใช้งานบวกความคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปนับ 2 หมื่นล้าน ท่ามกลางความไม่ชอบมาพากลในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ล่าสุด เป็นกรณี วิลาศ จันทร์พิทักษ์ และ วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่งานสารบรรณถึงนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบ เสาไฟฟ้านอกอาคาร 97 ต้น การใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาของผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เนื่องจากขณะนี้การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

3  เงื่อนปมใหม่เพิ่มเติมที่ "วิลาศ" อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (นายอนันต์ ผลอำนวย เป็นประธาน) ตั้งข้อสงสัย 

1. มีการติดตั้งเสาไฟ L03 ช่วงต้นปี ตั้งแต่ ม.ค.-ก.พ.2564 จริงหรือไม่ กระบวนการติดตั้งถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ เพราะมีข้อสงสัยว่าเป็นเสาเหล็กจริง หรือเสาที่ใช้แผ่นเหล็กม้วนแล้วเชื่อมเป็นรูปเสา

2.ไฟฟ้าที่ต่อจากมิเตอร์ชั่วคราวไม่สามารถใช้กับเครื่องจักรที่ใช้ไฟจำนวนมาก ต้องใช้ไฟของรัฐสภาใช่หรือไม่ ถ้าเป็นจริง มีการคิดค่าไฟตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 หรือไม่ อย่างไร

3.ค่าทดสอบระบบไฟรวม ที่ต้องทดลองเปิดใช้อุปกรณ์ทุกชนิดที่เกี่ยวกับไฟเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ได้มีการคิดค่าใช้จ่ายแล้วหรือไม่อย่างไร เพราะขณะนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 3 ปีแล้ว มีการเจรจาจ่ายเงิน หรือชำระแล้วหรือไม่ ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้วหรือไม่ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดหรือยัง

อ่านข่าว : "วิลาศ"ปูดอีกรัฐสภา2หมื่นล้าน น้ำรั่วห้องประชุมสุริยัน

“ซ่อม-สร้าง” รัฐสภา 2 หมื่นล้าน   สัญญาและค่าโง่ ไม่รู้จบ ?

เหตุการณ์น้ำฝนรั่วจากเพดานห้องประชุมสุริยัน เมื่อวันที่ 14 ต.ค.64

ยังไม่นับรวมก่อนหน้านี้ที่ “วิลาศ” ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการรัฐสภา ขอให้ตรวจสอบไม้ปูพื้นโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปูพื้นไม้ว่า เป็น"ไม้ตะเคียนทอง"ทั้งหมด ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจริงหรือไม่ หรือเป็นไม้ตะเคียนทองผสมไม้ชนิดอื่นหรือไม่ ไม้มีขนาดความกว้าง และความหนาถูกต้องตามแบบหรือไม่

ขณะเดียวกันวิลาศ ยังยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสภาฯ อีก 1 ฉบับ ให้ตรวจสอบ"หินทราโวทีน"นอกจริงหรือไม่ โดยสามารถตรวจจากใบกำกับภาษีการนำเข้าสินค้าจากกรมศุลกากร ทั้งนี้เพราะจากการเอาเศษหินที่บริเวณก่อสร้างให้นักธรณีดู มีข้อสงสัยว่าอาจเป็นหินอ่อนสุโขทัย แต่มีบางคนบอกว่า เป็น"หินแกรนิตสีชมพู" ซึ่งพบที่ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์

ทั้งนี้ ขอให้นำนักธรณีวิทยามาตรวจสอบข้อเท็จจริง และตามแบบในสัญญาหินทราโวทีนนอกมีขนาด 50 x 100 ซม. หนา 25 ม.ม. เห็นว่าการเปลี่ยนแบบ โดยลดความหนาลงเหลือหนา 20 ม.ม. จะทำให้การรับน้ำหนัก และความคงทนลดลงมาก เพราะมีขนาดใหญ่พิเศษ และหากมีการชำรุดหรือแตกในอนาคตจะหาวัสดุมาทดแทนยากลำบาก

“ซ่อม-สร้าง” รัฐสภา 2 หมื่นล้าน   สัญญาและค่าโง่ ไม่รู้จบ ?

เหตุการณ์น้ำฝนรั่วจากเพดานห้องประชุมสุริยัน เมื่อวันที่ 14 ต.ค.64

อีกทั้งยังพบข้อมูล ที่กรมทรัพยากรธรณีให้ข้อมูลว่า หินความหนา 20 ม.ม. และ 25 ม.ม.ราคาต่างกันเกือบเท่าตัว ทั้งนี้เพราะชนิดความหนา 25 ม.ม.เป็นความหนาพิเศษราคาจึงสูง และถ้ามีการแก้ไขสัญญาจริง

มีคำถามว่า หากเป็นไปตามข้อมูลที่ “วิลาศ” นำมากล่าวอ้าง แล้วส่วนต่างที่หายไปอยู่ตรงไหน

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ยังคงเป็นคำถามที่รอการตรวจสอบจากทางฝั่งสภาฯ ที่ยามนี้ยังคงนิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว

ทว่า ผ่านมากว่า 8 ปีเศษ งบประมาณก่อสร้างที่มากกว่า 20,000 ล้านบาท จากเดิมที่บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับเหมาหลักจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และส่งมอบพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2563 เอาเข้าจริงจนถึงเวลานี้ภาพรวมการก่อสร้างยังพบว่ามีการปรับปรุงซ่อมแซม เก็บงานในส่วนของโครงสร้าง

“ซ่อม-สร้าง” รัฐสภา 2 หมื่นล้าน   สัญญาและค่าโง่ ไม่รู้จบ ?

เหตุการณ์น้ำฝนรั่วจากเพดานห้องประชุมสุริยัน เมื่อวันที่ 14 ต.ค.64

 

หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีมติไม่ขยายสัญญาการก่อสร้างครั้งที่ 5 ให้แก่ บริษัทซิโน-ไทยฯ พร้อมเรียกค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ล่วงเลยมากว่า 10 เดือน คำถามคือ สภาได้รับค่าปรับที่เป็นจำนวนเงินจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่ตัวเลขแล้วหรือไม่

จนถึงขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องยังไม่มีใครบอกได้ว่า จะปิดงานงวดสุดท้าย เพื่อส่งมอบงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งนี้ซึ่งเป็นอาคารรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นอาคารของรัฐที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากอาคารเดอะเพนตากอนในสหรัฐ ว่าจะเสร็จสิ้นเต็มรูปแบบได้เมื่อไร

รัฐสภาแห่งใหม่ ที่ซ่อมไป สร้างไป จนดูเหมือนสัญญารอบที่ 5 จะยังไม่สิ้นสุดง่ายๆ แม้จะมีหลายฝ่ายจี้ให้ตรวจสอบ แต่ประเด็นเหล่านี้ดูเหมือนจะไร้คำตอบ

ในเมื่อสัญญาและค่าโง่ ยังไม่จบ!